แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและการค้าชายแดนระหว่างพรมแดนเชียงรายของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่าง สปป.ลาว และเมียนมา สำหรับการวิเคราะห์งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเชียงราย (Gross Provincial Products: GPP) จำนวนประชากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากร และมูลค่าการค้าชายแดน การส่งออกและการนำเข้า รวมทั้งดุลการค้าชายแดน ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ถึง พ.ศ. 2556

ในส่วนแรกของงานวิจัยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของการค้าชายแดนในจังหวัดเชียงรายกับการขยายตัวของเศรษฐกิจมวลรวมในรูปของอัตราการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงอัตราการเจริญเติบโตของจังหวัดเชียงราย เพื่อชี้ให้เห็นว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์และแนวโน้มการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับคู่ค้ารายใหญ่อย่าง สปป.ลาว และประเทศเมียนมาผ่านทางพรมแดน ณ ด่านศุลกากรของทั้งสามอำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของมีส่วนทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดเชียงรายขยายตัวมากขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิจะเห็นว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายมีการเติบโตที่สูงขึ้นถึง 7.6 เท่า การค้าชายแดนในปี 2547 มีมูลค่า 4,025 ล้านบาท ขยายตัวไปถึง 30,514.11 ล้านบาทในปี 2556 ทำให้ดุลการค้าชายแดนมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 12.6 เท่า จาก 2,273.80 ล้านบาท ในปี 2547 สูงขึ้นเป็น 28,535.19 ล้านบาท ในปี 2556 และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของเชียงรายมีการขยายตัวจาก 39,317 ล้านบาท ในปี 2547 เป็น 81,263 ล้านบาท ในปี 2556 ซึ่งนี่เองเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการที่เศรษฐกิจการค้าชายแดนมีการขยายตัวได้ส่งผลทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายขยายตัวขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่สองจะทำการวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย โดยใช้โมเดลการเติบโตทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “Solow Growth Model” มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์โมเดลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การที่จังหวัดเชียงรายมีการเติบโตและขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนั้น มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเห็นได้จากการมูลค่าการสะสมทุนหรือการออมเงินของประชากรในจังหวัดเชียงรายนั่นเอง การสะสมทุนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้เกิดการนำเงินที่ออมสะสมไว้มาลงทุนในภาคธุรกิจ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย หรืออีกนัยหนึ่งการสะสมทุนหรือการเพิ่มเงินออมของประชาชนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายขยายตัวอย่างแท้จริง

Share via
Copy link
Powered by Social Snap