การศึกษาสถานการณ์แรงงานเมียนมาในปัจจุบัน กรณีศึกษา : จังหวัดเชียงราย

no11

จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสปป.ลาวและเมียนมา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากอพยพเข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านทางจังหวัดเชียงรายเข้าไปสู่เมืองสำคัญ อย่างเช่น เชียงใหม่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบางส่วนทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นแรงงานหลักที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของไทยทั้งการก่อสร้าง การแปรรูปอาหาร และการประมง เป็นต้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง 10 ประเทศ ความตั้งใจโดยแรกเริ่ม AEC จะต้องเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 เดือนมกราคม 2550 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เกิดข้อตกลงใหม่ให้เลื่อนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยมีเป้าหมายหลักที่อ้างอิงตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Concord II) คือ การเป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียว โดยอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือใน 7 สาขาวิชาชีพหลักอย่างอิสระ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและแก้ปัญหาความยากจนในหลายประเทศ (กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, 2558) โดยหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ได้จัดเตรียมแผนการพัฒนาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายการเชื่อมโยงด้านการค้าและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น โดยการจัดตั้งแบ่งออกเป็นสองระยะด้วยกัน ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ต่อมาได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่สองเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่  เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพทั้งในด้านการค้า การขนส่ง และภูมิศาสตร์ คือ การมีขอบเขตชายแดนเชื่อมต่อกับสปป.ลาว เมียนมา รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงของจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเชียงรายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

ขอบคุณรูปภาพจาก tmdc2009

Share via
Copy link
Powered by Social Snap