แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย

19

ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้ประกาศให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 10 พื้นที่ โดยทำการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 5 พื้นที่ ได้แก่ ตราด ตาก มุกดาหาร สระแก้ว และสงขลา  และระยะที่ 2 ประกอบด้วย หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี รวมพื้นที่กว่า 6,220 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.87 พันไร่ ซึ่งพื้นที่ต่างๆที่อยู่ในแผนการพัฒนาจะได้รับทั้งสิทธิประโยชน์จากหลากหลายหน่วยงานในหลากหลายด้าน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) กรมสรรพากร ด่านศุลกากร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Export-Import Bank of Thailand : EXIM Bank) เป็นต้น ที่ให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ และการขยายกิจการในระยะยาว (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559) โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีกลยุทธ์ 4 ประการ ได้แก่ 1. การสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 2. การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 3. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลาง และ 4. จัดระเบียบพื้นที่ชายแดน (กรมประชาสัมพันธ์, 2558) ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการเคลื่อนย้ายสินค้าและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

แนวคิดของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายกลุ่มประเทศ ทั้งในประเทศที่เป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษอีสกันดาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษเซิ่นเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศอินโดนีเซีย เขตเศรษฐกิจพิเศษเคซอง เป็นต้น ทั้งนี้ โดยนิยามของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีหลายประเภท เช่น เขตการค้าเสรี เขตอุตสาหกรรมเสรี เขตปลอดภาษี เขตการค้าชายแดนเสรี และเขตพัฒนาแปรรูปเพื่อการส่งออก (กรมประชาสัมพันธ์, 2558) ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาสถานการณ์และประเมินความพร้อมเบื้องต้นของโครงสร้างพื้นฐานใน 3 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่สาย ตลอดจนวิเคราะห์ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆทั้งในด้านของข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงคุณภาพจากการประเมินและให้ความคิดเห็นของผู้ประกอบการในและนอกพื้นที่ชายแดน เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย

ขอบคุณรูปภาพจาก imsschoolblog

Share via
Copy link
Powered by Social Snap