โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล: เส้นทางสู่ความตกลงการค้าเสรีดิจิทัล
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ความร่วมมือกันของอาลีบาบากับรัฐบาลมาเลเซียในการพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zone : DFTZ) จะทำให้ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตปลอดภาษีดิจิทัล ถือได้ว่าได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากประชาชนของประเทศไทย เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาระหว่างการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 นายหม่า หยุน (Mr. Jack Ma) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด กับรัฐบาลประเทศไทยได้เข้าหารือและรับฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายในการลงทุนของอาลีบาบาในประเทศไทยเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับ e-commerce การพัฒนาระบบการชำระเงินออนไลน์ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs และเรื่อง Electronic World Trade Platform (eWTP) หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน นายราจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เดินทางเยือนจีนและได้พบปะกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เพื่อกระซับความสัมพันธ์สร้างความไว้วางใจทางการเมืองระหว่างกัน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อลดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศลงทุนประมาณ 34.25 พันล้านเหรียญสหรัฐในประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่ดิน โครงการสร้างท่าเรือนำลึก ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ และระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางการค้าของจีนเชื่อมโยงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ในการรองรับนโยบาย One Belt One Road
การพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (DFTZ) ในมาเลเซียจะทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Electronic World Trade Platform (eWTP) เป็นการสร้างเขตการค้าเสรีแบบดิจิทัล ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเชื่อมต่อกับการค้าทั่วโลกผ่านทาง e-commerce ได้อย่างสะดวก การอำนวยความสะดวกทางด้านศุลกากรแก่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การยกเว้นภาษี การลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และนี่ถือเป็น “ฮับอีคอมเมิร์ซ” แห่งแรกนอกประเทศจีนของอาลีบาบา
ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเหตุผลทางปัจจัยส่วนหนึ่งที่อาจทำให้อาลีบาบาเลือกประเทศมาเลเซียมากกว่าประเทศไทยในการลงทุนและพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (DFTZ) โดยคำนึกถึงปัจจัยดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index: NRI) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) และศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย Trade Facilitation Indicator
ดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index: NRI) ที่ว่าด้วยการประเมินความพร้อมด้านเครือข่ายของประเทศทั่วโลกในด้านสภาพแวดล้อม การเมือง การตลาด โครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของธุรกิจ ภาครัฐ และบุคคล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง Digital Economy ปัจจุบันดัชนีความพร้อมโครงข่าย มีการจัดอันดับครอบคลุมประเทศทั้งสิ้น 139 ประเทศ ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาการจัดอันดับดัชนีความพร้อมทางเครือข่าย ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม (Environment) ด้านความพร้อม (Readiness) ด้านการใช้ (Usage) และด้านผลกระทบ (Impacts)
เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับ ปี 2559 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 62 ของทั้งหมด 139 ประเทศ โดยมีปัจจัยธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (business and innovation environment) เป็นประเด็นที่ไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่น ๆ โดยอยู่ในอันดับที่ 48 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ไทยขยับขึ้นมาก คือ ความสามารถในการเข้าถึงการสื่อสาร (Affordability) อยู่อันดับ 64 รองลงมาปัจจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic impacts) อันดับที่ 74 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเปรียบเทียบการพัฒนาดัชนีความพร้อมโครงข่ายระหว่างปี 2555 กับปี 2559 จะเห็นได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลคอนเทน (Infrastructure and digital content) และการใช้งานของภาคประชาชน (Individual usage) มีความพร้อมอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ดัชนีความพร้อมด้านอื่นๆก็เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของประเทศ (ดังรูปที่ 1)
รูปที่ 1 ดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index) ของไทยปี 2555 และปี 2559
ที่มา: การวิเคราะห์โดย OBELS จากข้อมูลของ World Economic Forum
ขณะเดียวกันจากผลการจัดอันดับ ปี 2559 พบว่า ประเทศมาเลเซียอยู่อันดับที่ 31 ของทั้งหมด 139 ประเทศ โดยมีปัจจัยการใช้งานของภาครัฐ (Government usage) เป็นประเด็นที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่น ๆ โดยอยู่ในอันดับที่ 6 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มาเลเซียขยับขึ้นมาก คือ ปัจจัยทางธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Business and innovation environment) อยู่อันดับ 18 รองลงมาเป็นปัจจัยทางสภาพแวดล้อมทางการเมืองและกฎระเบียบ (Political and regulatory environment) อันดับที่ 24 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเปรียบเทียบการพัฒนาดัชนีความพร้อมโครงข่ายระหว่างปี 2555 กับปี 2559 จะเห็นได้ว่า การใช้งานของภาคประชาชน (Individual usage) การใช้งานของภาคธุรกิจ (Business usage) และธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (business and innovation environment) มีความพร้อมที่เพิ่มขึ้น มีเพียงความสามารถในการเข้าถึงการสื่อสาร (Affordability) ที่ลดลง ทั้งนี้ดัชนีความพร้อมด้านอื่นๆ มีแนวโน้มทรงตัว (ดังรูปที่ 2)
รูปที่ 2 ดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index) ของมาเลเซียปี 2555 และปี 2559
ที่มา: การวิเคราะห์โดย OBELS จากข้อมูลของ World Economic Forum
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index) ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเปรียบเทียบกันแล้วนั้น พบว่า ในปี 2555 ดัชนีความพร้อมโครงข่ายของไทยยังด้อยกว่ามาเลเซียค่อนข้างมาก มีเพียงความสามารถในการเข้าถึงการสื่อสาร (Affordability) เท่านั้นที่ประเทศไทยมีค่าดัชนีเฉลี่ยใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกันในปี 2559 ท่ามกลางการพัฒนาความพร้อมโครงข่ายของทั้งสองประเทศจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีค่าดัชนีความสามารถในการเข้าถึงการสื่อสาร (Affordability) ที่ดีกว่าประเทศมาเลเซียที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนดัชนีความพร้อมด้านอื่นๆ ของไทยยังคงด้อยกว่ามาเลเซียในปัจจัยหลักทางด้านสภาพแวดล้อม (Environment) ด้านผลกระทบ (Impacts) และด้านการใช้ (Usage) ได้แก่ ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมทางการเมืองและกฎระเบียบ (Political and regulatory environment) ธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Business and innovation environment) การใช้งานของภาคประชาชน (Individual usage) การใช้งานของภาคธุรกิจ (Business usage) การใช้งานของภาครัฐ (Government usage) และทักษะในการใช้เทคโนโลยี (Skills) (ดังรูปที่ 3)
รูปที่ 3 เปรียบเทียบดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index) ของไทยกับมาเลเซียปี 2555 และปี 2559
ที่มา: การวิเคราะห์โดย OBELS จากข้อมูลของ World Economic Forum
ขณะที่ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) ที่ว่าด้วยการลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากรและการสร้างความชัดเจนด้านระเบียบและวิธีปฏิบัติ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก หลังจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ถือว่าเป็นวันที่ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นั่นคือ ประเทศที่เป็นสมาชิกต้องดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามหลักการ 4 ข้อ คือ การลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก (Simplification) ความกลมกลืน (Harmonization) มาตรฐานเดียวกัน (Standardization) และความโปร่งใส (Transparency) ประเทศไทยได้ยื่นตราสารยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และได้แจ้งข้อบทที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (Category A) คิดเป็นร้อยละ 92 ของข้อบททั้งหมดภายใต้ความตกลง TFA ส่วนประเทศมาเลเซียได้ยื่นตราสารยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 และได้แจ้งข้อบทที่มาเลเซียพร้อมปฏิบัติได้ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (Category A) คิดเป็นร้อยละ 94.2 ของข้อบททั้งหมดภายใต้ความตกลง TFA ซึ่งมีความพร้อมปฎิบัติทันทีที่ความตกลงบังคับใช้ระดับสูงกว่าประเทศไทย
นอกจากนี้ หากพิจารณาศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย Trade Facilitation Indicator ซึ่งจัดทำโดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD, 2015) พบว่า ศักยภาพของประเทศไทยในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าคะแนนของประเทศ Best Practice (ดังรูปที่ 4)
รูปที่ 4 ศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย ปี 2012 และ 2015
ที่มา: OECD, 2015
ตัวชี้วัดด้านเผยแพร่ข้อมูล (Information availability) ขั้นตอนการผ่านพิธีการ (Formalities–procedures) ความร่วมมือภายในระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (Internal border agency cooperation) และ ความร่วมมือภายนอกระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (External border agency cooperation) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศ Best practice ขณะที่ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนการค้า (Involvement of trade community) การวินิจฉัยล่วงหน้า(Advance rulings) กระบวนการอุทธรณ์ (Appeal procedures) ค่าธรรมเนียม (Fees and charges) การใช้เอกสารผ่านพิธีการ (Formalities–documents) การใช้ระบบ Automation ในการผ่านพิธีการ (Formalities–automation) และธรรมาภิบาลและความเป็นกลาง (Governance and impartiality) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศ Best practice อย่างไรก็ตามเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างปี 2012 และ 2015 กลับพบว่า ค่าเฉลี่ยของปี 2015 ต่ำว่าปี 2012
ขณะเดียวกันศักยภาพของประเทศมาเลเซียในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าคะแนนของประเทศ Best Practice เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ซึ่งมีตัวชี้วัดด้านการใช้เอกสารผ่านพิธีการ (Formalities-documents) เพียงตัวชี้วัดเดียวที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศ Best practice อย่างไรก็ตามเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างปี 2012 และ 2015 กลับพบว่า ค่าเฉลี่ยของปี 2015 สูงกว่าปี 2012 (ดังรูปที่ 5)
รูปที่ 5 ศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย ปี 2012 และ 2015
ที่มา: OECD, 2015
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของทั้งสองประเทศ พบว่า ตัวชี้วัดด้านเผยแพร่ข้อมูล (Information availability) การมีส่วนร่วมของชุมชนการค้า (Involvement of trade community) การใช้ระบบ Automation ในการผ่านพิธีการ (Formalities-automation) ขั้นตอนการผ่านพิธีการ (Formalities-procedures) ความร่วมมือภายในระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (Internal border agency cooperation) และ ความร่วมมือภายนอกระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน (External border agency cooperation) ไทยมีค่าเฉลียสูงกว่ามาเลเซีย ในขณะที่ตัวชี้วัดด้านการวินิจฉัยล่วงหน้า (Advance rulings) ค่าธรรมเนียม (Fees and charges) การใช้เอกสารผ่านพิธีการ (Formalities-documents) ธรรมาภิบาลและความเป็นกลาง (Governance and impartiality) ไทยมีค่าเฉลียต่ำกว่ามาเลเซีย (ดังรูปที่ 6)
รูปที่ 6 เปรียบเทียบศักยภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยกับมาเลเซีย ปี 2015
ที่มา: OECD, 2015
ทั้งนี้จากการพิจารณาเปรียบเทียบดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index: NRI) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) และศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Indicator) ของทั้งสองประเทศจะเห็นได้ว่า ไทยยังด้อยกว่ามาเลเซีย ทางด้านสภาพแวดล้อม (Environment) ด้านผลกระทบ (Impacts) และด้านการใช้ (Usage) ของดัชนีความพร้อมโครงข่ายและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ถึงแม้ภาพรวมของศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าจะมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่ามาเลเซีย แต่ถ้าหากนักลงทุนคำนึกถึงธรรมาภิบาลและความเป็นกลางและค่าธรรมเนียมเป็นปัจจัยสำคัญ ท้ายสุดแล้วมาเลเซียก็ยังคงมีสภาพแวดล้อมที่น่าลงทุนมากกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Indicator) ทางด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนการค้า ความร่วมมือภายในระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน และความร่วมมือภายนอกระหว่างหน่วยงานที่พรมแดน ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของไทยที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศ CLMV
สิทธิชาติ สมตา
เอกสารอ้างอิง
OECD (2015) Trade Facilitation Indicator Country Note: Thailand. Organisation for EconomicCo-operation and Development (OECD).
WTO (2017) Trade Facilitation Agreement Database, World Trade Organization. Available at https://www.tfadatabase.org/ratifications.
World Economic Forum (2017) Networked Readiness Index, The Global Information Technology Report 2016. Available at http://reports.weforum.org/global-information-technology-report-2016/networked-readiness-index/
Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China (2016) Xi Jinping Meets with Prime Minister Najib Razak of Malaysia. Available at http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1413409.shtml
Alizila (2017) EWTP FINDS FIRST OVERSEAS BASE IN MALAYSIA. Available at http://www.alizila.com/ewtp-finds-base-malaysia/
South China Morning Post (2016) Xi Jinping seeks ‘cooperation’ as Najib Razak takes swipe at West. Available at http://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2042773/xi-jinping-seeks-cooperation-razak-najib-takes-swipe
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (2017) International Ranking. Available at https://www.etda.or.th/content/international-ranking-.html
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (2559) สรุปสาระสำคัญของการใช้ประโยชน์จากความตกลง TFA: โอกาสการค้าไทยสู่คู่ค้าอาเซียน. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า: โอกาสการค้าไทยสู่คู่ค้าอาเซียน ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2559 ณ โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพฯ: คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (คผท.) ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน).
ณัฐพรพรรณ อุตมา (2017) การอำนวยความสะดวกทางการค้า: ขุมทรัพย์หรือกับดักทางการค้า?. สำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ขอบคุณรูปภาพจาก www.ignite.digital