การยกระดับนวัตกรรมเชียงราย (๑) : ศูนย์ปราชญ์เกษตรแม่สาย

ปกงานวิจัย

 

  • ความเป็นมาของศูนย์ปราชญ์เกษตรแม่สาย

ตั้งแต่เข้ายุคของการผลิตสินค้าเกษตรแบบขนานใหญ่ (mass production) เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาภาวะหนี้สินเรื้อรังที่มาจากการกู้ยืมเพื่อไปซื้อยาฆ่าแมลง และสารเคมี เพื่อลดระยะเวลาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และทำให้สามารถผลิตพืชผลได้สูงขึ้น แต่ทำให้ต้นทุนสูงด้วยเช่นกัน ในความเป็นจริง ภาครัฐก็พยายามออกนโยบายมามากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร หากแต่มีการใช้อย่างขาดประสบการณ์ และความรู้ที่แท้จริง คุณพรรณพิมล และคุณผ่าน ปันคำ เป็นคนในตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก็เคยเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เจอกับภาระหนี้สิน

เมื่อปีพ.ศ. 2545 คุณพรรณพิมลได้ทำการร่วมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรในการหารือ ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยน้ำหมัก และฮอร์โมนสูตรต่างๆ เพื่อกำจัดโรคและแมลง ซึ่งมีจุดประสงค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกร โดยการลดการใช้สารเคมี และหันมาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติแทน หลังจากนั้น กลุ่มเกษตรก็เข้าสู่วิถีแห่งความยั่งยืน นำภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตร โดยมีการทดลองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คุณพรรณพิมล และคุณผ่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

 

IMG_20170429_120500

 

จนกระทั่งในปี 2550 ก็ได้รับการคัดเลือกและยกระดับให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน และได้จดทะเบียนธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย ที่ผ่านมา คุณพรรณพิมลได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่นของจังหวัดเชียงรายในปี 2550 และรางวัลผู้หญิงเก่งสาขานักพัฒนาในปี 2552 จากสถาบันส่งเสริมสถานภาพสตรี รวมถึงคุณผ่านก็ได้รับรางวัล ‘อิสระเมธี’ หรือโครงการเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคมปี 2556 จากมูลนิติวิมุตตยาลัย

นอกจากนี้ ศูนย์ยังได้รับการสนับสนุนน้ำดื่ม อุปกรณ์ และปรับภูมิทัศน์จากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ภายใต้โครงการ ‘สิงห์อาสา’ ในช่วงปลายปี 2557 ตลอดจนการให้นำสินค้าที่ผลิตในศูนย์เข้าจำหน่ายที่ร้านของที่ระลึกของสิงค์ปาร์ค

 

  • หัวใจของการเกษตรแบบยั่งยืน

ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนศรีเมืองชุมอยู่บนพื้นที่ขนาด 14 ไร่ เป็นพื้นที่ไร่นาสวนผสมแบบครบวงจร ลุงผ่านได้กล่าวว่า “ศูนย์ของเราปลูกและเลี้ยงทุกอย่างที่กินได้” ทั้งผัก ผลไม้ เป็ด ไก่ และปลา รวมอยู่ในพื้นที่ของศูนย์ดังกล่าวทั้งหมด โดยแก่นของการทำเกษตรแบบยั่งยืนของศูนย์ปราชญ์ฯ คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญาชาวบ้าน นวัตกรรมชาวบ้าน และการใช้วัตถุดิบของท้องถิ่น ภายในไร่ของศูนย์มีการปลูกพืชผักผลไม้ที่มีความหลากหลาย โดยจะเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูป หรือการมีหีบห่อผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสามารถตั้งราคาได้สูงขึ้น

ดังนั้น ผลผลิตทางการเกษตรในผัก/ผลไม้ชนิดหนึ่งจะทำการแบ่งสัดส่วนในการขายสดกว่าครึ่ง และอีกครึ่งเป็นการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อยกระดับสินค้า ตัวอย่างเช่น การผลิตข้าวไรซ์เบอรี่จำหน่ายในตลาดแบบไม่แพคจะอยู่ที่ราคาประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่แพคเสร็จเรียบร้อยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 80 – 100 บาทต่อกิโลกรัมโดยที่มีการใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม ไม่ได้เน้นเครื่องจักรที่ทันสมัย เนื่องจากไม่มีกำลังในการผลิต เงินทุน หรือทำการตลาดที่ชัดเจน

ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ส่วนใหญ่ที่ถูกแปรรูปมาจากผลผลิตทางเกษตรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าที่ใช้บำรุงร่างกาย อาทิ ฮอร์โมนไข่ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แชมพูมะกรูดและอัญชัน สบู่ฟักขาวและข้าวไรซ์เบอรี่ และสินค้าที่บำรุงพืชผัก ล้วนแต่แปรรูปมาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติปลอดสารเคมีจากในไร่ รวมแล้วกว่า 100 อย่างด้วยกัน

 

IMG_20170429_103349

 

ประโยชน์ของการแปรรูป คือ การลดความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของราคาสินค้าเกษตร เมื่อตลาดของประเทศเชื่อมกับตลาดโลกแล้ว และประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก เกษตรกรไม่สามารถที่จะคาดการณ์ราคาในตลาดได้ ทำให้ในบางปีต้องเสี่ยงกับราคาพืชที่ตกต่ำจนขาดทุน และนำไปสู่ปัญหาภาระหนี้สินในที่สุด นอกจากนี้ การแปรรูปสินค้าเกษตรยังช่วยให้สามารถเก็บรักษาสินค้าไว้ได้นาน ซึ่งหากจำหน่ายสินค้าแบบสดใหม่ ถ้าขายไม่ได้ ปริมาณที่ผลิตออกมาส่วนนั้นก็จะสูญเสียไป

 

  • 2 : 1 : 1 โมเดล : การเรียนรู้เกษตรตลอดชีพ

นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านฯเป็นเกษตรกรที่มาจากภายในเชียงราย ทั่วประเทศ แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เมียนมาร์ และจีน เข้ามาขอศึกษาดูงานเป็นประจำ ตลอดจนกระทรวงเกษตร และหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งนักเรียนบางคนก็ต่อยอดด้วยการกลับไปเปิดศูนย์เกษตรในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบัน มีการเปิดให้อบรมในการทำเกษตรทั้งหมด 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตรเจาะลึกพืชเฉพาะด้าน เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นต้น ใช้เวลาทั้งหมด 2 คืน 3 วัน
  2. หลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะสอนพื้นฐานใหม่ให้ทั้งระบบ ใช้เวลา 3 คืน 4 วัน
  3. หลักสูตรโรงเรียนชาวนา หากจะเรียนหลักสูตรนี้ ต้องผ่าน 2 หลักสูตรแรกก่อน ใช้เวลา 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน เรียนสัปดาห์ละ 1 วัน
  4. หลักสูตรนักวิจัยอาสา ใช้เวลาถึง 2 ปี เป็นหลักสูตรการพัฒนาให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ หรือวิทยากรผู้เข้าร่วมอบรมสามารถทั้งเขียน และพูด ให้การอบรมอย่างเชี่ยวชาญ เมื่อจบหลักสูตรก็จะสามารถเข้าไปเป็นวิทยากรประจำศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

คุณพรรณพิมลกล่าวว่า “ในแต่ละพื้นที่มีภูมินิเวศที่แตกต่างกัน ต้องมีการปรับเทคนิคให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่” ฉะนั้นนักเรียนทุกคนที่มาจากต่างพื้นที่ เมื่อจบหลักสูตรก็ต้องนำเทคนิคไปปรับ และประยุกต์ใช้ให้เข้ากับพื้นที่ของตนเองอีกที ทั้งนี้ เครือข่ายของศูนย์ปราชญ์เกษตรกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศกว่า 17 ศูนย์ ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคนิคในการทำเกษตรระหว่างกัน

 

IMG_20170429_121400

 

  • ทำเอง ใช้เอง ประหยัดค่าใช้จ่าย

แม้ว่าทางศูนย์จะมีการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันจำพวก แชมพู สระบู่ หรือยาสระผม แต่ก็ไม่ได้ทำเพียงจำหน่ายออกสู่ตลาดเท่านั้น แต่ได้มีการนำมาใช้งานจริง ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

“มีกลุ่มแม่บ้านเข้ามาอบรม และนำองค์ความรู้ส่วนนี้กลับไปบอกแม่บ้านในหมู่บ้านตนเอง ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการร่วมกันทำสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแม่บ้านส่วนมากเป็นผู้ควบคุมการใช้จ่าย และงบประมาณในครัวเรือน สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และสามารถนำไปใช้ในส่วนอื่นแทนได้ คุณพรรณพิมลกล่าว

 

  • ความรู้ที่ถูกต้องในการทำเกษตร

คุณพรรณพิมลมองว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2509 เป็นต้นมา เกษตรกรในประเทศไทยได้ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร ทำให้เกิดภาระหนี้สินมากมายจากการซื้อสารเคมีจำนวนมาก เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการสร้างหนี้สิน หรือ ‘วัฒนธรรมกู้หนี้ยืมสิน’ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากทั้งนโยบายของภาครัฐ และภาคเอกชน ด้วยการขาดประสบการณ์ และรู้ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

เช่น ในช่วงฤดูกาลทำนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะออกมาประกาศให้เกษตรกรมากู้ยืมเงินไปลงนา แต่เกษตรกรบางส่วนเข้ามากู้เงินไป กลับนำไปใช้ลักษณะอื่นแทน ไม่ว่าจะนำไปชำระค่าเทอมบุตร หรือซื้อปุ๋ยก็ตาม ทำให้ไม่เหลือเงินส่วนที่จะนำไปลงทำนา ก็ไม่มีรายได้ และเป็นหนี้เรื้อรังในที่สุด

นอกจากนั้น การทำเกษตรที่ดีต้องช่างสังเกต คิดเป็นเหตุเป็นผล และนำความรู้ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์มาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ อย่างการหว่านเมล็ดข้าวในปริมาณที่น้อย แต่กลับให้ผลผลิตสูง คุณพรรณพิมลกล่าวว่าได้มีเกษตรกรเข้ามาปรึกษา จึงได้ให้คำแนะนำไปว่า “ปัญหาของนาคุณคือการที่มีนกเข้ามากินผลผลิตทุกครั้งที่มีการลงนา เนื่องจากคุณได้สร้างความเคยชินให้กับนก ฉะนั้นเวลาที่รถหว่านมาจอดรอที่ต้นนา เปรียบเสมือนการให้สัญญาณกับนกให้มารอกิน วิธีแก้ไขปัญหาคือการเคลือบเมล็ดข้าวด้วยฟ้าทลายโจร และสะเดา ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ให้รสขม นอกจากนกจะไม่เข้ามากินแล้ว แมลงหรือเพลี้ยไฟก็ไม่มากินเช่นกัน”

เห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาที่คุณพรรณพิมลได้เสนอแก่เกษตรกรเป็นการนำประสบการณ์ องค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีต้นทุนต่ำอย่างมาก แสดงว่าการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเพื่อกำจัดโรคและแมลงปัจจุบันอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการเกษตรในปัจจุบัน

 

IMG_20170429_121241

 

  • หนทางของเกษตรกรรุ่นใหม่

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เด็กได้ถูกผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองสั่งสอนให้เรียนจบสูงๆ เพื่อที่จะได้โตไปเป็นเจ้าคนนายคน ทำให้ไปทำงานสบายอยู่ในสำนักงาน แต่เด็กบางคนก็มีความเป็นเกษตรกรสูง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมาก คือ ได้ทั้งภาษาที่หลากหลาย มีความรู้ค่อนข้างเยอะ และฉลาดจ้างในการทำเกษตรมากขึ้น

คนรุ่นใหม่ก็เริ่มที่จะให้ความสนใจในการทำเกษตรมากขึ้น เพราะปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แรงเหมือนแต่ก่อน แต่ต้องใช้สมองในการบริหารจัดการมากขึ้น ตลอดจนการพึ่งพานวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรที่เป็นปัญหาอย่างมากในตอนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ย้ายเข้าไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าใจพื้นฐานในการทำเกษตรให้แน่นก่อน ต้องมีการเรียนรู้ และสังเกต เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

 

IMG_20170429_122249

 

  • โครงการตลาดสีเขียว

ตลาดสีเขียวที่ทางศูนย์ฯพยายามที่จะพัฒนาขึ้น โครงการนำร่องเป็นการให้ชาวบ้านในพื้นที่นำผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมีเข้ามาจำหน่ายในบริเวณศูนย์ในช่วงที่มีคณะทัวร์ขนาดใหญ่เข้ามา เป็นความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีการกำหนดราคาอยู่ที่ 30 กับ 60 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ส่วนสินค้าที่มีราคาแพง อาทิ สตอเบอรี่ จะคิดราคาที่แตกต่างไป ในระยะต่อไป จะเป็นการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเก็บผักและผลไม้ในไร่ เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้บริโภคพืชผักปลอดสารพิษที่มีความสดใหม่ ซึ่งจะแจกตารางผักผลไม้ตามฤดูกาลให้กับผู้ที่สนใจ ก่อนที่จะเข้ามาที่ศูนย์

 

  • สิ่งที่น่าติดตามตอนต่อไป

ทิศทางของเกษตรอินทรีย์ในประเทศมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของกรีนเนท (มูลนิธิสายใยแผ่นดิน) พบว่าในปี 2559 สถานการณ์ของเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะประเภทของข้าวออแกนิค และพืชผสมผสาน มีการขยายตัวสูงขึ้น สาเหตุมาจากการการปรับตัวลดลงของราคาข้าวในช่วงปลายปี 2559 จากการยกเลิกนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรมีความสนใจและหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

โดยที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนศรีเมืองชุมถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี การฟื้นฟูและยกรดับภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจะช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทางการเกษตร รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้สินพัวพัน เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนในการซื้อยาฆ่าแมลง และสารเคมี ที่ราคามีแนวโน้มที่สูงขึ้นในทุกปี ตลอดจนช่วยลดการพึ่งพิงวัตถุดิบในตลาด ทำให้เกิดความมั่นคง และมั่งคั่งในอนาคต

นอกจากนี้ การทำการตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และยี่ห้อสินค้าให้ติดตาผู้บริโภค ถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดไม่ดึงดูดสายตา แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพ หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากแค่ไหน ก็อาจจะไม่ถูกตาถูกใจผู้ใช้งาน ไม่ติดตลาด ซึ่งการออกแบบก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ด้วยเช่นกัน

 

IMG_20170429_120728

 

ฉะนั้น เกษตรกรต้องรู้จักที่จะเรียนรู้จากการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ต้องมีการคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) พึ่งพานวัตกรรมที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ปกป้องทรัพย์สินของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย และปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสนิยมโลก เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ

ท้ายที่สุด สูตรสำเร็จของการเป็นเกษตรกรในยุคใหม่ จำเป็นที่จะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ ประสบการณ์ เน้นการปลูกแบบปลอดสารพิษ และต้องออกแบบสินค้าให้มีความน่าสนใจ และทำการตลาดในหลากหลายช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงต้องมีปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการค้นคว้า และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ถือว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ยากและก็ไม่ง่าย

 

 

เอกสารอ้างอิง

วิฑูรย์ ปัญญากุล. (2559). ภาพรวมเกษตรอินทรีย์ไทย 2559. มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (กรีนเนท). ค้นหาจากhttp://www.greennet.or.th/sites/default/files/Thai%20OA%2016.pdf

คมชัดลึก. (2559). เปิดโรงเรียนชาวนาสอนฟรีปีละ2รุ่นยิ่งหวงยิ่งหายยิ่งให้ยิ่งได้. ค้นหาจาก http://www.komchadluek.net/news/kom-kid/219886

คมชัดลึก. (2558). ตะลุยศูนย์เกษตรยั่งยืน ‘สิงห์อาสา’. ค้นหาจาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/210396

 

บุคคลที่สัมภาษณ์

คุณพรรณพิมล และคุณผ่าน ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย วันที่ 29 เมษายน 2560

Share via
Copy link
Powered by Social Snap