เชียงรายกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษา

New-feed-banner2

 

อะไรคือความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา?

ปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสามารถมองออกได้หลากหลายประเด็น ทั้งในด้านของโอกาสในการเรียน ความคุณภาพทางการศึกษา หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ตาม ทำให้การศึกษาลักษณะของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องมีการกรอบที่ชัดเจนอย่างมาก โดยหากมองลึกลงไปในด้านของความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า ‘คะแนนสอบ’ อย่างไรก็ตามคะแนนสอบในแต่ละโรงเรียน ย่อมมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดในสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อสอบมาตรฐาน’ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งข้อสอบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ PISA ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ โครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ เป็นการประเมินทักษะทางปัญญา (Cognitive skills) ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จัดการประเมินโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ในทุก 3 ปี สำหรับเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป จากโรงเรียนทุกสังกัด

ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2543 จนปัจจุบันกำลังรอการประเมินในปี 2561 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจากที่เริ่มต้นในปี 2543 มีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมเพียงแค่ 179 โรงเรียน และนักเรียน 5,340 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 273 โรงเรียน และนักเรียน 8,249 คน ในปี 2558 ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการประเมินล่าสุดในปี 2015 พบว่าคะแนนเฉลี่ย PISA ของไทยในด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยด้านการอ่านคะแนนลดลงจาก 441 มาอยู่ที่ 409 และด้านวิทยาศาสตร์ลดลงจาก 444 มาอยู่ที่ 421 ขณะที่คณิตศาสตร์คะแนนก็ปรับลดลงจาก 427 มาอยู่ที่ 415 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ ในภาพรวมประเทศไทยคะแนน PISA ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กลุ่มที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่เฉพาะในกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ กลุ่มคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตเพียงเท่านั้น ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม

PISA เป็นเพียงแค่การสุ่มประเมินในแต่ละโรงเรียน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้รับการประเมินนานาชาติดังกล่าว ฉะนั้น ข้อสอบมาตรฐานที่ควรนำมาพิจารณาที่สุดจึงกลายเป็น O-NET (Ordinary National Education Test) ที่มีการสอบทุกปีในระดับชั้นประถมการศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6

 

การศึกษาของจังหวัดเชียงรายมีความเหลื่อมล้ำหรือไม่?

ในระดับของมัธยมศึกษา เชียงรายมีโรงเรียนทั้งหมด 41 โรงเรียน โดยมีการกระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมืองส่วนใหญ่ รองมาได้แก่ พาน เชียงของ พญาเม็งราย และอื่นๆ หากจำแนกตามขนาดของโรงเรียนพบว่ามีโรงเรียนขนาดกลาง(นักเรียนมากกว่า 301 – 1,000 คน) เยอะที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.3 รองมาได้ขนาดเล็ก (นักเรียนน้อยกว่า 300 คน) คิดเป็นร้อยละ 31.7 ขนาดใหญ่พิเศษ (นักเรียนมากกว่า 2,000 คน) ร้อยละ 12.2 ขนาดใหญ่ (นักเรียนมากกว่า 1,001 – 2,000 คน) ร้อยละ 9.8% พบว่าว่าเชียงรายมีจำนวนของโรงเรียนขนาดเล็กค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอที่ห่างไกลจากตัวเมือง อาทิ อำเภอเชียงแสน พญาเม็งราย พาน ขุนตาล เป็นต้น

ขณะที่ ในปี 2558 คะแนนเฉลี่ย O-NET ของจังหวัดในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ที่ 32.94 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีคะแนนอยู่ที่ 34.80 เห็นได้ว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศ และเชียงรายในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการเพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน โดยที่คะแนนเฉลี่ยเชียงรายตั้งแต่ปี 2554 – 2558 ยังไม่เคยแตะหรือสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศ ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 เปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ย O-NET ระหว่างจังหวัดเชียงรายและประเทศ
Picture1

ที่มา: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 (2558)

ทำให้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าชองประเทศถึง 14 โรงเรียนในปี 2558 มากกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีเพียงแค่ 5 โรงเรียน โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุดของเชียงราย 3 อันดับ ทั้งในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 ตกเป็นของโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สามัคคีวิทยาคม และดำรงราษฎร์สงเคราะห์ เพื่อที่จะพิจารณาถึงความถ่างกว้างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผู้วิจัยจึงได้ทำการหาค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งโดยปกติจะใช้สำหรับการวัดการกระจายรายได้ เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงกลายเป็นการวัดการกระจายของผลสัมฤทธิ์ หรือผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย

ในปี 2558 ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของคะแนนเฉลี่ย O-NET ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ที่ 0.034 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ที่ 0.032 โดยปกติแล้วค่าสัมประสิทธิ์จีนีจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ซึ่งหากเท่ากับหรือเข้าใกล้ 0 หมายความว่า มีการกระจายตัวของข้อมูลอย่างเท่าเทียม และเข้าใกล้หรือเท่ากับ 1 หมายความว่า มีการกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียม หรือมีความเหลื่อมล้ำของข้อมูลสถิติ ฉะนั้น ค่าสัมประสิทธิ์ของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหรือ O-NET จังหวัดเชียงรายในทั้ง 2 ระดับชั้น มีการเข้าใกล้ 0 แสดงถึงการกระจายตัวอย่างเท่าเทียม หรือกล่าวได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาน้อยมาก เนื่องจาก โรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ย O-NET สูงสุดในจังหวัดเชียงราย มากกว่า โรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าสุดในจังหวัดเชียงรายในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 เพียงแค่ 2 เท่า และ 1.73 เท่า ตามลำดับ ฉะนั้น เส้น Lorenz curve จึงเข้าใกล้กับเส้นความเท่าเทียม (equality) อย่างมาก ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 สัมประสิทธิ์จีนีของคะแนนเฉลี่ย O-NET ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

Picture2

ที่มา: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 (2558)

 

ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ?

ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นในด้านของโรงเรียน ตัวนักเรียน และครอบครัว หรือแม้กระทั่งการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาของหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดย นณริฏ พิศลยบุตร (2558) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากที่สุด คือ โรงเรียนกว่าร้อยละ 47 ครอบครัวร้อยละ 42 และตัวนักเรียนเองเพียงแค่ร้อยละ 9 ขณะที่งานของ Ahuja, Chucherd และ Pootrakool (2006) ที่ถูกอ้างถึงในหนังสือของงานแบ๊งค์ งามอรุณโชติ และถิรภาพ ฟักทอง (2555) ก็ได้เสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในทั้ง 3 ด้านเช่นเดียวกัน โดยในด้านของ ‘โรงเรียน’ จะพิจารณาจากขนาด จำนวนครูต่อนักเรียน คุณภาพครู ทรัพยากรทางกายภาพ เป็นต้น ด้านของ ‘ตัวนักเรียน’ จะพิจารณาจากเพศ จำนวนชั่วโมงในทบทวบบทเรียน ทำการบ้าน และการเข้าห้องสมุด ตลอดจนประสบการณ์ในการเรียนซ้ำชั้น หรือการเรียนอนุบาล การมีเพื่อนที่เก่งในกลุ่มรายวิชาหลัก และทัศนคติต่อโรงเรียน/ห้องเรียน ส่วนในด้านสุดท้ายคือ ‘สถานะของครอบครัว’ ที่พิจารณาตั้งแต่วุฒิการศึกษา การทำงาน ขนาดครัวเรือน ทรัพยากรในบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อัมมาร สยามวาลา, ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ และสมเกรียติ ตั้วกิจวานิชย์ (2555) ได้เสนอเพิ่มเติมในด้านของปัจจัยด้านโรงเรียนในเรื่องของความอิสระในการบริหารจัดการหลักสูตร และงบประมาณ รวมถึงความรับผิดชอบของโรงเรียนในการเปิดเผยผลการเรียน ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม การผูกผลสัมฤทธิ์ในการประเมินครูใหญ่ และการติตตามผลจากหน่วยงานส่วนกลาง

นอกจากนี้ หนังสือของ Richard Wilkinson และ Kate Pickett (2555) ได้กล่าวว่าอิทธิพลที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากที่สุด คือ ภูมิหลังของครอบครัว โดยเด็กนักเรียนที่พ่อแม่มีรายได้ และวุฒิการศึกษาที่สูงกว่า ย่อมมีคะแนนสอบที่มากกว่า เนื่องจาก หากพ่อหรือแม่มีรายได้สูง แปลว่ามีเงินทุนในการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับลูกได้อย่างเต็มที่ และการศึกษาที่สูงก็ทำให้พวกเค้ารู้สึกอยากจะให้ลูกเจริญรอยตามเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม อิทธิพลของพื้นฐานทางครอบครัวขึ้นอยู่กับมาตรฐานทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ที่มีความลาดชันทางสังคม หรือความแตกต่างของชนชั้นทางรายได้ที่สูง อิทธิพลของปัจจัยด้านครอบครัวก็จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามาก แต่พื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ ปัจจัยด้านครอบครัวอาจไม่ส่งผลมาก คล้ายเคียงกันกับผลการศึกษาที่พบว่าประเทศที่มีสวัสดิการรัฐสูง ก็สามารถที่จะอุดช่องโหว่ของความแตกต่างทางชนชั้นและรายได้ได้เป็นอย่างดี เช่น การให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษา การให้สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น แม้ว่าครอบครัวจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์อย่างมาก แต่ในงานวิจัยของ ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (2555) พบว่า ทรัพยากรในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และสัดส่วนครูที่ได้รับประกาศนียบัตรก็มีผลต่อคะแนนสอบอย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้กับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว

รูปที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน O-NET เฉลี่ยระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 กับ สัดส่วนครูต่อนักเรียน

Picture1

ที่มา: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 (2558)

            จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านขนาดของโรงเรียนกับคะแนนผลสอบ O-NET เฉลี่ยในระดับชั้นมัธยมปีที่ 6 ของแต่ละโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายในเบื้องต้นดังรูปที่ 3 เห็นได้ว่าสัดส่วนครูต่อนักเรียนมีความสัมพันธ์เฃิงบวกต่อคะแนนสอบ O-NET อย่างชัดเจน โดยเฉพาะโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม และดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ที่ดูจะมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างมากในเชิงบวก หมายความว่า การที่จำนวนครูเปรียบเทียบกับจำนวนนักเรียนเยอะ ยิ่งส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่สูง ยกเว้นโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยที่ดูจะมีสัดส่วนครูต่อนักเรียนน้อยกว่าโรงเรียนอื่นในจังหวัดเชียงราย หรือมีนักเรียน 15 คน ต่อครู 1 คน กลับมีคะแนนสอบที่สูงกว่าทุกโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ฉะนั้นการมีครูในจำนวนที่เพียงพอต่อนักเรียนอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้นักเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี

รูปที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน O-NET เฉลี่ยระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 กับ จำนวนนักเรียน

pic3

ที่มา: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 (2558)

            ต่อมาผู้วิจัยได้หันมาดูความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของโรงเรียนต่อคะแนนสอบ O-NET โรงเรียน[1] จากรูปที่ 5 เห็นได้ว่าโรงเรียนที่มีขนาดของโรงเรียน หรือจำนวนนักเรียนมาก อาทิ สามัคคีวิทยาคม ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ แม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ เทิงวิทยาคม และแม่จันวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 2,000 คน จึงถูกจำแนกให้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนสอบ O-NET เฉลี่ยที่สูงกว่าโรงเรียนอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้เกิดกระจุกตัวของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยกเว้นในกรณีของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยอีกเช่นเดียวกัน ที่มีผลลัพธ์ทางการศึกษาสูง แม้กว่าจะขนาดโรงเรียนในระดับกลาง หรือมีจำนวนนักเรียนไม่เกินกว่า 1,000 คน แสดงว่าขนาดโรงเรียนอาจเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ดังนั้น ปัจจัยอะไรก็ตามที่ทำให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยผ่านข้อจำกัดต่างๆที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูง อาจเป็นหนทางการปฏิรูปการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและประเทศไทยในอนาคต หากการศึกษาไทยพยายามที่จะเน้นไปที่ผลลัพธ์ทางการศึกษามากกว่าการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิตของนักเรียน

 

นโยบายอะไรที่จะเข้ามาช่วยในการปฏิรูปการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ?

ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในจังหวัดเชียงรายจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังเห็นได้ชัดถึงความไม่เท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาในแต่ละโรงเรียน ที่บางโรงเรียนก็มีการก้าวกระโดดไปอยู่อีกระดับหนึ่ง นั้นแปลว่าการศึกษาในแต่ละโรงเรียนภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันอาจไม่ได้ความสำคัญกับทุกโรงเรียนในสัดส่วนที่เท่ากัน ทั้งในแง่ของการอุดหนุนเงินงบประมาณ และการจัดสรรทรัพยากรบุคลากรทางการศึกษา ทำให้สถานศึกษาในแต่ละแห่งความแตกต่าง เมื่อความแตกต่างทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ผู้ปกครองที่มีรายได้มากก็จำเป็นต้องส่งลูกของตนเองเข้าไปเรียนในสถานศึกษาที่ดีที่สุดที่อยู่ในตัวเมือง ส่วนผู้ปกครองที่มีรายได้ไม่เพียงพอก็มีความสามารถเพียงแค่โรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งคุณภาพการศึกษาไม่ได้เทียบเท่ากับสถานศึกษาในเมือง ยิ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

จากงานวิจัยของ นณริฏ พิศลยบุตร (2558) ที่ชี้เห็นว่าปัจจัยที่สร้างความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์แท้จริงมาจากปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนและปรับปรุงแก้ไขได้ เช่น ความแตกต่างของสถานศึกษา และลักษณะทางครอบครัว มากกว่าปัจจัยส่วนบุคคล ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาในด้านของปัจจัยด้านโรงเรียน ได้แก่ การขยายขนาดของโรงเรียนให้มีความเหมาะสม การเพิ่มกิจกรรมเสริมทักษะ และการเพิ่มสัดส่วนครูให้เพียงพอต่อนักเรียน ส่วนในด้านของการแก้ไขปัจจัยทางครอบครัว ได้แก่ การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง และการสนับสนุนให้เด็กอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง เช่นเดียวกันกับ Richard Wilkinson และ Kate Pickett. (2555) ที่กล่าวว่าปัจจัยครอบครัวเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสามารถทางวิชาการของเด็ก แต่รัฐควรเข้ามามีส่วนช่วย ขณะที่ อัมมาร สยามวาลา, ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ และสมเกรียติ ตั้วกิจวานิชย์ (2555) เชื่อว่าหากโรงเรียนควรมีกลไกความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน อาทิ การเปิดเผยผลการเรียน การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม การผูกผลสัมฤทธิ์กับการประเมินครูใหญ่ การให้หน่วยงานส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบ ตลอดจนควรมีอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณ และหลักสูตรด้วยตัวโรงเรียนเอง อย่างไรก็ตาม แบ๊งค์ งามอรุณโชติ และถิรภาพ ฟักทอง (2555) การกระจายอำนาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยโรงเรียนที่ขาดทรัพยากรและอยู่ห่างไกลไม่มีความสามารถที่จะบริหารจัดการด้วยตนเอง หรือกลุ่มครูหรือผู้บริหารสามารถที่จะแสวงหาประโยชน์จากอำนาจอิสระ ฉะนั้น ปัจจัยควบคุมที่ต้องเข้ามา คือ ผู้ปกครอง ต้องมามีส่วนรู้เห็นในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

นอกจากการลดช่องว่างของผลลัพธ์ทางการศึกษา การปฏิรูปข้อสอบมาตรฐานก็เป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงมาอย่างยาวนาน รัมยา วิเวกคะนานดาน โรดริเกซ (2556) ได้นำเสนอข้อเสนอแนะนโยบายในการปฏิรูปข้อสอบมาตรฐานว่า 1) ควรมีการเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร การสอนในห้องเรียน และการทดสอบประเมินผล 2) ควรมีการพัฒนาสมรรถนะอย่างต่อเนื่องให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 3) ควรทำให้ข้อสอบมาตรฐานไม่เป็นตัวตัดสินอนาคตสำหรับเด็ก หากแต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน 4) ควรประเมินเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในด้านของคุณภาพมากกว่าปริมาณ และ 5) ควรสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการทำงานกับต่างประเทศ

ข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อการปฏิรูปการศึกษามีอีกมากมาย และหลากหลายมิติ ซึ่งการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพควรที่จะอิงอยู่บนพื้นฐานหรือบริบทของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ หากแต่รัฐควรที่จะให้การศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับที่เท่าเทียมกันในทุกโรงเรียน ส่วนในด้านของการเสริมทักษะที่บกพร่อง ควรเป็นหน้าที่ของโรงเรียน และผู้ปกครองที่มีต้องร่วมกันในการทำงานเพื่อทำให้ผลลัพธ์ทางการศึกษาของนักเรียนมีประสิทธิผลมากขึ้น

พรพินันท์ ยี่รงค์


เอกสารอ้างอิง

Richard Wilkinson และ Kate Pickett. (2555). ความ (ไม่) เท่าเทียม = The Spirit Level : Why equality better for everyone. สำนักพิมพ์ openworlds.

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ และถิรภาพ ฟักทอง. (2555). สูง ต่ำ ไม่เท่ากัน ทำไมระบบการศึกษาจึงสร้างความเหลื่อมล้ำ. หนังสือชุดถมช่องว่างทางสังคมลำดับที่ 3. เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม. สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ จำกัด.

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์. (2555). ผลกระทบของการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษาต่อสัมฤทธิผลของนักเรียนไทย. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของประเทศไทย.

นณริฏ พิศลยบุตร. (2558). ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย: ข้อสรุปจากผลการสอบปิซ่า (PISA). สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2559). ผลการประเมินในโครงการ PISA 2015. ค้นหาจาก
http://pisathailand.ipst.ac.th/news/pisa2015result.

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 (2558). รายงายผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2558. กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา.

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน. (2556). จดทหมายถึงเพื่อนสมาชิก ฉบับที่ 99 ทีดีอาร์ดอ-ยูเนสโกเดินหน้าวิจัยปฏิรูประบบการเรียนรู้.


[1] ขนาดของโรงเรียนจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 300 คน ขนาดกลางมีจำนวนนักเรียน 301 – 1000 คน  ขนาดใหญ๋มีจำนวนนักเรียน 1,001 – 2,000 คน และขนาดใหญ่พิเศษมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 2,000 คนขึ้นไป

Share via
Copy link
Powered by Social Snap