ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)

ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ การประเมินระดับความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจหรือการดำเนินธุรกิจในประเทศใด มักพิจารณาตั้งแต่ความสะดวกในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และเมื่อเกิดปัญหาทางธุรกิจ ว่ามีขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และกฎระเบียบของภาครัฐที่สนับสนุนต่อการประกอบธุกิจหรือไม่อย่างไร

ธนาคารโลก (World Bank, 2017) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 จนกระทั่งปีค.ศ. 2017 ครอบคลุมการประกอบธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจ ระหว่างดำเนินธุรกิจ จนถึงการปิดกิจการ ประกอบด้วย การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ขั้นตอนในการดำเนินการที่ง่าย ระยะเวลาในการดำเนินการที่รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต่ำ และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการ

จากรายงาน Doing Business 2017 ของธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทยถูกจัดลำดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ในอันดับที่ 46 จากทั้งหมด 190 ประเทศ โดยมีคะแนนการประเมินแบบ Distance to frontier (DTF)[1] เท่ากับ 71.42 คะแนน โดยประเทศไทยมีลำดับความง่ายในการเข้ามาประกอบธุรกิจสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อาจเนื่องมาจากการผลักดันของภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหาแนวทางการดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย พัฒนางานบริการภาครัฐในรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) ตลอดจนการหาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริการในรูปแบบใหม่ๆ ตั้งแต่คราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2557)

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2559) ได้สรุปแนวทางการพัฒนาระบบงานบริการให้ทันสมัย โดยเน้นความง่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop service การจัดทำข้อตกลงระดับการให้บริการแบบครบวงจร และการบูรณาการงานบริการภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โดยความก้าวหน้าของการดำเนินงานในปีพ.ศ.2559 แสดงดังตารางข้างล่างนี้

ตารางที่ 1 แนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ
Picture1

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2559)

จากข้อมูลทางสถิติของ World Bank (2017) พบว่า ความง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Doing business: DB) การลงทุนในประเทศไทย (Gross fixed capital formation: GFCF) และการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) มีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศและจากต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (Compound annual growth rate) ระหว่างปีค.ศ.2009-2015 คิดเป็นร้อยละ 7.15 และ 5.82 ตามลำดับ ขณะที่ความง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (รูปที่ 1)

Picture2

รูปที่ 1 Doing business การลงทุนในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความง่ายในการประกอบธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยนั้น พบว่า ยังไม่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างตัวแปรทั้งสองเท่าใดนัก (รูปที่ 1) อาจเป็นไปได้ว่า ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน แต่อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการประกอบธุรกิจแล้วนั้น แนวโน้มการลงทุนน่าจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันที่เน้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขาเข้าและขาออก

โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย หนึ่งในจังหวัดชายแดนที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 เน้นการลงทุนทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในพื้นที่ชายแดน จังหวัดเชียงราย จึงถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ จากรายงานวิจัยของณัฐพรพรรณ อุตมา (2559) ที่ทำการสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ พบว่า การดำเนินธุรกิจในขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลง การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ และ การค้าระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นความยากในการประกอบธุรกิจหรือไม่ได้รับความสะดวกในการดำเนินการ ขณะที่การติดตั้งไฟฟ้า การคุ้มครองผู้ลงทุน และการขอใบอนุญาตก่อสร้างนั้นมีความสะดวกในการดำเนินการค่อนข้างมาก

จากที่กล่าวมา ดัชนีชี้วัดความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจบริเวณชายแดนถือว่าเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐอีกด้วย หากได้มีการรวบรวมและทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ  (Big data) จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนเป็นอย่างมาก

 

การประเมินความยากง่ายในการดำเนินกิจการ ในพื้นที่อำเภอเชียงของ
Picture3

ที่มา: ณัฐพรพรรณ อุตมา (2559)

จากรูป ขั้นตอนที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลามากที่สุดในการดำเนินการเพื่อเข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่อำเภอเชียงของคือ การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลง (ค่าเฉลี่ย 2.28) ที่มีการพิจาณาจากขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการบังคับใช้กฎหมายโดยผ่านศาลยุติธรรม ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการพบว่า อำเภอเชียงของยังขาดกรอบและโครงสร้างในการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการคุ้มครองนักลงทุนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอเชียงของ ที่บางครั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือการผิดสัญญาทางธุรกิจจากคู่ค้าทางธุรกิจชาวต่างชาติ โดยการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป อีกทั้งยังต้องมีการประสานงานและขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการไปทีละขั้นตอน ตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน

รองลงมาคือ การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ และการดำเนินการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ที่จะพิจารณาจาก จำนวนเอกสารที่ใช้ในการทำเรื่องนำเข้า-ส่งออกสินค้า ระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ขั้นตอนและพิธีการศุลกากรในการนำเข้าส่งออกสินค้ายังมีขั้นตอนที่ค่อนข้างมากและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าผ่านแดนยาวนานขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพของสินค้าและประสิทธิภาพในการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ และลำดับต่อมาคือ การชำระภาษี ที่พิจารณาจากภาระภาษีที่ต้องชำระในแต่ละปี ระยะเวลาที่ใช้ในการยื่นชำระภาษี อัตราภาษีโดยรวมที่ต้องชำระ โดยผู้ประกอบการจะต้องทำการยื่นชำระภาษีผ่านทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

โดยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า “การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรนัก อีกทั้งขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อชำระภาษียังมีความยุ่งยากอยู่มาก”

ณัฐพรพรรณ อุตมา


เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2559) หนึ่งทศวรรษประเทศไทยกับการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business ของธนาคารโลก, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2557) สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เรื่อง รายงานผล Doing Business 2015 และแนวทางการดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการของหน่วยงาน.ภาครัฐ http://opdc.go.th/print.php?url=tab_view&cat=N&id=452

ณัฐพรพรรณ อุตมา (2559) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนชายแดน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายชุดโครงการ “การจัดการพื้นที่ชายแดน: จังหวัดเชียงรายและแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

World Bank (2017) Doing Business 2017 Equal Opportunity for All. International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank.


[1] Distance to frontier (DTF) เป็นวิธีการวัดที่พิจารณาระยะห่างของประสิทธิภาพของตัวชี้วัดแต่ละด้านในแต่ละประเทศกับประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices)

Share via
Copy link
Powered by Social Snap