OBELS Newsletter Volume 4 Issue 1 2016

OBELS Newsletter ฉบับนี้เป็นการนำเสนอข่าวและงานวิจัยของทางสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559

 

การร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ “FDI Efficiency towards Regional Value Chain”

ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา อาจารย์ประจำสาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักวิชาการจัดการ และนักวิจัยอาวุโสสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “FDI Efficiency towards Regional Value Chain: Comparative Analysis between Intra- and Extra-ASEAN FDI” ในที่ประชุม The 10th Inha-Le Harve International Conference: International trade, capital flows and Economic development ณ Inha University, Incheon, Korea

1

 

งานสัมมนา OBELS Outlook 2016 “มิติใหม่เศรษฐกิจชายแดนในยุคดิจิตอล”

ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ทางสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (OBELS) ได้มีการจัดงานสัมมนาประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่เศรษฐกิจชายแดนในยุคดิจิทัล: โอกาสและความท้าทาย” ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่ทางสำนักงานฯ ได้มีการจัดขึ้นทุกปี ในปีนี้ได้มีการเปิดตัวหนังสือ “OBELS Outlook 2016” เป็นหนังสือรวบรวมงานวิจัยที่ทำมาตลอดทั้งปี 2559 และหนังสือ “ดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อมเศรษฐสังคมชายแดน (Border Environmental Socio-Economic Index : BESE Index)” เป็นโครงการวิจัยภายนอกที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สกอ.) ตลอดจนได้เชิญอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญมาเข้าร่วมบรรยายในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบททางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล โดยมีผศ.ดร.ณัฐพรพรรณ อุตมา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สำนักวิชาการจัดการ และนักวิจัยโอเบลส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยงานสัมมนาได้รับความสนใจอย่างมากจากบุคคลภายนอก หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และนักศึกษา โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์หวังว่าจะได้รับเกรียติในการจัดงานสัมมนาที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ ธุรกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน และจังหวัดเชียงรายต่อไปในอนาคต

3

 

OBELS นำทีมนศ.เศรษฐศาสตร์ดูงาน Oon IT Valley

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 อาจารย์วราวุฒิ เรือนคำ อาจารย์ประจำสาขาเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยประจำสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ พร้อมคณะวิจัย นำทีมนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ลงศึกษาดูงานที่ Oon IT Valley (OV) ณ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยศูนย์ OV พยายามที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์เพื่อวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ตลอดจนเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นกิจการที่ทำเพื่อสังคม (Social Enterprise) เนื่องจากให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และเกษตรกรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งให้พื้นที่สำหรับจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ในบริเวณโครงการ ทั้งนี้ นักศึกษาได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จากคุณอภินันท์ ศิริโยธิพันธุ์ ประธานบริหารโครงการ และคุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ เจ้าของโครงการ ในด้านของแนวทางการพัฒนาด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ IT พร้อมมุมมองในการบรรลุ และวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินชีวิต

4

 

นวัตกรรมการพัฒนาเมืองเวียงแก่น

เวียงแก่นเป็นหนึ่งในอำเภอชายแดนของจังหวัดเชียงราย ที่ถูกจัดว่าเป็นอำเภอที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการค้าชายแดน เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา และแม่น้ำ เหมาะแก่การเพาะปลูกสินค้าเกษตร อีกทั้งมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองห้วยทราย และห้วยปากทา แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงทำให้อำเภอเวียงแก่นมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว การค้าชายแดน และพืชพักผลไม้ เป็นไปตามคำขวัญของอำเภอ “เจ้าหลวงเวียงแก่น ชายแดนไทยลาว น้ำงาวพราวใส ผาไดเด่นดัง ผาตั้งเด่นนาน ส้มโอหวานทองดี”

ข้อมูลทั่วไปอำเภอเวียงแก่น ประกอบด้วย 4 ตำบล ได้แก่ 1) ตำบลม่วงยาย 2) ตำบลปอ 3) ตำบลหล่ายงาว และ 4) ตำบลท่าข้าม มีประชากรประมาณ 32,000 คน ประกอบด้วย 9 ชนเผ่า และมีจุดผ่อนปรนการค้า 2 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนบ้านแจ่มป่อง และจุดผ่อนปรนบ้านห้วยลึก เพื่อให้ประชาชนบริเวณชายแดนสามารถติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยน ผลผลิตของตนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจุดผ่อนปรนบ้านแจ่มป่อง เป็นจุดผ่อนปรนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยประชากรลาว จากเมืองห้วยทรายและเมืองปากทา จะข้ามฝั่งเพื่อมาซื้อสินค้าจากจุดผ่อนปรนทุกวันพุธ ประมาณ 1,000 กว่าคน โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม :

นวัตกรรมการพัฒนาเมืองเวียงแก่น

 

การศึกษาสถานการณ์แรงงานเมียนมาในปัจจุบัน กรณีศึกษา : จังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสปป.ลาวและเมียนมา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากอพยพเข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านทางจังหวัดเชียงรายเข้าไปสู่เมืองสำคัญ อย่างเช่น เชียงใหม่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบางส่วนทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นแรงงานหลักที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของไทยทั้งการก่อสร้าง การแปรรูปอาหาร และการประมง เป็นต้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง 10 ประเทศ ความตั้งใจโดยแรกเริ่ม AEC จะต้องเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 เดือนมกราคม 2550 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เกิดข้อตกลงใหม่ให้เลื่อนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยมีเป้าหมายหลักที่อ้างอิงตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Concord II) คือ การเป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียว โดยอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือใน 7 สาขาวิชาชีพหลักอย่างอิสระ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและแก้ปัญหาความยากจนในหลายประเทศ (กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, 2558)

โดยหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ได้จัดเตรียมแผนการพัฒนาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายการเชื่อมโยงด้านการค้าและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น โดยการจัดตั้งแบ่งออกเป็นสองระยะด้วยกัน ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ต่อมาได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่สองเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่  เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพทั้งในด้านการค้า การขนส่ง และภูมิศาสตร์ คือ การมีขอบเขตชายแดนเชื่อมต่อกับสปป.ลาว เมียนมา รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม: 

การศึกษาสถานการณ์แรงงานเมียนมาในปัจจุบัน กรณีศึกษา : จังหวัดเชียงราย

 

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย

ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้ประกาศให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 10 พื้นที่ โดยทำการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 5 พื้นที่ ได้แก่ ตราด ตาก มุกดาหาร สระแก้ว และสงขลา  และระยะที่ 2 ประกอบด้วย หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี รวมพื้นที่กว่า 6,220 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.87 พันไร่ ซึ่งพื้นที่ต่างๆที่อยู่ในแผนการพัฒนาจะได้รับทั้งสิทธิประโยชน์จากหลากหลายหน่วยงานในหลากหลายด้าน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) กรมสรรพากร ด่านศุลกากร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Export-Import Bank of Thailand : EXIM Bank) เป็นต้น ที่ให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ และการขยายกิจการในระยะยาว (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559)

โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีกลยุทธ์ 4 ประการ ได้แก่ 1. การสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 2. การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 3. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลาง และ 4. จัดระเบียบพื้นที่ชายแดน (กรมประชาสัมพันธ์, 2558) ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการเคลื่อนย้ายสินค้าและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม: 

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย

 

ความเหมาะสมของราคาที่ดินในพื้นที่ชายแดนภายใต้การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 

ในทางกฏหมาย ประเทศไทยได้ใช้เกณฑ์ในการชี้วัดความเป็นเมืองผ่านการพิจารณาความหนาแน่นของประชากรเป็นหลัก โดยพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงถูกตีความได้ว่าเป็น “เขตพื้นที่ในเมือง” ส่วนพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำถูกตีความให้เป็น “เขตพื้นที่นอกเมืองหรือเขตชนบท” แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ความเป็นเมืองบ่มเพาะมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจชนบท ซึ่งมีการกระจายตัวของประชากรที่เบาบาง และค่อนข้างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง และมีความชำนาญงานเฉพาะอย่างในการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนมีระดับของเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการสูง

กล่าวคือ จำนวนและความหนาแน่นของประชากรเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมือง โดยทั่วไป บริเวณที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ มีการกระจุกตัวของประชากรสูง หรือมีความเป็นเมืองสูงมักเป็นเมืองท่า หรือเมืองหลวง ตัวอย่างเช่น ศูนย์กลางการธุรกิจของประเทศไทย ที่มีการกระจุกตัวของประชากรมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ เล็กลงมาในระดับจังหวัดความเป็นเมืองตัวอำเภอเมือง แต่บางจังหวัดอาจมีบริเวณที่มีความเป็นเมืองมากกว่าหนึ่งพื้นที่ หรือมากกว่าแค่อยู่บริเวณอำเภอเมือง เช่น จังหวัดที่มีอาณาบริเวณติดกับทะเล จังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศข้างเคียง และจังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดน ทำให้การขยายตัวของเมืองของแต่ละพื้นที่มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป จากการศึกษาแนวคิดและทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองในรูปแบบแตกต่างกัน เกิดจากอิทธิพลด้านการคมนาคม และศูนย์รวมของกิจกรรม

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม:  

ความเหมาะสมของราคาที่ดินในพื้นที่ชายแดนภายใต้การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

 

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย

เชียงรายเป็นพื้นทีที่มีโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศ และสามารถเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ ทำให้เหมาะสมแก่การเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้า สามารถการกระจายสินค้าได้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในทั้ง 3 อำเภอที่ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่สาย นอกจากนี้ จังหวัดเชียงรายยังมีจุดเด่นในด้านของภาคบริการ ทั้งในด้านของค้าปลีกค้าส่ง และการท่องเที่ยว โดยในการศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายในภาคเศรษฐกิจต่างๆที่มีความสำคัญ

จากการวิเคราะห์พบว่า มีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกิจกรรมการผลิตเดียวที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเชียงราย เป็นเพราะจังหวัดยังไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาลงเยอะ ทั้งนี้ สภาพพื้นที่ผังเมืองของจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับประชาชนในจังหวัดเชียงรายยังประกอบอาชีพเกษตรแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถขยับการผลิตไปในด้านของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต โดยเชียงรายมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความพร้อมสำหรับการนำแปรรูป สร้างแบรนด์ และทำการตลาด

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม:   

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย

 

ATIGA and its implication on the cross-border trade

The ASEAN Free Trade Area (AFTA) was signed in 1992 and the Common Effective Preferential Tariff Scheme (CEPT) was initiated in 1993. The Protocol to Amend the Agreement on CEPT-AFTA for the Elimination of Import Duties was adopted in 2003 followed by the entry force of the ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) in 2010. In the latter, the ATIGA rates will apply instead of CEPT. For the ASEAN-6 (Brunei, Indonesia, the Philippines, Malaysia, Singapore and Thailand), 99.2% of tariff lines indicate ATIGA tariff rate (or CEPT rate) of 0%  in 2014, while 90.8% of tariff lines of Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Vietnam (CLMV) show ATIGA rate of 0%  in 2015. In average, the share of ATIGA 0% tariff lines across ASEAN Member States (AMS) has reached 96.0% by 2015. In addtion, CLMV has flexibility rules for extending tariff elimination for some sensitive products up to 7% of tariff lines until 2018.

The ‘wholly obtained or produced goods’ in AMS receives benefit of tariff reduction under ATIGA. However, ‘not wholly obtained or produced goods’, exporters and manufacturers have the option to apply either the regional value content (RVC) criterion or the change in tariff classification (CTC) criterion to gain benefits under ATIGA.

 

See full version: 

ATIGA and its implication on the cross-border trade

 

ปัจจัยเชิงสถาบันกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรวมถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตจากการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเพิ่มศักยภาพแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าทางการผลิต ที่ผ่านมาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมักอยู่ในรูปแบบของการลงทุนเพื่อเข้าถึงทรัพยากรผลิต (Resource-seeking FDI) การลงทุนเพื่อแสวงหาประสิทธิภาพการผลิต (Efficiency-seeking FDI) การลงทุนเพื่อแสวงหาสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Strategic asset-seeking FDI) การลงทุนเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ (Market-seeking FDI) และ การลงทุนเพื่อแสวงหาฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น (Export-platform FDI) เป็นสำคัญ

และแม้ว่านักลงทุนจากต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย กลับไม่พบการลงทุนจากต่างประเทศในรูปแบบของการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี (Technology-seeking FDI) ในประเทศไทยแต่อย่างใด ฉะนั้น หากประเทศไทยต้องการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแล้วนั้น จำเป็นต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven)

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม:   

ปัจจัยเชิงสถาบันกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย

 

ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อการค้าการลงทุนไทย

การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการนำเข้า-ส่งออก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนในการลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญเพราะประเทศต่างๆในโลกมีระบบเงินตราที่แตกต่างกัน จึงทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะหากไม่ทราบอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างระหว่างประเทศจะทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบราคาระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้การที่ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าหรือแข็งค่านั้นจะมีผลต่อการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate) คือ ราคาของหน่วยหนึ่งของเงินตราต่างประเทศเมื่อคิดเป็นเงินตราในประเทศ

การค้าของไทยกับจีนในช่วงแรกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่ได้เปิดเสรีทางการค้ามากนัก การค้าระหว่างประเทศในสมัยเหมาเจ๋อตุงเป็นเพียงส่วนเสริมของระบบเศรษฐกิจ คือการนำผลผลิตที่เหลือส่งออกและนำเข้าผลผลิตที่ไม่เพียงพอเท่านั้น แต่หลังยุคเหมาเจ๋อตุงถือว่าการค้าระหว่างประเทศนั้นมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หลักฐานที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอันดับแรกๆ ได้แก่ การลดการควบคุมสินค้าเข้า-ออก การจัดตั้งกลไกนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก การจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมสินค้าออก การที่รัฐเลิกผูกขาดธุรกิจการค้าต่างประเทศ การเปิดการค้าเสรีตามชายแดนขยายมากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศให้ไปผลิตสินค้าในจีน

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม: 

ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อการค้าการลงทุนไทย

 

ความสัมพันธ์ของการขยายตัวของการค้าชายแดนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย

การค้าชายแดนเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงแล้วการค้าชายแดนเป็นการค้าระดับเล็กที่เป็นรูปแบบของการค้าภายในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านของฝั่งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หากแต่ปัจจุบันการค้าชายแดนถูกมองในมุมที่กว้างขวางมากขึ้น จากที่เคยเน้นในการส่งออก และนำเข้าสินค้ากับประเทศที่มีแนวชายแดนเชื่อมต่อกัน เริ่มที่จะเชื่อมโยงไปยังการค้ากับประเทศที่สาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุน แรงงาน สินค้า และทรัพยากรระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานบนระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางบก และทำให้เกิดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมืออื่นที่มีความสำคัญ ได้แก่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น

 

สามารถอ่านฉบับเต็ม: 

ความสัมพันธ์ของการขยายตัวของค้าชายแดนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย

Share via
Copy link
Powered by Social Snap