ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อการค้าการลงทุนไทย

การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการนำเข้า-ส่งออก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนในการลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญเพราะประเทศต่างๆในโลกมีระบบเงินตราที่แตกต่างกัน จึงทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะหากไม่ทราบอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างระหว่างประเทศจะทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบราคาระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้การที่ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าหรือแข็งค่านั้นจะมีผลต่อการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate) คือ ราคาของหน่วยหนึ่งของเงินตราต่างประเทศเมื่อคิดเป็นเงินตราในประเทศ

การค้าของไทยกับจีนในช่วงแรกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่ได้เปิดเสรีทางการค้ามากนัก การค้าระหว่างประเทศในสมัยเหมาเจ๋อตุงเป็นเพียงส่วนเสริมของระบบเศรษฐกิจ คือการนำผลผลิตที่เหลือส่งออกและนำเข้าผลผลิตที่ไม่เพียงพอเท่านั้น แต่หลังยุคเหมาเจ๋อตุงถือว่าการค้าระหว่างประเทศนั้นมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หลักฐานที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอันดับแรกๆ คือ

  • การลดการควบคุมสินค้าเข้า-ออก โดยการลดหรือยกเลิกรายการสินค้าต้องห้าม รายการสินค้าโควตา กำแพงภาษีศุลกากร
  • การจัดตั้งกลไกนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมสินค้าออก
  • การที่รัฐเลิกผูกขาดธุรกิจการค้าต่างประเทศ
  • การเปิดการค้าเสรีตามชายแดนขยายมากขึ้น และ
  • การส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศให้ไปผลิตสินค้าในจีน เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทต่างๆ เพื่อการส่งออกเป็นต้น

และด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆในโลก ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรีและสะดวกรวดเร็ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นโยบายในแต่ละประเทศสนับสนุนการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ และการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) เพื่อเอื้อประโยชน์และพึ่งพากันระหว่างประเทศคู่ค้า เป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี พ.ศ.2544 ทำให้อุปสรรคทางการค้าของจีนกับประเทศต่างๆ ลดลงอย่างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นจีนได้ที่จะพยายามขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคและประเทศต่างๆ และในปี พ.ศ.2546 จีนกับอาเซียนได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Asean-China  Free  Trade  Agreement : ACFTA) เพื่อลดภาษีการค้าระหว่างประเทศและได้มีการยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนมีการขยายตัวสูงที่สุดในปี พ.ศ.2551 ซึ่งอัตราการเติบโตสะสม (Compound Average Growth Rate: CAGR) ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนเติบโตร้อยละ 210.89 (ดังรูปที่ 1) ก่อนประสบวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ในปี พ.ศ.2552 หลังจากผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโลกมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนเพิ่มสูงขึ้นจนกระทั้งแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณรูปภาพจาก econnews

Share via
Copy link
Powered by Social Snap