กระแสโลกาภิวัตน์-โลกานิวัฒน์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จากการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ (Globalization phenomenon) ตั้งแต่ค.ศ.1990 ส่งผลต่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆในโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต และการขนส่งและโลจิสติกส์ สองทศษวรรษที่ผ่านมานานาประเทศล้วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนตามกระแสโลกาภิวัฒน์ กระทั่งในทศวรรษล่าสุด รูปแบบการค้าและกระบวนการผลิตสินค้าของประเทศในโลกเน้นความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอนการผลิตจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรือมักถูกเรียกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต (Global production network) หรือการสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value chain) ประสิทธิภาพของการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกจึงมักใช้อธิบายประสิทธิผลของโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามกระแสโลกาภิวัตน์ ระดับโลกาภิวัตน์ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปีค.ศ.2008-2012 โดยมีผลมาจากโลกาภิวัตน์ด้านการเมืองเป็นอันดับแรก รองลงมาคือโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระดับโลกาภิวัตน์ของไทยในปีค.ศ.2013 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยและประเทศในโลกลดลง นอกจากนี้ ในปีค.ศ.2009 ไทยมีสัดส่วนการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกอยู่ในลำดับที่ 21 จากทั้งหมด 59 ประเทศ โดยเป็นการเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าโลกในลักษณะ Backward linkage มากกว่า Forward linkage (ตารางที่ 1) นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสถิติมูลค่าการค้าสินค้าที่เพิ่มมูลค่า (Trade in Value Added) พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (OECD, 2017) อาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์เปรียบเสมือนเครื่องมือหนึ่งที่ประเทศไทยใช้ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ตารางที่ 1 ดัชนีโลกาภิวัตน์และดัชนีการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกของไทยระหว่างปี 2008-2013
หมายเหตุ: GVC = Global value chain; BGVC = Backward global value chain; FGVC = Forward global value chain; GI = Globalization index; and EGI, SGI, PGI = Economic, Social and Political globalization index, respectively.
ที่มา: OECD (2017) และ KOF (2017)
โลกานิวัฒน์ หรือ อโลกาภิวัตน์ (De-globalization) เป็นปรากฎการณ์ที่ตรงข้ามกับโลกาภิวัตน์โดยสิ้นเชิง หากโลกาภิวัตน์อธิบายได้ด้วยการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในโลก ทางการค้า การลงทุน การเงินระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต และการขนส่งและโลจิสติกส์ โลกานิวัฒน์ก็อธิบายได้ด้วยการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในโลกนั่นเอง กระแสโลกานิวัฒน์ได้ถูกกล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบัน หลังจากนายโดแนลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงทัศนะและประกาศการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่เน้นการกีดกันการค้า (Trade protection policy) ด้วยสโลแกน “buy American, hire American — ซื้อสินค้าที่ผลิตในอเมริกาด้วยคนอเมริกัน” (Chu, 2017) รวมถึงการประกาศถอนตัวจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจทางภูมิภาคในนามข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) นักวิเคราะห์ได้แสดงความคิดเห็นกันมากมายกับบทบาทของสหรัฐฯและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและเศรษฐกิจของโลก ผู้กำหนดนโยบายและนักธุรกิจต่างๆได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก และพยายามปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจและวางแผนเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงประเด็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งหลังจากกระแสการออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ถึงผลประโยชน์ที่แท้จริง (Welfare) จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (2560) ได้นำเสนอผลกระทบของไทยภายใต้การนำประเทศสหรัฐฯ ของนายโดแนลด์ ทรัมป์ใน 3 ประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก ผลกระทบด้านการเงินจากความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงินในโลก ในประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก ประด็นที่สอง ผลกระทบจากนโยบายการค้าที่เน้นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯกับจีน ในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดสูญเสียงานภายในประเทศ ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ภายในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับประเทศจีน และประเด็นสุดท้าย ผลกระทบจากนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯพยายามลดบทบาทของตนเองในประเทศอื่นและเน้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ประเด็นนี้อาจส่งผผลต่อระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยกับประเทศแถบเอเชียจะมีมากขึ้น
จากกระแสการเปลี่ยนแปลงข้างต้น คำถามที่น่าสนใจคือ นโยบายการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่เหมาะสมอีกต่อไปหรือไม่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลของกระแสเศรษฐกิจ 2 ขั้ว (Balanced globalization) ควรเป็นอย่างไร และไทยควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรภายใต้กระแสเศรษฐกิจ 2 ขั้ว คำตอบของคำถามเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศ หากเราเริ่มต้นจากเหตุและปัจจัยด้วยการเปรียบเทียบ “มายาคติ (Myth) กับความเป็นจริง (Reality)” ของนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว อาจจะพบคำตอบที่รอคอยสำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ หรือ โลกานิวัฒน์
ณัฐพรพรรณ อุตมา
เอกสารอ้างอิง
Chu B. (2017) Trump inauguration: What does ‘buy American and hire American’ mean? Independent. (Saturday 21 January 2017). Available at http://www.independent.co.uk/news/business/.
KOF (2017) KOF Globalization Index. Available at http://globalization.kof.ethz.ch/
OECD (2017) OECD Global Value Chains indicators. OECD Stat. Available at https://stats.oecd.org/.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (2017) In Focus: มองเศรษฐกิจไทยในยุค Trump นำโลก. Outlook ไตรมาส 1/2017. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence).
ขอบคุณรูปภาพจาก adaquest