การทะลักของคลื่นคน คลื่นสินค้า และคลื่นทุนจากจีน
เป็นที่พูดถึงกันมาหลายครั้งเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของจีนแทนที่สหรัฐอเมริกา โดยจากสถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือนตุลาคม 2557 ได้รายงานว่าความเท่าเทียมของอำนาจในการซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) ของพลเมืองจีนอยู่ที่ประมาณ 17.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าพลเมืองสหรัฐอเมริกาที่มี PPP อยู่ที่ประมาณ 17.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถึงแม้ว่าอำนาจในการซื้อของจีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐมาได้เพียงไม่กี่ก้าว แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของจีนที่ในอนาคตจีนอาจจะเติบโตได้สูกว่ากว่าสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มูลค่าของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐยังคงสูงกว่าจีนอยู่อีกมาก
เมื่อเศรษฐกิจของจีนขยายตัวก็ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และรายได้ประชาชาติก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยอำนาจในการซื้อที่สูงขึ้นของพลเมืองจีน ทำให้ชาวจีนมีความต้องการที่จะใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น ซึ่งความต้องการที่มีอยู่ในประเทศสูงกว่าผลผลิตในประเทศที่มี จึงส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายเงินทุนไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาในฝั่งเอเชียตะวันออก
นอกจากเงินทุนจีนที่เริ่มหมุนเวียนไปทั่วโลก ชาวจีนจำนวนมากก็เริ่มเดินทางออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกเช่นกัน ตลอดจนสินค้าราคาถูกที่ผลิตและส่งออกจากจีนไปทั่วโลก จากความได้เปรียบของต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าประเทศอื่น
ทำให้ตอนนี้ความเป็นจีนกำลังเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในประเทศด้วยคลื่นคน คลื่นทุน และคลื่นสินค้าจำนวนมหาศาลที่ทะลักเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้รัฐบาล และประชาชนต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทันท่วงที
คลื่นคน
การเข้ามาของชาวจีนแผ่นใหญ่ในประเทศไทยค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเข้ามาเล่าเรียนในประเทศไทย ซึ่งทำให้จำนวนประชากรของคนจีนในไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อให้ชาวจีนมีการหลั่งไหลเข้ามา เช่น การพัฒนาของสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศ อิทธิพลจากภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน เป็นต้น โดยการเข้ามาของชาวจีนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทยเป็นอย่างมาก
เห็นได้ว่าตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก หรือภาคตะวันออก ก็จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการมากับบริษัทนำเที่ยว หรือเดินทางมากันเองก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของหนังภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” หรือ “ไท่จ่ง” ซึ่งถูกถ่ายทำที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวจีน
ประเทศไทยจึงกลายเป็นจุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนในการเข้ามาฉลองวันหยุดยาวอย่างตรุษจีน โดยการท่องเที่ยวของจีนสมัยใหม่จะนิยมขับรถมากันแบบคาราวาน เดินทางมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนผ่านเส้นทาง R3A มายังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ในอำเภอเชียงของ ที่เปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ธันวาคม 2556
ในเดือนมกราคม 2557 มีจำนวนรถท่องเที่ยวขาเข้าถึง 1,793 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ถึง 129% หากเทียบกับเดือนมกราคม 2556 ถือว่าเติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 738 แสดงว่าสะพานที่เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงราย กับแขวงบ่อแก้วเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งในปี 2557 ปริมาณรถท่องเที่ยวขาเข้าในเดือนกุมภาพันธ์สูงถึง 5,477 คัน สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเข้ามาท่องเที่ยวในของชาวจีนจะช่วยเพิ่มรายได้ และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศให้กับประเทศไทย แต่ผลกระทบจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนกลับส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไทย เช่น การล้างเท้าในอ่างล้างหน้า การทำลายทรัพย์สินในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจในกฎระเบียบของแหล่งท่องเที่ยวไทยอย่างชัดเจน ประกอบกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีน จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยจะต้องสร้างกติกาสากล พร้อมทั้งออกบทลงโทษแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นอกจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว ผู้ปกครองชาวจีนก็ยังนิยมส่งลูกหลานมาเรียนในไทยอีกด้วย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย เนื่องจากผู้ปกครองชาวจีนเห็นว่าการศึกษาไทยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง มีคุณภาพ และยังช่วยเพิ่มฐานเงินเดือนให้สูง รวมถึงวัฒนธรรมไทยสามารถอบรมให้เด็กจีนมีระเบียบวินัย และจิตใจโอบอ้อมอารี
เมื่อเด็กจีนสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะทำงานในประเทศไทยต่อ เพราะประเทศไทยมีโอกาสในการทำงานสูงกว่าในประเทศจีน ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นพร้อมด้วยการแข่งขันที่สูงตามมา
ทั้งนี้ อุปสงค์ความต้องการแรงงานของไทยก็ต้องการแรงงานที่มีทักษะในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษ และภาษาจีนอย่างคล่องแคล่วเช่นกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแรงงานไทยที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแรงงานจีนในตลาดแรงงานไทยให้ได้
ฉะนั้น ผลกระทบจากการเข้ามาของชาวจีนมีทั้งเชิงบวกและก็เชิงลบ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการ และนโยบายที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกฎกติกา การให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวจีน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ รวมถึงความร่วมมือกับรัฐบาลจีน เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน ตลอดจนเพิ่มบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่สำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมเพื่อไม่ให้นำมาสู่ความขัดแย้ง
คลื่นทุน
เมื่อทุนในจีนมีมากมายมหาศาลที่ถูกเก็บรวบรวมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถที่จะลงทุนภายในประเทศจีนอย่างเดียวได้ ทุนจีนจึงเริ่มที่จะขยายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอย่างไทย กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ จนเข้าควบคุมกิจการเกือบทุกอย่าง และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาในที่สุด
โดยเฉพาะในด้านของการให้เงินช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ที่มีความสำคัญให้การเชื่อมโยงจากประเทศจีนไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน
การรุกคืบของทุนจีนเห็นได้ชัดในบริเวณของพื้นที่ชายแดนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายแดนของไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่พิเศษที่มีเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศในการทำการค้า และมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ถูกสร้างเสร็จ ยิ่งส่งผลให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจชาวจีนให้เข้ามาทำการค้าได้มากยิ่งขึ้น
ตอนนี้มีการเข้ามาของทุนจีนในด้านโลจิสติกส์อย่างในเชียงรายที่มีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ในอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ในแผนการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่สอง ปี 2559 นอกจากนั้นในฝั่งตรงข้ามของอำเภอเชียงของยังมีการเข้ามายึดพื้นที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วในการปลูกยางพารา และกล้วยหอม รวมถึงพืชเศรษฐกิจอย่าง อินชินัท เพื่อป้อนสินค้าให้กับตลาดจีน
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนชาวจีนสามารถเข้าทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น
โดยทุนจีนมีจุดประสงค์หลักที่จะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น น้ำมันดิบจากเมียนมา ซึ่งตอนนี้รัฐบาลจีนได้ทำร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซในเมียนมาร์เกี่ยวกับการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากเมียนมาไปยังจีน และได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
สรุปได้ว่าผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive Externalities) คือ มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือทำให้เกิดการพัฒนาของเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ กระนั้น ผลกระทบภายนอกในเชิงลบ คือ ก็สร้างต้นทุนให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ที่เสียเปรียบในด้านเงินทุน และเทคโนโลยี ตลอดจนการที่ถูกแย่งทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต
ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับทุนจีนที่จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ในการผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก เช่น ในด้านของการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การให้งบประมาณที่การวิจัยศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าไทย เป็นต้น
คลื่นสินค้า
สินค้าจีนถือว่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูก เนื่องจากต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานมีราคาถูกกว่าหลายประเทศทั่วโลก ทำให้สินค้าจากจีนสามารถเข้าตีตลาดในประเทศต่างๆทั่วโลกได้ง่าย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ป้อนให้กับตลาดโลก แม้ว่ายังจะไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศก็ตาม ทั้งนี้ จีนได้มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยผ่านเส้นทาง R3A ที่เชื่อมต่อจากจีนตอนใต้ ผ่านสปป.ลาวมายังจังหวัดเชียงราย
จากข้อมูลของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ใบชา ถือเป็นสินค้ากสิกรรมที่มีมูลค่าการนำเข้าจากจีนที่มีการเติบโตสะสมสูงสุด (Compound Average Growth rate: CAGR) ตั้งแต่ปี 2550-2556 อยู่ที่ 252% โดยในปี 2550 การนำเข้าชาจากจีนมีมูลค่าอยู่เพียง 5,000 บาท ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการนำเข้า จนปัจจุบันอยู่ที่ 2.72 ล้านบาท
สินค้ากสิกรรมที่มีมูลค่าการนำเข้ารองมาคือ ผลไม้ ที่มีการเติบโตสะสมของมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 80% โดยเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ต่อมาได้แก่ พืชผักสดที่มีการเติบโตสะสมอยู่ที่ 37% ซึ่งพืชผักสดนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552-2556 ปัจจุบันมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,112.22 ล้านบาท
ปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการเกษตรเป็นอย่างมาก และมีการส่งเสริมด้านการเกษตรอย่างจริงจังในด้านการผลิตสินค้าเกษตรแบบออร์แกนิก หรือปลอดสารพิษ เนื่องจากได้ความนิยมจากหลายประเทศในทวีปยุโรป ทำให้สินค้าเกษตรจากจีนมีความได้เปรียบในตลาดอาเซียน และในตลาดโลก และล้ำหน้าประเทศไทยที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในโลก
การเข้ามาตีตลาดของสินค้าเกษตรจีนในประเทศไทย เป็นเหตุให้เกษตรกรและรัฐบาลไทยต้องทบทวนวิถีการเกษตรของไทยใหม่ว่า ยังคงสามารถแข่งขันกับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนและจีนได้หรือไม่
จากการเข้ามาของคลื่นคน คลื่นทุน และคลื่นสินค้า กลายเป็นความท้าทายที่นักธุรกิจที่ต้องทบทวนโอกาสในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก และเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรพิจารณาควรจะตั้งกติกาให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ มากกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะในโลกของการค้าเสรี เราไม่สามารถที่จะควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้า คน และเงินทุนได้
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศได้ คือ ตั้งกฎกติกาที่ให้ชาวจีนที่เป็นทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้ามาปฏิบัติตาม และพยายามผลักดันให้สินค้ามีความสามารถในการแข่งขันในเชิงการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทย รวมถึงการเพิ่มทักษะทางด้านภาษา และเทคโนโลยีให้แก่แรงงานไทย
พรพินันท์ ยี่รงค์
มีนาคม 2557
เอกสารอ้างอิง
- จีนแซงสหรัฐฯ ขึ้นแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก
- เตรียมพร้อมตรุษจีน 2556 นักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยหลักแสน
- สถิติการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศจีนตอนใต้
- คนจีนฮิตส่งลูกเรียนมหาลัยไทยเชื่อมั่น ถูก-ดี-มีคุณภาพ จบได้เงินเดือนสูง
- ทุนจีนเท 6 พันล. ปั้นโลจิสติกส์ฮับรับ R3A บูม
- เจาะลึกเส้นทางสายไหม R3A จีนกุมพืช ศก. ยาง-ผักออร์แกนิก
- จีน-ญี่ปุ่น รุมจีบ เมียนมาร์ ธุรกิจท้องถิ่นกังวลถูกแย่งทรัพยากร
ขอบคุณรูปภาพจาก reddit.com