สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับโอกาสทางการค้าของสินค้าท้องถิ่นเชียงราย

ประเทศต่างๆในโลกได้เริ่มที่จะตระหนักถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หลังจากที่องค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ได้จัดตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญา (World Intellectual Property: WIPO) ในปี 2510 ขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 188 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม และมีศูนย์การประชุมใหญ่อยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ต่อมาในปี 2535 สหภาพยุโรปได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวการระบุที่มาของสินค้าเกษตรและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ก่อนจะมีการกำหนดข้อตกลงเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade – Related Intellectual Property Rights: TRIPS)

ในช่วงที่มีการจัดตั้งองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ปี 2537 ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงมีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ร่วมเข้าไปด้วย ประเทศถือว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์กรการค้าโลกจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้ในปี 2546 ประเทศไทยได้ออกกฎหมายขึ้นมาหนึ่งฉบับ เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ผลิตตามชื่อสินค้าทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดการปลอมแปลง หรือแอบอ้าง ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า

นอกจากนี้ การจดทะเบียนสินค้าให้เป็น GI ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความแตกต่างทางการตลาดอีกด้วย ประโยชน์ของการจดทะเบียนสินค้าเป็นตรา GI มีดังนี้ 1) การคุ้มครองผู้บริโภค 2) การคุ้มครองผู้ผลิตและการแข่งขันไม่เป็นธรรม 3) การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเป็นเครื่องมือทางการตลาด 4) การดูแลรักษามาตรฐานของสินค้า 5) การกระจายรายได้สู่ชุมชนและส่งเสริมอุตสาหกรรม และ 6) การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ปัจจุบัน สินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียน GI ในประเทศไทยได้ ได้แก่ สินค้าเกษตร (เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้) สินค้าหัตถกรรม (เช่น ผ้าไหมยกดอกลำพูน) และสินค้าอุตสาหกรรม (เช่น ไข่เค็มไชยา) นอกจากนี้ สินค้าต่างประเทศก็สามารถที่จะขอตรา GI ได้ด้วยเช่นกัน เช่น Cognac เครื่องดื่มแอลกฮอล์จากประเทศฝรั่งเศส)

ฉะนั้น สินค้าที่ได้รับตรา GI รวมทั้งหมด 74 รายการ เป็นสินค้าไทยทั้งหมด 63 รายการ และสินค้าต่างประเทศทั้งหมด 11 รายการ โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภทของสินค้า ซึ่งสินค้าได้รับการจดทะเบียน GI สูงสุด คือ สินค้าประเภทผักและผลไม้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.33 รองมาได้แก่ อาหาร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.42 ไวน์-สุรา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.93 ข้าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.43 หัตถกรรม/อุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.94 และผ้า/ผ้าไหม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.96 ซึ่งสินค้าที่ขอตรา GI สูงสุดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือร้อยละ 31.15 รองมาได้แก่ ภาคอีสานร้อยละ 24.59 ภาคกลางร้อยละ 22.95 ภาคใต้ร้อยละ 16.39 และภาคตะวันออกร้อยละ 4.92

ในขณะที่สินค้าจากจังหวัดเชียงรายได้รับการจดทะเบียน GI ถึง 4 รายการ สูงสุดในภาคเหนือ ได้แก่ กาแฟดอยตุง (ปี 2548) กาแฟดอยช้าง (ปี 2549) สัปปะรดนางแล (ปี 2548) สัปปะรดภูแล (ปี 2548) และชาเชียงราย (ปี 2558) ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสะท้อนความเฉพาะเจาะจงของการกำเนิดในพื้นที่

ในกรณีของกาแฟดอยตุงเป็นกาแฟ Arabica แท้ 100% ซึ่งปลูกเฉพาะในพื้นที่ใต้ป่าของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ บนเทือกเขานางนอน ซึ่งสูงกว่าระดับของน้ำทะเลกว่า 800 เมตร ขณะที่กาแฟดอยช้างปลูกบนหุบเขาดอยช้าง ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย ซึ่งสูงกว่าระดับของน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร

ล่าสุด กาแฟของจังหวัดเชียงราย 2 รายการได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป หรือ EU ในการเป็นสินค้า GI อย่างเป็นทางการ หลังจากรับขึ้นทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าแรกเมื่อต้นปี 2556 ทำให้มูลค่าสินค้าของทั้งหมดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนชาเชียงรายเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558

นอกจาก ผลิตภัณฑ์ 4 รายการที่กล่าวมาในข้างต้น ในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดเชียงรายมีสินค้าอีกจำนวนมากที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ซึ่งมีการปลูกแพร่หลายอย่างมากในบริเวณของภาคเหนือตอนบน และปลูกมากในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ก่อนหน้านี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูได้รับความนิยมอย่างมาก ก่อนที่ในปี 2520 ข้าวเหนียว กข. 6 จะเข้ามาตีตลาด ซึ่งในด้านของกำลังการผลิต ข้าวเหนียว กข. 6 มีความได้เปรียบกว่ามาก

เนื่องจากข้าวเหนียวเขี้ยวงูมีต้นทุนในการผลิตที่สูง และมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน ซึ่งในด้านของการจำหน่ายสินค้าในแง่ของการผลิตแบบขนานใหญ่ (mass production) ข้าวเหนียวเขี้ยวงูไม่สามารถที่จะแข่งกับข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ได้ แต่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูสามารถที่จะตีตลาดเฉพาะ (niche market) สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่า

โดยสมควรที่จะผลักดันให้เป็นสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อรักษาคุณภาพของข้าว และไม่ให้เกิดการนำข้าวเหนียวชนิดอื่นมาแอบอ้างเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันมีการนำข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 มาปรับแต่งให้รูปร่างหน้าตาคล้ายข้าวเหนียวเขี้ยวงู จึงเป็นความท้าทายของทั้งหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น และผู้ประกอบการจังหวัดเชียงรายในการยกระดับคุณภาพในสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับบน หรือในเวทีระดับโลก

ทั้งนี้ การเข้าสู่ตลาดในต่างประเทศก็ต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน

ในตลาดของประเทศไทย หลายยี่ห้อได้นำข้าวเหนียวเขี้ยวงูมาตีตลาดข้าวอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ ธรรมคัลเจอร์ ข้าวแสนดี ข้าวตราไก่แจ้ หรือแม้แต่เฮ้าส์แบรนด์อย่าง Big C และ Tops แต่ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายใน supermarket ไม่ได้มีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสในการสร้างความแตกต่าง และเรื่องราวของข้าวเหนียวเขี้ยวงูในจังหวัดเชียงราย โดยการจดทะเบียนให้เป็นสินค้าที่ได้รับตรา GI ซึ่งจะทำให้แบรนด์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มาจากเชียงรายมีความได้เปรียบทางการตลาดอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ข้าวสายพันธุ์ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินค้า GI มีทั้งหมด 8 รายการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเจ็กเชยเสาไห้ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวเหลืองประทิวชุมพร ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ และข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี

สรุปได้ว่าตลาดการแข่งขันของสินค้าไทยในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะต้องสร้างความแตกต่าง และเรื่องราวให้มีเอกลักษณ์ ซึ่งนวัตกรรม (innovation) เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการพัฒนาของสินค้าตั้งแต่สินค้าที่ถูกผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ (เช่น การเพาะปลูก) จนถึงปลายน้ำ (เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์) ให้เข้าตาผู้บริโภค และการผนวกความรู้ด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะขยายตลาดได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ผ่านการกระตุ้นทางโซเชียลมีเดีย สื่อทางอินเตอร์เน็ต หรือ application ต่างๆ ก็ส่งผลอย่างมากต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน

พรพินันท์ ยี่รงค์
มีนาคม 2559


เอกสารอ้างอิง

  1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  2. อียูรับจดสินค้าจีไอ กาแฟดอยตุง-ดอยช้าง มีผล 3 ส.ค.
  3. สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ไทยกับผู้ประกอบการ
  4. กรมการข้าว…กู้ชีพ ข้าวเหนียว “เขี้ยวงู”
  5. ฟื้นข้าวเหนียว ‘เขี้ยวงู’ พันธุ์แท้ เพิ่มทางเลือกชาวนา
  6. ข้าว GI ไทย
  7. ‘มุกภูเก็ต-ชาเชียงราย’ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอของไทย

ขอบคุณรูปภาพจาก

Share via
Copy link
Powered by Social Snap