มายาคติและผลลัพธ์ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้

inequal

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาความเหลื่อมล้ำแต่ประการใด เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำน้อยลงและมีความเท่าเทียมมากขึ้น หากแต่ว่าประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยประกอบด้วยหลายมิติ เช่นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางรายจ่าย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆ ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเป็นจำนวนมาก และมีการประยุกต์ใช้หลักการเดียวกันในการศึกษาในหลากหลายมิติ เช่นงานศึกษาเรื่อง “ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ” โดย ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ที่ได้ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำกับมิติต่างๆทางสังคม ได้แก่ สงครามและความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ชาตินิยมกับความเหลื่อมล้ำ การรวมศูนย์อำนาจกับความเหลื่อล้ำ การทุจริตในวงการราชการกับความเหลื่อมล้ำ และที่น่าสนใจคือความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับพื้นที่ชายขอบ (Core and Periphery Pattern) ที่ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองเดี่ยวจากผลทางเศรษฐกิจการค้ากับต่างประเทศและการลงทุนในอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ตั้งแต่สมัยที่สยามทำสนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ.2393 ผลดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าในเขตเมือง และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทั้งแรงงานและผลผลิตจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจในเขตเมือง

นอกจากนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้พยายามอธิบายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือ W. Arthur Lewis[1] เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1976 ได้นำเสนอโมเดลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural Change Model) อธิบายสาเหตุการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ด้วยปัจจัยหลักคือ ค่าจ้างที่แตกต่าง หรือค่าจ้างภาคเกษตรต่ำกว่า ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะแรงงานล้นตลาดในภาคเกษตร (Surplus of Labour) จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการขยายการจ้างงาน (Expansion of Employment) การผลิตและการลงทุน (Profit Reinvestment) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าวก่อผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในฐานะตัวขับเคลื่อนการผลิตและไม่ได้ลดผลิตภาพแรงงานแต่อย่างใด แถมยังทำให้แรงงานสามารถย้ายเข้าสู่ภาคการผลิตที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการกระตุ้นการจ้างงาน การสะสมทุนของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการขยายตัวการลงทุนต่อไป Lewis เรียกการพัฒนาในแบบนี้ว่าการเติบโตภายในตัวเองอย่างยั่งยืน “Self-sustained growth” สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่อดีต ที่มีการมุ่งเน้นการเปลี่ยนอุตสาหกรรมผลิตจากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ตามลำดับ จนถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการผลิตที่ใช้นวตกรรม

ดหกเกด้กด

จากทั้งสองส่วนที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อ่านคงเห็นภาพการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเติบโตของภาคอุตสาหกรรมบ้างแล้ว ผู้เขียนไม่ได้ฉายภาพขึ้นมาให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าการเติบโตต้องมาจากภาคอุตสาหกรรม แต่เพียงอยากหยุดตรงนี้ให้ร่วมกันคิดว่าภาพที่ฉายมานั้นเป็น”ข้อเท็จจริง”ที่ดีแล้วหรือเป็น “มายาคติ” หรือไม่ ?

มายาคติ หรือ Mythologies ตามทฤษฎีของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (1957)  หมายถึง “การครอบงำ ความหมายเบื้องต้นของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงผัสสะหรือประโยชน์ใช้สอย แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมอุดมการณ์” หรือหากพูดเป็นภาษาชาวบ้าน หมายถึง ความเชื่อ ค่านิยม รูปแบบสัญลักษณ์ที่คนในสังคมสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการขัดเกลาทางสังคม และให้ยากต่อการเข้าถึงความจริง (อรรถเดช สรสุชาติ, 2558) เช่น มายาคติที่ว่าคนจนคือคนด้อยโอกาสและไม่แสวงหาโอกาส บ้านนอกหมายถึงด้อยพัฒนา เมืองหลวงคือศูนย์กลางความเจริญ เรียนต่างประเทศมีภาษีดีกว่าเรียนในประเทศ คนภาคอีสานจนกว่าคนทุกภาค หรือผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เป็นต้น มายาคติความเหลื่อมล้ำเหล่านี้นำมาซึ่งการครอบงำทางความคิด จนทำให้คนในสังคมเชื่อว่ามายาคตินั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว การยอมรับมายาคติเหล่านี้เป็นประตูด่านที่หนึ่งที่ทำให้เกิดการคล้อยตาม และการเดิมตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วตามลำดับ

จากคำถามข้างต้น “การย้ายแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการสะสมทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” เป็นมายาคติหรือไม่ ? คำตอบขึ้นอยู่กับการพิจารณาความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจิรง (Facts) และมายาคติ (Mythologies) ซึ่งข้อเท็จจริงของคำถามนี้ได้ถูกศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ว่าการยกระดับจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมเป็นขั้นตอนการพัฒนาตามระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Stages of Economic Growth) ตามทฤษฎีของ Rostow (1956) และให้ข้อเสนอว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใดต้องมีการทะยานบิน (Take-off) หรือการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงานเข้มข้นในภาคเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Economy) ประเทศถึงจะสามารถพัฒนาสู่เศรษฐกิจที่เจริญเต็มวัยและอุดมโภคา (Mature Economy and Mass-Consumption) ที่ผู้บริโภคสามารถมีกำลังซื้อสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น หลายๆประเทศได้ยอมรับข้อเท็จจริงนี้และได้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยการมุ่งเน้นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม รวมถึงประเทศไทยเองเช่นกัน

แล้วอะไรคือมายาคติ มายาคติของข้อนี้เปรียบเสมือนม่านน้ำฉายขึ้นกลางอากาศ ที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นข้อเท็จจริงหลังม่านนั้นได้  ได้แก่ภาพกระแสสังคมชนบทที่นิยมย้ายถิ่นฐานสู่จังหวัดนิคมอุตสาหกรรม เช่นชาวนามักนิยมขายที่ดินทำกินเพื่อหวังกินกำไร จากนั้นย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองอุตสาหกรรมอาทิ ระยอง ชลบุรี กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดลำพูน เป็นต้น  หรือแรงงานไร้ทักษะฝีมือที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษามักนิยมเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพราะเข้าใจว่าตนไม่มีทางเลือก จึงทำงานในโรงงานที่ได้รับค่าจ้างแน่นอนและสูงกว่าการทำการเกษตรในชนบท ภาพมายาคตินี้เหมือนจะเป็นข้อเท็จจริงที่สมเหตุสมผลซึ่งเป็นการเปลี่ยนสู่สภาวะที่ดีกว่า แต่เป็นเพียงการพิจารณาจากผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินหรือค่าจ้าง เท่านั้น

ในกรณีนี้ หากจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระหว่างสองจังหวัดที่มีเขตนิคมอุตสาหกรรมและไม่มีนิคมอุตสาหกรรม อย่างจังหวัดลำพูนและเชียงราย โดยทำการหาอัตราส่วนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์[2]ต่อจำนวนประชากร ซึ่งเป็นผลพวงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรมและความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ จะพบว่าจังหวัดลำพูนถูกประกาศให้เป็นจังหวัดที่มีเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนบริษัทและพื้นที่ทั้งสิ้น 99 (ทำเนียบผู้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ, 2557) บริษัท มีจำนวนประชากรเฉลี่ย 405,000 คน และเป็นแหล่งจ้างงานหลักรองรับแรงงานส่วนเกินจากภาคเกษตรในเขตจังหวัดภาคเหนือ ขณะที่เชียงรายเป็นจังหวัดที่ไม่มีการประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 52 มาจากการค้าและการบริการ มีประชากรเฉลี่ย 1,216,000 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบสองจังหวัดจะเห็นว่าจำนวนประชากรพบว่าลำพูนมีประชากรเฉลี่ยน้อยกว่าเชียงราย 3 เท่า

ผปแอแอแป

เมื่อพิจารณาจำนวนคดีอาชญากรรมในส่วนของจำนวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จังหวัดลำพูนและเชียงรายมีจำนวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เฉลี่ยปีละ 370.4 และ 434.4 คดี ตามลำดับ  แต่หากพิจารณาอัตราส่วนต่อประชากรกลับพบว่าลำพูนมีอัตราส่วนจำนวนคดีต่อประชากรสูงกว่าจังหวัดเชียงรายถึง 2.6 เท่าตัวในทุกๆปี ซึ่งหมายความว่าจังหวัดที่มีเขตอุตสาหกรรมและมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างถิ่นเข้ามาพำนักจะมีจำนวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สูงกว่าจังหวัดที่ไม่มีเขตอุตสาหกรรม  เพราะฉะนั้นการย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ส่งผลดีต่อจังหวัดเสมอไปแถมยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อด้านต่างๆมากมาย

ดหกดหก

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงปัญหาอื่นๆที่ตามมา จะสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่า ภาพเหล่านั้นคือ “มายาคติ” โดยผลลัพธ์มายาคติความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้จากปัญหานี้ ได้แก่ 1.ปัญหาระดับบุคคล เช่น ปัญหาสุขภาพ/สุขภาพจิตจากการทำงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการปรับตัวสู่สังคมอุตสาหกรรม 2.ระดับสังคม ได้แก่ ปัญหาการเติบโตแบบไม่สมดุล ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาชุมชนแออัดในเขตเมืองอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแรงงานในภาคเกษตร รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ที่อาจตามมาเป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่จับต้องได้และที่ไม่สามารถมองข้ามเพราะจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น การกระจายตัวของสังคมเมือง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และอาชีพ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสต่างๆ เป็นต้น

มายาคติความเหลื่อมล้ำจากการย้ายถิ่นฐานสู่เมืองอุตสาหกรรมเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ยังมีมายาคติอีกมากมายที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้ เช่น ระบบภาษีที่เป็นธรรม ตามการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้ ของดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นว่ารายได้บุคคลธรรมดาหลังหักภาษีของกลุ่มรายได้มากที่สุด 20 % มีจำนวนเหลือมากกว่ากลุ่มคนที่มีร้ายได้น้อยที่สุด 20 % เป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากคนที่มีรายได้สูงสามารถเข้าถึงค่าลดหย่อนทางภาษีได้มากกว่าคนจนเช่น ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF หรือประกันชีวิตต่างๆ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ควรจะเป็นอัตราก้าวหน้าหรือรายได้มากจ่ายมาก แต่เมื่อหาอัตราส่วนระหว่างภาษีมูลค่าเพิ่มต่อรายได้กลับพบว่าคนรายได้น้อยกลับมีอัตราการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า อีกทั้งความเหลื่อมล้ำในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ที่คนมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศต้องใช้สิทธิจากสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนครึ่งหนึ่งของคนรายได้สูงที่สุดของประเทศมีสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม และมีศักยภาพในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง จึงทำให้มีโอกาสที่ดีกว่า ฯลฯ ดังนั้นแล้วหากเราสามารถตีแผ่มายาคติเหล่านี้ได้ก็จะสามารถทำให้เราทราบถึงข้อเท็จจริงรวมถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำต่างๆที่แอบแฝงภายใต้มายาคติ การลดมายาคติ ต่อยอดการพัฒนาทุนมนุษย์สามารถช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อสังคมต่อไปได้ ไม่มากก็น้อย…

วราวุฒิ เรือนคำ

[1]Sir William Arthur Lewis- 1976 Nobel Memorial Prize in Economics

[2] จำนวนคดีคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ได้แก่ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ชิงทรัพย์ (รวม) ปล้นทรัพย์ รับของโจร ทำให้เสียทรัพย์

เอกสารอ้างอิง

Todaro, Michael P., 1985, Economic Development in the Third World, Third Edition,NewYork: Longman

Ricardo, David.,1971,The Principles of Political Economy and Taxation. (1817). Dent. 1911.

Rostow, W.W. Stages of Economic Growth. New York: Cambridge University Press. Second Edition. (first published 1960)

Roland Barthes ,1915 มายาคติ สรรนิพนธ์จาก Mythologies  แปลโดย วรรณพิมล  อังคศิริสรรพ พิมพ์ครั้งที่ 3 (เมษายน 2551)

Schumpeter, J.A. , 1961, The Theory of Economic Development. New York: Oxford University Press, (first published 1911).

Seers, D., 1963, “The Limitations of the Special Case.” Bulletin of the Oxford Institute of Economics and Statistics. Reprinted in Gerald Meier (ed.). Leading Issues in Economic

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, 2553, ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

อารยะ ปรีชาเมตตา, 2559, ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพมหานคร, หน้า 117-128

อรรถเดช สรสุชาติ, 2558 มายาคติ ในสื่อโฆษณา การเมือง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 20 มค 2560

ขอบคุณรูปภาพจาก mic.com

Share via
Copy link
Powered by Social Snap