มองเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย… ผ่านเซินเจิ้น-อิสกันดาร์

จังหวัดเชียงรายเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุมถึง 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเถอเชียงของ มีผลนับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558 เป็นต้นไป โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่สำหรับบางประเทศนั้นได้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมานานแล้ว เช่น ประเทศจีน และมาเลเซีย

กว่า 30 ปีที่แล้ว เซินเจิ้นเป็นเพียงเมืองหมู่บ้านชาวประมงที่มีประชากรเพียง 30,000 คน อาคารก่อสร้างมีเพียงน้อยนิด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการค้าและการเงิน แต่ปัจจุบันเซินเจิ้นเปลี่ยนแปลงไปมากราวกับมีเวทย์มนต์ กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนที่สร้างรายได้ให้รัฐกว่า 200,000 หยวนต่อปี โดยนโยบายของรัฐได้มีการจัดตั้งให้เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 1979 ซึ่งเป็นช่วงยุคแรกที่จีนเริ่มเปิดประเทศ

เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523 ตั้งอยู่ติดกับทะเลจีนตอนใต้และอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพอย่างมาก เนื่องจากสามารถซึมซับเทคโนโลยีและการพัฒนาจากเกาะฮ่องกง และยังสามารถดึงเงินลงทุนจากฮ่องกงได้เป็นจำนวนมหาศาล กล่าวได้ว่าฮ่องกงเป็นเหมือนหนึ่งเสาหลักของเซินเจิ้นในช่วงแรกเลยก็ว่าได้

นอกจากนั้นประชากรภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีเนื่องจากเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและดึงดูดบุคลากรที่มีภูมิความรู้จากทั่วโลก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเซินเจิ้น ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันพร้อมรองรับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือเซินเจิ้นที่เป็นเมืองท่าอันดับ 4 ของโลก สนามบินเซินเจิ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสนามบินในประเทศ รวมถึงความพร้อมของถนนและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

สุดท้ายคือการบริหารงานของรัฐบาลที่มีการพัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานอยู่เสมอ กระบวนการไม่ซับซ้อนง่ายต่อการตรวจสอบทำงานการดำเนินเรื่องต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นถึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่น่าจับตามอง และอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 ใช้เวลาเพียงแค่ 10 ปีแต่กลับมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐยะโฮร์ นับว่าเป็นจุดที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพ เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศสิงคโปร์ ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้เป็นเสมือนสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

ด้วยความที่สิงคโปร์มีพื้นที่จำกัดประกอบกับค่าแรงที่สูง ทำให้มาเลเซียได้รับผลประโยชน์จากการที่นักลงทุนสิงคโปร์เคลื่อนย้ายฐานการผลิต และตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์เป็นจำนวนมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงานภายในประเทศมาเลเซียเช่นกัน นอกจากนั้นรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้มีการประสานงานกับเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์พร้อมรองรับการพัฒนาในอนาคต

จากการศึกษาสองเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกพบว่ามีปัจจัยคล้ายกัน คือ ทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพในการพัฒนา ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนได้ และการบริหารงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ

หากพิจารณาทั้งสองเขตเศรษฐกิจแล้วจะพบว่าการเลือกทำเลที่ตั้งมีความสำคัญมากในการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ประสบความสำเร็จ เซินเจิ้นเลือกทำเลที่ตั้งที่ติดกับเกาะฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งเพื่อดึงเม็ดเงินสำหรับการลงทุนและเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันอิสกันดาร์เลือกจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนเช่นกัน

ส่วนทำเลที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือประเทศเมียนมา และสปป.ลาว ทั้งสองประเทศนี้มีแนวโน้มการเข้ามาลงทุนเขตเศรษฐกิจต่ำ แต่อีกทางหนึ่งทั้งสองประเทศมีค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย และไทยยังมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานในอนาคตเนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและแนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ในอนาคตปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ ซึ่งปัจจุบันก็ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน เพียงแต่ขณะนี้ ยังสามารถจัดหาแรงงานจากเพื่อนบ้านมาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ดังนั้นมาตารการเคลี่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ในระดับหนึ่ง

อีกปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน แม้ทำเลจะเป็นสิ่งสำคัญ หากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มีความพร้อม อาจไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงตรงนี้ได้ แต่เนื่องจากเชียงรายเพิ่งประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ยังขาดความพร้อมในเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชายแดน หรือระบบไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งอาจใช้เวลานานในการพัฒนา เนื่องจากด้วยรูปแบบการบริหารงานของรัฐบาลไทยใช้หลักการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การกำหนดทิศทาง แนวนโยบาย และแผนปฏิบัติการอาจเป็นไปอย่างล่าช้า

สรุปได้ว่า จากการที่มองภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างแดนอย่าง เซินเจิ้น ประเทศจีน และอีสกันดาร์ ประเทศมาเลเซีย สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การมองทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร กล่าวได้ว่าควรที่จะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจติดกับประเทศที่มีเงินลงทุน มีเทคโนโลยี หรือเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หากแต่จังหวัดเชียงรายที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกลับมีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา และสปป. ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับไทย แต่ไทยอาจได้รับประโยชน์ในเรื่องของแรงงานต่างด้าวแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อภาคการผลิตของไทยยังคงใช้แรงงานแบบเข้มข้น ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะ ทำให้ต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมก็เป็นส่วนสำคัญที่ในการดึดดูดนักลงทุนด้วยเช่นกัน

กมลมาศ นิยมเศรษฐกิจ
เมษายน 2559


 

เอกสารอ้างอิง

  1. กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้นกับทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย
  2. เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ความสำเร็จการปฏิรูปจีน
  3. เปิดประตูสู่อาเซียน: อิสกันดาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมาเลเซีย – สิงคโปร์

ขอบคุณรูปภาพจาก Iskandarhome

Share via
Copy link
Powered by Social Snap