ความสัมพันธ์ของการขยายตัวของค้าชายแดนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย
การค้าชายแดนเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงแล้วการค้าชายแดนเป็นการค้าระดับเล็กที่เป็นรูปแบบของการค้าภายในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านของฝั่งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หากแต่ปัจจุบันการค้าชายแดนถูกมองในมุมที่กว้างขวางมากขึ้น จากที่เคยเน้นในการส่งออก และนำเข้าสินค้ากับประเทศที่มีแนวชายแดนเชื่อมต่อกัน เริ่มที่จะเชื่อมโยงไปยังการค้ากับประเทศที่สาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุน แรงงาน สินค้า และทรัพยากรระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานบนระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางบก และทำให้เกิดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมืออื่นที่มีความสำคัญ ได้แก่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น
จากความสำคัญของการค้าชายแดน ทำให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ชายแดน ในวันที่ 19 มิถุนายน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และทำการประกาศพื้นที่ในการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยแบ่งพื้นที่ในการพัฒนาออกเป็นสองระยะ 2557 ระยะที่ 1 ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด ระยะที่ 2 ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจมีจุดประสงค์หลักในการกระจายการพัฒนาให้ลงไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยการอาศัยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน แต่พยายามที่จะเชื่อมโยงด้านต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้เกิดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่สาม เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค และพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าระดับโลก ฉะนั้น รัฐบาลต้องการที่จะให้เขตเศรษฐกิจช่วยดึงดูดการลงทุนจากภายนอก และกระตุ้นการลงทุนจากภายใน โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ทั้งการลดหย่อน และยกเว้นภาษีเครื่องจักร ภาษีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติแบบถูกกฎหมาย เพื่อมาส่งเสริมให้เกิดการค้าชายแดน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุนการค้าชายแดน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจได้ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามเป้าประสงค์ของการพัฒนาจริงหรือไม่
งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมีจุดประสงค์เพื่อที่จะศึกษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาคจากการขยายตัวของการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย เพื่อตอบคำถามของประสิทธิภาพของการออกนโยบายในการพัฒนาผ่านการส่งเสริมการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2556 และการค้าชายแดนทั้ง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่สาย ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2558 ส่วนที่ 3 คือ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการขยายตัวของการค้าชายแดนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายด้วยผ่านการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และผลการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจมิติเพื่อทดสอบความเป็นเหตุเป็นผลของตัวแปรตามและตัวแปรอิสระในแบบจำลองที่เรียกว่า การทดสอบ Granger Causality ส่วนสุดท้ายคือ การให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย
ขอบคุณรูปจาก pantip.com