การอำนวยความสะดวกทางการค้า: ขุมทรัพย์หรือกับดักทางการค้า?

image-20150818-12421-kx8xdk

นับจากวันที่ 17 พฤศจิกายน 2014 ที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้มีฉันทามติเห็นชอบพิธีสารแก้ไขและผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) ที่ว่าด้วยการลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากรและการสร้างความชัดเจนด้านระเบียบและวิธีปฏิบัติ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก จนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017 ที่สมาชิก WTO จำนวน 112 ประเทศยื่นตราสารยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลกฯ หรือครบจำนวน 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิก WTO  (รูปที่ 1) ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นั่นคือ ประเทศที่เป็นสมาชิก WTO ต้องดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามหลักการ 4 ข้อ คือ การลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก (Simplification) ความกลมกลืน (Harmonization) มาตรฐานเดียวกัน (Standardization) และความโปร่งใส (Transparency)

หกหกหก

รูปที่ 1 สัตยายันยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก, WTO (2017)

ประเทศไทยได้ยื่นตราสารยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2015 ซึ่งมาตราการภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สำคัญ ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกฎระเบียบและพิธีการปฏิบัติทางศุลกากรของตนเอง (Information availability) ทำให้ประเทศสมาชิกเข้าถึงข้อมูลทางศุลกากรได้ดีขึ้น การออกคำวินิจฉัยล่วงหน้า (Advance rulings) ในเรื่องการจำแนกพิกัดสินค้าและถิ่นกำเนิดสินค้า การให้สิทธิในการอุทธรณ์หรือทบทวนคำสั่งศุลกากร (Appeal procedures) ทำให้ประเทศสมาชิกได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับข้อพิพาททางศุลกากร การชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและส่งออก (Fees and charges) ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ การมีกระบวนการดำเนินการล่วงหน้าก่อนสินค้าถึงปลายทาง (Release and clearance of goods) การกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Formalities) เช่น การให้บริการ ณ จุดเดียว (Single window) การมีเสรีภาพในการข้ามแดนโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการผ่านแดน (Freedom of transit) ทำให้ประเทศสมาชิกได้รับความสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และขั้นตอนชัดเจน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชายแดน (Border agency cooperation) และความร่วมมือระหว่างศุลกากร (Customs cooperation) ทำให้ประเทศสมาชิกมีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานเดียวกัน (สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร, 2559; WTO, 2014) ทั้งนี้ในทางทฤษฎีความตกลง TFA จะทำให้เกิดการลดต้นทุน (Cost) ลดความเสียหาย (Waste) และลดระยะเวลาการดำเนินงาน (Time) ปัจจุบันหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ถูกมอบหมายและเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการตามข้อตกลง TFA เช่น การวาง Trade Facilitation Roadmap ที่มีเป้าหมายทิศทางและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในการพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย และการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางค้าด้วยอิเล็คทรอนิกส์ (e-trade facilitation) ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อปรับปรุงการทำงานของการค้าข้ามพรมแดน เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศต่างๆ เราสามารถพิจารณาและเปรียบเทียบจากดัชนีชี้วัดที่เรียกว่า  Global Enabling Trade Index ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum (WEF)  หรือ ดัชนีชี้วัดการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Index) ที่จัดทำโดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) หรือ ดัชนีชี้วัดศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศของ Ease of Doing Business ที่จัดทำโดย The World Bank

การประเมินการอำนวยความสะดวกทางการค้าของโลก หรือ Global Enabling Trade Index พิจารณา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การเข้าถึงตลาด (Market access) (2) การบริหารจัดการจุดข้ามพรมแดน (Border administration) (3) โครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมและการสื่อสาร (Infrastructure) และ (4) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Operating environment) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าอยู่ในอันดับที่ 63 จาก 136 ประเทศ ลดลงจากการจัดอันดับในปี 2014 และ 2012 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 จาก 138 ประเทศ และ อันดับที่ 57 จาก 132 ประเทศ ตามลำดับ (รูปที่ 2) เมื่อพิจารณาเพียงปัจจัยการบริหารจัดการจุดข้ามพรมแดน หรือ ประสิทธิภาพและความโปร่งใสของพิธีการทางศุลกากร ซึ่งแสดงถึงศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า พบว่า ในปี 2016 ประเทศไทยมีระบบพิธีการทางศุลกากรที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสดีกว่าปีที่ผ่านมา  โดยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 44 สูงขึ้นกว่าปี 2014 และ 2012 ที่ถูกจัดอันดับที่ 56 และ 47 ตามลำดับ รวมทั้งค่าคะแนนของประสิทธิภาพและความโปร่งใสของพิธีการทางศุลกากรของไทยก็สูงขึ้นจากค่าคะแนนของปี 2014 และ 2012 เช่นเดียวกัน

ดก้

นอกจากนี้ หากพิจารณาศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย Trade Facilitation Indicator ซึ่งจัดทำโดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD, 2015) พบว่า ศักยภาพของประเทศไทยในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าคะแนนของประเทศ Best Practice (รูปที่ 3)

หกเก

รูปที่ 2: อันดับ Global Enabling Trade Index ของไทย ระหว่างปี 2012-2016, WEF (2016, 2014, 2012 )

หกเหกเ

รูปที่ 3: ศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย ปี 2012 และ 2015 (OECD, 2015)

กดหกเ

ตัวชี้วัดด้านเผยแพร่ข้อมูล (Information availability) ขั้นตอนการผ่านพิธีการ (Formalities–procedures) ความร่วมมือภายในระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (Internal border agency cooperation) และ ความร่วมมือภายนอกระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (External border agency cooperation) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศ Best practice ขณะที่ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนการค้า (Involvement of trade community) การวินิจฉัยล่วงหน้า (Advance rulings) กระบวนการอุทธรณ์ (Appeal procedures) ค่าธรรมเนียม (Fees and charges) การใช้เอกสารผ่านพิธีการ (Formalities–documents) การใช้ระบบ Automation ในการผ่านพิธีการ (Formalities–automation) และธรรมาภิบาลและความเป็นกลาง (Governance and impartiality) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศ Best practice อย่างไรก็ตามเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างปี 2012 และ 2015 กลับพบว่า ค่าเฉลี่ยของปี 2015 ต่ำว่าปี 2012

เมื่อพิจารณาการอำนวยความสะดวกทางการค้าจากดัชนีชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trading across border ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งภายในตัวชี้วัดการดำเนินธุรกิจ (Doing Business Index) ที่จัดทำโดย The World Bank พบว่า ในปี 2016 ไทยถูกจัดอันดับด้านการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 56 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2015 (ตารางที่ 2)

ฟหเเ

จากที่กล่าวมาข้างต้น การอำนวยความสะดวกทางการค้าถือว่าเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) การขยายห่วงโซ่การบริโภค (Demand chain) การเติบโตของประเทศ ตลอดจนการเพิ่มรายได้ประชาชาติของประเทศ ประเทศต่างๆ จึงพยายามสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น

ตารางที่ 2 ต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าและส่งออกของประเทศไทย ระหว่างปี 2015-2016

ดเดเ

ที่มา: The World Bank (2015, 2016)

แต่อย่างไรก็ตาม หากประเทศมุ่งเน้นเพียงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้ง hardware และ software เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการค้าและการลงทุนของประเทศ และ/หรือ รองรับการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออกของต่างประเทศ โดยปราศจากการวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจต่างๆของประเทศอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตและการตลาดของประเทศได้ ภาคการผลิตจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการขยายตัวทางการค้าที่รวดเร็ว การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ ด้านราคา หรือด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคการค้าแบบ Trade-Facilitation-driven นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำการติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความสมดุลของตลาดสินค้าของประเทศ การเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หากเป็นเช่นนั้น ประโยชน์ที่เราคิดว่าจะได้รับมากขึ้นจากการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า  อาจจะเป็นเหมือนกับดับหรือหลุมพรางที่รอคอยอยู่ในอนาคต

ณัฐพรพรรณ อุตมา

 

เอกสารอ้างอิง

ITC (2015) SMEs and the WTO Trade Facilitation Agreement A Training Manual. International Trade Center.

OECD (2015) Trade Facilitation Indicator Country Note: Thailand. Organisation for EconomicCo-operation and Development (OECD).

The World Bank (2015) Doing Business 2016 Measuring Regulatory Quality and Efficiency. International Bank for Reconstruction and Development/The World Bank.

The World Bank (2016) Doing Business 2017 Equal Opportunity for all. International Bank for Reconstruction and Development/The World Bank.

WEF (2012) The Global Enabling Trade Report 2012. World Economic Forum.

WEF (2014) The Global Enabling Trade Report 2014. World Economic Forum.

WEF (2016) The Global Enabling Trade Report 2016. World Economic Forum.

WTO (2014) Protocal Amending the Marrakesh Agreement Establishing the World Trade Organization. World Trade Organization.

WTO (2017) Trade Facilitation Agreement Database, World Trade Organization. Available at https://www.tfadatabase.org/ratifications.

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (2559) สรุปสาระสำคัญของการใช้ประโยชน์จากความตกลง TFA: โอกาสการค้าไทยสู่คู่ค้าอาเซียน. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า: โอกาสการค้าไทยสู่คู่ค้าอาเซียน ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2559 ณ โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพฯ: คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (คผท.) ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน).

คณะอนุกรรมาธิการกิจการสารสนเทศและการสื่อสาร (2559) สรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการกิจการสารสนเทศและการสื่อสารในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ครั้งที่ 80 (34/2559) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559.

สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร (2559)  WTO Trade Facilitation Agreement. Customs Policy Monitoring Unit (CPMU) News, ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ประจำเดือนกันยายน 2559, สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ประจำสถานเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์.

ขอบคุณรูปภาพจาก theindianeconomist.com

Share via
Copy link
Powered by Social Snap