แม่น้ำโขงกับการพัฒนาของระบบทุนนิยม
แม่น้ำโขงทำหน้าที่เสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในภูมิภาคเอเซียตะวันเฉียงใต้ เป็นแหล่งทรัยากรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการประมง แก่ประชาชนของทั้ง 6 ประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากมีความสำคัญที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำและเส้นทางคมนาคมแล้ว แม่น้ำโขงยังมีความสำคัญในฐานะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
การปรับเปลี่ยนนโยบายและรูปแบบการค้าในยุคโลกาภิวัตน์นำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เส้นทางแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศแก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมูลค่าการส่งออกถ่ายลำ ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน ปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 3,127.35 ล้านบาท พ.ศ.2557 ประมาณ 1,272.69 ล้านบาท และ พ.ศ.2558 ประมาณ 269.58 ล้านบาท โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ จีน ลาว และเมียนมา ด้วยแนวโน้มการค้าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง
การปรับเปลี่ยนนโยบายและรูปแบบการค้าในยุคโลกาภิวัตน์นำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เส้นทางแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศแก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมูลค่าการส่งออกถ่ายลำ ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน ปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 3,127.35 ล้านบาท พ.ศ.2557 ประมาณ 1,272.69 ล้านบาท และ พ.ศ.2558 ประมาณ 269.58 ล้านบาท โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ จีน ลาว และเมียนมา ด้วยแนวโน้มการค้าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2559 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่าง พ.ศ.2558-2568 ระหว่างรัฐบาล 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก ตามเป้าหมายการปรับปรุงร่องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือ ความปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาในจีนถึงเมืองหลวงพระบางในลาว โดยการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลจีน จำนวน 655 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านกองทุน China-ASEAN Maritime Cooperation Fund ประกอบด้วย แผนการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 พ.ศ.2558-2563 ศึกษา สำรวจ ออกแบบและทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ ปรับปรุงร่องน้ำ ระยะทาง 631 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบางเพื่อรองรับเรือ 500 ตัน (DWT) พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ Guanlei, Xiengkok, Wan Pong, Pakbeng, Luang Prabang ท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง ได้แก่ Xiengkok, Pakbeng, Luag Prabang
ระยะที่ 2 พ.ศ.2563-2568 ปรับปรุงร่องน้ำ ระยะทาง 259 กิโลเมตร จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน (DWT) และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ พัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน (DWT) 4 แห่ง ได้แก่ Simao, Menghan, Suploi, Chiangsaen ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน (DWT) ณ Wan Seng
โดยท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง ได้แก่ Simao, Jinghong, Ban Sai, Muongmom, Wan Pong, Ban Khouane, Chiangsaen, Houaysai, Chiangkhong
แน่นอนว่าแผนการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง จะนำมาสู่ผลกระทบทางระบบนิเวศ วัฒนธรรม อาชีพ และการวิถีชีวิตชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำโขง โดยการปรับปรุงร่องน้ำแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อันจะนำมาซึ่งการระเบิดเกาะแก่งสำหรับการเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน จากปกติสำหรับไม่เกิน 150 ตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งที่วางไข่ของปลา และแหล่งอาหารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง ทำให้จำนวนปลาลดลงคนลุ่มแม่น้ำโขงที่ประกอบอาชีพหาปลาได้รับผลกระทบ จากการศึกษาวิถีชีวิตคนหาปลา : ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงและการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ กรณีศึกษาอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (2558) พบว่า ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพคนหาปลา ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงและการระเบิดเกาะแก่งส่งผลให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำโขงลดลง ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องปรับตัวด้วยการประกอบอาชีพเสริมโดยการทำเกษตรกรรม เช่น ข้าวโพด ยาสูบ ถั่วแขก ข้าว เป็นต้น ถึงแม้ว่าราคาปลาแม่น้ำโขงในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นจากจำนวนปลาจะลดลงก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ตารางที่ 1 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนหาปลาเบื้องต้น
หมายเหตุ: แสดงระดับความสำคัญของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนหาปลาเบื้องต้น สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2558
“***” หมายถึง ระดับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนหาปลาสูงมาก
“**” หมายถึง ระดับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนหาปลาปานกลาง
“*” หมายถึง ระดับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนหาปลาต่ำมาก
ทั้งนี้จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม จากการพัฒนาพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ของ ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ พบว่า การประเมินผลกระทบจากการพัฒนาโครงการพลังน้ำในภาพอนาคต 11 เขื่อน[1] ด้วยการคำนวนทางเศรษฐกิจ (ดังตารางที่ 2) แสดงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เห็นชัดเจนว่า มูลค่าการสูญเสียการประมงจับปลาจากธรรมชาติ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพย้ายถิ่น) ตะกอนดิน/ธาตุอาหาร และส่งผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมของคนลุ่มแม่น้ำโขง
ตารางที่ 2 สรุปมูลค่าปัจจุบันสุทธิ คำนวณสำหรับภาพอนาคต 11 เขื่อน
*มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของพลังงานน้ำได้มาจากแผนพัฒนาลุ่มน้ำระยะที่ 2 (BDP2) ซึ่งอาจมีตัวเลขประมาณการสูงกว่าความเป็นจริง
จากผลการศึกษาของ 2 ชิ้นงาน ได้มีสรุปผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงส่งผลต่อปลา ระบบนิเวศ และสังคมวัฒนธรรมคนลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้แผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 นั้นยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง 2 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่สุดท้ายของแม่น้ำโขงย่อมได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเห็นชอบแผนการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่าง พ.ศ.2558-2568 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือ ความปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของรัฐบาลไทยนั้น ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างไรจากแผนการพัฒนาฯ เนื่องจากเรือที่ใช้ในการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เป็นเรือสัญชาติจีน สปป.ลาว อาจกล่าวได้ว่า แทบจะไม่มีเรือสัญชาติไทยเลย เนื่องจากไม่มีความชำนาญในเส้นทาง จึงมีเพียงเรือบริการนำเที่ยวและเรือข้ามฝากระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว เท่านั้น อีกทั้งการปรับปรุงร่องน้ำหรือการระเบิดเกาะแก่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศจีน-ไทย อาจทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ที่พอจะทำให้ไทยเป็นฐานการกระจายสินค้าของจีนสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ด้วยเช่นกัน แต่ปัจจัยนี้มีความสำคัญหรือไม่ เพราะปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่างจีน-ไทย ผ่านเส้นทาง R3A ที่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 บริเวณอำเภอเชียงของ – ห้วยทราย เชื่อมโยงการค้าชายแดนทางบกและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตและรวดเร็วมากขึ้นอยู่แล้ว รวมทั้งปัญหาการเดินเรือส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดด้วยสาเหตุการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำของจีนเอง
ทั้งนี้จากความคิดเห็นของนักวิชาการที่ได้กล่าวถึงผลกระทบของแผนการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในครั้งนี้ อย่างเช่น ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากแผนพัฒนาฯ นี้ว่า หากพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจจะพบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ คือประเทศจีน เพราะหากพิจารณาการค้าบริเวณด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะพบว่าประเทศไทยส่งสินค้าออกไปยังประเทศลาวจำนวนมากแต่นำเข้าเพียงเล็กน้อย ขณะที่การค้าผ่านแดนไทย-ลาว ส่งไปยังประเทศจีนตอนใต้นั้น พบว่าประเทศไทยนำเข้าจากประเทศจีนมากกว่าส่งออก ฉะนั้นเมื่อพิจารณาสถิติการค้าจะพบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือประเทศจีน และขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีวิธีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบด้วย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐค่อนข้างจะละเลยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าประโยชน์ของ จ.เชียงราย คือการเป็นทางผ่านมากกว่าการขายสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง
รวมถึงแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ไม่สอดคล้องกับแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมของ GMS ที่มุ่งเน้นการสร้างภูมิภาคด้วยพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2555-2559) ตามกรอบยุทธศาสตร์ GMS ปี พ.ศ.2555-2565 ที่เน้นประเด็นสำคัญอย่างการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับการลดความยากจน สุดท้ายสิ่งที่ควรคำนึกถึงคือแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่คนลุ่มแม่น้ำโขงทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในลุ่มน้ำโขง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประโยชน์นั้นขึ้นอยู่กับใครและผลกระทบตกอยู่กับใคร “ฤา…ทุนนิยมจะกลืนกินวิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำโขง”
สิทธิชาติ สมตา
เอกสารอ้างอิง
ประชาชาติธุรกิจ. (2559). จีนทุ่ม 655 ล้านเหรียญ พัฒนาทางเดินเรือ 4 ประเทศล้านช้าง-แม่น้ำโขง. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1482828099
สิทธิชาติ สมตา. (2558). วิถีชีวิตคนหาปลา : ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงและการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ กรณีศึกษาอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย. สำงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม. (2559). “ทีดีอาร์ไอ” จี้ ครม.ทบทวนมติ “ระเบิดโขง” เหตุยังไม่ศึกาผลกระทบ – “จีน” โกยประโยชน์อื้อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 จาก http://www.greennewstv.com/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%AD-%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%97/
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม. (2559). นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์ “ระเบิดโขง” “ไทย” แค่ทางผ่าน – คนส่วนน้อยได้ประโยชน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 จาก http://www.greennewstv.com/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C/
อภิสม อินทรลาวัณย์. (2558). ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม จากการพัฒนาพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
Asian Development Bank. (2558). แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 จาก https://www.adb.org/sites/default/files/publication/161944/gms-ecp-overview-2015-th.pdf
[1] หมายถึง ภาพอนาคตแผนในอีก 20 ปีข้างหน้าในลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ภาพอนาคตนี้นับรวมแผนการสร้าง 11 เขื่อนในแม่น้ำสายหลักและแผนการพัฒนาพลังงานน้ำอีก 30 เขื่อนในแม่น้ำสาขา
ขอบคุณรูปภาพจาก MATICHON ONLINE