การติดตามสถานการณ์การลงทุนของจังหวัดเชียงรายในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
การลงทุนในจังหวัดเชียงรายจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ในอดีตประชาชนจังหวัดเชียงรายมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีการใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าในปี 2532 ทำให้จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องมาจากจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ชายแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดนเพื่อนบ้านทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดประตูเศรษฐกิจ (Gateway) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านขึ้น
ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนและเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดเชียงรายด้วยเช่นกัน และที่สำคัญรัฐบาลมีมติเห็นชอบให้อำเภอเชียงของจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมในด้านของสิทธิประโยชน์ทางภาษี สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี และมาตรการการลงทุนต่างๆ ขึ้น จึงทำให้เชียงของเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจในการลงทุน เมื่อเกิดการค้าชายแดนสิ่งที่ตามมาก็คือ การนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญกับการลงทุน เนื่องจากสะพานแห่งนี้มีการเชื่อมต่อกันกับเส้นทางสาย R3A ซึ่งเส้นทางนี้เชื่อมจากประเทศไทย (อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย) เข้าบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (สปป. ลาว) เข้าสู่สิบสองปันนา เชียงรุ่ง คุนหมิง (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) มีระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง 3 ประเทศในเวลาที่รวดเร็ว และมีผลดีต่อการประกอบธุรกิจทางด้านขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่สมบูรณ์แบบที่สุดเส้นทางหนึ่ง
รวมทั้งการเชื่อมต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) กรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) เข้าด้วยกัน จึงถือว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญอย่างแท้จริง และทำให้จังหวัดเชียงรายสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากข้างนอกให้เข้ามาลงทุนในจังหวัดได้เป็นอย่างมาก
จากความพร้อมในเรื่องของยุทธศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกในการรองรับการลงทุน จึงทำให้เกิดการลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจร อุตสาหกรรมทั่วไป การขนส่ง และภาคบริการการท่องเที่ยว อีกทั้งจังหวัดเชียงรายมีบทบาทในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและการเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนของประเทศไทยด้วย