ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ การศึกษา และสาธารณสุขในจังหวัดเชียงราย
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอดีตก่อนหน้าที่จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด โดยไม่มีการส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามาดำเนินการมากนัก ภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมักเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาครัฐบาล หรืออาจเรียกว่าเป็นสภาวะเศรษฐกิจในลักษณะทุนนิยมขุนนาง และเป็นเหตุให้เกิดการกระจุกตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ที่ชนชั้นนำ
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการริเริ่มหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ 1 พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2509 ถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ 3 พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2519 ระยะเวลาของการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 3 แผนพัฒนาฯ ไม่ได้มองถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น แต่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พัฒนากำลังคน และยกระดับการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนสูงขึ้น พร้อมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การศึกษา สาธารณูปโภค การคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ
ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำของเมืองใหญ่ และส่งผลให้เกิดความแตกต่างและช่องว่างของรายได้ของประชากรและระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างรายได้ที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราการขยายตัวของการผลิตและรายได้ส่วนรวมเป็นหลัก จึงทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้บริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและปัจจัยการผลิต สามารถใช้ประโยชน์จากบริการเหล่านี้ในการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของตนได้มากกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลหรือผู้ที่ขาดปัจจัยการผลิต จึงทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม
ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ 4 ได้มีนโยบายลดช่องว่างในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสู่ประชาชนให้ลดน้อยลง โดยมีการกระจายความมั่งคั่งลงสู่หัวเมืองชนบทต่างๆ เช่น โครงการจัดสร้างโรงเรียนในชนบท โครงการพัฒนาชนบทยากจนที่มีเป้าหมาย “พออยู่พอกิน” โครงการจัดสร้างโรงพยาบาลอำเภอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายการกระจายความมั่งคั่งสู่หัวเมืองชนบทดังกล่าว แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็ยังคงไปกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำ อาจกล่าวได้ว่า แนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การศึกษาความเหลื่อมในจังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในการศึกษาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่อื่นๆ ถ้าการปกครอง หรือการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ก็จะทำให้การกระจายรายได้ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกันไปเช่นกัน เนื่องจากแต่ละจังหวัดก็จะมีนโยบายที่อาจจะไม่ได้มาจากส่วนกลาง แต่เป็นนโยบายเฉพาะที่เข้ามาจัดการพื้นที่ของตนเองในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้บางอำเภอมีรายได้ที่สูงกว่า หรือต่ำกว่าอำเภออื่น