นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ: ไขกุญแจสู่การเติบโตของประเทศ

$R57WIR0

นวัตกรรม (Innovation) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) นับว่ามีบทบาทอย่างมากในฐานะของการเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตและสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้เศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล ปัจจุบันมีการประเมินระดับนวัตกรรม สิ่งสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศต่างๆในโลกด้วยดัชนีนวัตกรรมโลก[1] (Global innovation index) โดยความร่วมมือระหว่าง Cornell University, INSEAD และ World Intellectual Property Organization (WIPO) ดัชนีความคิดสร้างสรรค์โลก[2] (Global creativity index) จัดทำโดย Martin Prosperity Institute และดัชนีเทคโนโลยีสารสนเทศโลก[3] (Global information technology index) จัดทำโดย World Economic Forum และ INSEAD ตารางที่ 1 แสดงว่า ไทยมีค่าคะแนนระดับนวัตกรรมในปีค.ศ. 2016 ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมาทั้งค่าคะแนนด้านทรัพยากร และค่าคะแนนผลผลิตจากนวัตกรรม อย่างไรก็ตามไทยกลับถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 141 ประเทศ ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (ลำดับที่ 55) เมื่อพิจารณาการจัดอันดับดัชนีความคิดสร้างสรรค์โลก พบว่า ในปีค.ศ. 2015 ประเทศไทยมีค่าคะแนนระดับความคิดสร้างสรรค์ไม่สูงมากนัก และถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 82 จากทั้งหมด 139 ประเทศ โดยไทยมีลำดับความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับลำดับความคิดสร้างสรรค์ด้านความสามารถและด้านการรับฟังความเห็นของผู้อื่น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีเทคโนโลยีสารสนเทศโลก พบว่า ไทยมีค่าคะแนนระดับความพร้อมและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในปีค.ศ. 2016 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง ความพร้อมของการเข้าถึงบริการ การใช้ประโยชน์ของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 62 จากทั้งหมด 139 ประเทศ

ตารางที่ 1: ดัชนีนวัตกรรมโลก ความคิดสร้างสรรค์โลก และเทคโนโลยีสารสนเทศโลกของไทยระหว่างปีค.ศ.2013-2016

ฟดฟดฟหก

ที่มา: Cornell University, INSEAD, and WIPO (2016) WEF and INSEAD (2016) และ Florida et al. (2015)

ในความเป็นจริง ภาคอุตสาหกรรมทั้งการผลิตสินค้าและบริการมักเป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศ การกระตุ้นการผลิตสินค้าและบริการที่มี “นวัตกรรมล้ำสมัย สิ่งสร้างสรรค์แปลกใหม่ และทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “สินค้าและบริการ ICIT” นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในหน่วยเศรษฐกิจอื่นๆในประเทศอีกด้วย เช่น การเพิ่มคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการขั้นต้นและ/หรือขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับสินค้าและบริการ ICIT การเพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะแรงงานจากการพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (Highly skill labor) การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี (Spillovers) การยกระดับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ต่อเนื่อง (Related industries) กับสินค้าและบริการ ICIT เป็นต้น ทั้งนี้ จำนวนการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา[4] อาจเป็นตัวแปรหนึ่งในการชี้วัดระดับการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากรายงานการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของ World Intellectual Property Organization (WIPO) ระหว่างปีค.ศ. 2000-2015 (รูปที่ 1) พบว่า การยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นสิทธิบัตรที่มีการเติบโตลดลงระหว่างปีค.ศ. 2008-2010 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ต่อปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 2000-2015 เท่ากับร้อยละ 3.28 สำหรับสิทธิบัตร ร้อยละ 8.74 สำหรับผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์/อนุสิทธิบัตร ร้อยละ 4.50 สำหรับเครื่องหมายการค้า และร้อยละ 3.41 สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

รูปที่ 1: จำนวนการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยระหว่างปีค.ศ. 2000-2015 (WIPO, 2017)

กหอดหกอเ

เมื่อพิจารณาการเติบโตของการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย (รูปที่ 2) พบว่า ในปีค.ศ. 2014 ไทยมีจำนวนสะสมการยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่สิงคโปร์มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ของสิงคโปร์ และหากไทยต้องการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธบัตรให้มากขึ้น

รูปที่ 2: เปรียบเทียบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ ปีค.ศ. 2014 (WIPO, 2017)

ฟหดหด

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและการได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย (ตารางที่ 2) พบว่า ทั้ง 3 ประเทศจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในมูลค่าที่สูงกว่าการได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยระหว่างปีค.ศ. 2010-2015 สิงคโปร์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร้อยละ 0.8 ขณะที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของการได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาถึงร้อยละ 27.61 แต่หากนับเป็นเชิงมูลค่าแล้ว สิงคโปร์ยังมูลค่าสุทธิของค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในปีค.ศ. 2015 เท่ากับ -13,983 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 5.2 เท่าของรายรับ) เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตสะสมของการได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสูงกว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไทยก็ยังคงสูญเสียเม็ดเงินไปกับค่าตอบแทนจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมาก หรือคิดเป็น 48.48 เท่าของรายรับ ในปีค.ศ. 2015

ตารางที่ 2: มูลค่าค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างปีค.ศ.2010-2015

กดหกหก

ที่มา: World Bank (2017)

จากข้อมูลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า แนวโน้มการเติบโตของจำนวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและมูลค่าสุทธิของค่าตอบแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนั้นยังมีทิศทางไม่สอดคล้องกัน (Divergence) ขณะที่จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าค่าตอบแทนการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับของไทยนั้นกลับมีการเติบโตแบบผันผวน ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันให้การเติบโตของจำนวนทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีทิศทางที่สอดคล้องกัน (Convergence) แนวทางสู่การพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีหลากหลายแนวทาง แนวทางที่สำคัญประการหนึ่งคือการบ่มเพาะความคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาในทุกระดับอายุและอาชีพ และเพื่อให้การพัฒนานวัตกรรม สิ่งสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและทันท่วงที ภาครัฐควรให้ความสำคัญด้านการดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (IP facilitation) และ การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP protection) ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย !!!!!

ณัฐพรพรรณ อุตมา


[1] ดัชนีนวัตกรรมโลก เป็นการประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมโดยพิจารณาจากทรัพยากรสำหรับการผลิตนวัตกรรม (innovation inputs) และผลผลิตด้านนวัตกรรม (innovation outputs) ทรัพยากรสำหรับการผลิตนวัตกรรม ประกอบด้วย สถาบัน ทุนมนุษย์และการวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพทางการตลาดและธุรกิจ ผลผลิตด้านนวัตกรรมประกอบด้วย ผลผลิตทางองค์ความรู้และเทคโนโลยี และสิ่งสร้างสรรค์ (Cornell University, INSEAD, and WIPO, 2016)

[2] ดัชนีความคิดสร้างสรรค์โลก เป็นการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ประกอบด้วย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากร (2) ด้านความสามารถ (Talent) ประกอบด้วย ระดับความคิดสร้างสรรค์ และการสำเร็จการศึกษา และ (3) ด้านการรับฟังความเห็นของผู้อื่น (Tolerance) ประกอบด้วย การยอมรับทางด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์ และการยอมรับความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน (Florida et al., 2015)

[3] ดัชนีเทคโนโลยีสารสนเทศโลก เป็นการประเมินความพร้อมและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทำการประเมินจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) ด้านสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการกำกับดูแล และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและนวัตกรรม (2) ด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการ และทักษะความสามารถ (3) ด้านการใช้ประโยชน์ของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล และ (4) ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม (WEF and INSEAD, 2016)

[4] รูปแบบของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ตามที่ระบุในฐานข้อมูลของ World Intellectual Property Organization ประกอบด้วย สิทธิบัตร (Patents) ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์/อนุสิทธิบัตร (Utility models) เครื่องหมายการค้า (Trademarks) และที่มาสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial designs)


เอกสารอ้างอิง

Cornell University, INSEAD, and WIPO (2016) The Global Innovation Index. Cornell University, INSEAD และ the World Intellectual Property Organization. Available at https://www.globalinnovationindex.org.

Florida, R., Mellander, C. and King, K. (2015) The Global Creativity Index 2015. Martin Prosperity Institute. Available at http://martinprosperity.org/content/the-global-creativity-index-2015/.

WEF and INSEAD (2016) The Global Information Technology Report 2016. World Economic Forum and INSEAD. Available at https://www.weforum.org/reports/the-global-information-technology-report-2016.

WIPO (2017) Intellectual property statistics database. IP Statistics Data Center. World Intellectual Property Organization. Available at http://ipstats.wipo.int/ipstatv2/index.htm.

World Bank (2017) World Development Indicator. World Data Bank. Available at http://data.worldbank.org/data-catalog/world-development-indicators.

ขอบคุณรูปภาพจาก realclearlife.com

 

Share via
Copy link
Powered by Social Snap