วรรณกรรมชายแดนปริทัศน์ กับ ทุนนิยมชายแดน นิคมยางพารา และการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในลาวใต้

หลังจากที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปีค.ศ. 1973 ลาวได้ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปีค.ศ. 1975 และปีค.ศ. 1986 ชนชั้นนำลาวได้หันเหทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ในประเทศการที่จะพัฒนาประเทศให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนชุดความรู้คำอธิบาย เพื่อรองรับและสร้างความชอบธรรมให้กับการพัฒนานั้น ด้วยความที่หลังปี ค.ศ.1975 ลาวมีระบบการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ดังนั้นในทางกฎหมายแล้วเท่ากับว่าการตัดสินใจ การออกแบบแผนพัฒนา และอำนาจทุกอย่างต้องรวมอยู่ภายใต้รัฐบาลกลางเพียงหน่วยงานเดียว ส่งผลให้การสร้างฉันทามติของการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจากเพียงส่วนกลางเพียงส่วนเดียว

แต่ในความเป็นจริงอำนาจท้องถิ่นของชนชั้นนำในแขวงต่างๆก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่เช่นกัน เป็นช่องว่างทำให้ชนชั้นนำในท้องถิ่นอ้างอิงฉันทามติของรัฐส่วนกลาง เพื่อเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในพื้นที่ให้กลายเป็นทุน ด้วยชุดความรู้คำอธิบายว่าทรัพยากรในลาวโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณค่าตามแนวทางทุนนิยม จึงอนุญาตให้บริษัทเอกชนต่างชาติ (จีน เวียดนาม และไทย) เข้ามาใช้ทรัพยากรของชาวบ้านเพื่อทำ “นิคมเกษตรกรรมยางพารา”

นอกจากความรู้คำอธิบายที่ว่าการใช้ที่ดินของชาวบ้านไม่ได้เป็นไปตามแนวทางทุนนิยม แล้วยังกลายมาเป็นอำนาจที่ติดมากับความรู้จนทำให้ชาวบ้านต้องสยบยอม จนต้องยอมรับเงื่อนไขการเวนคืนที่ดินเพื่อแปรรูปไปเป็นนิคมเกษตรกรรมยางพารา ส่งผลให้ชาวบ้านกลายเป็นเพียงแรงงานในนิคมดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่เงินชดเชยจากการการเวนคืนที่ดิน และรายได้แทบจะไม่พอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องจำยอมเพราะไม่มีปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ติดตัวอีกต่อไปแล้ว

งานชิ้นนี้ได้นำเสนอคำอธิบายที่ว่ากระบวนการพัฒนาจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นไม่ได้ราบเรียบ และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเรียกว่ากลไกตลาด เพราะช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวได้สร้างความเจ็บปวดให้กับคนในพื้นที่ เพียงเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองใดๆเลย เป็นการตอกย้ำว่าทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่เป็นมิตรกับชนชั้นล่าง หรือแม้แต่ช่วยขยับช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้แคบลง นอกจากนั้นแล้วยังเสนอว่าทุนในยุคโลกานุวัตร (globalization) สามารถทะลุทะลวงพรมแดนแห่งรัฐชาติเข้าไปในรัฐที่โหยหาการพัฒนาได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่งานชิ้นนี้ยังไม่ได้ฉายให้เห็นชัดมากนักก็คือทุนกับความเป็นพรมแดนในลักษณะการข้ามพรมแดนจากพรมแดนหนึ่งไปสู่พรมแดนอีกแห่งหนึ่งว่ามีกลไกการทำงานอย่างไรหากแต่เห็นชัดในรูปแบบของทุนข้ามชาติในระดับรัฐแล้วลงไปสู่พื้นที่ชายแดน ซึ่งถูกอธิบายอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา ทุนข้ามพรมแดนอาจอยู่ในลักษณะที่เจ้าของทุนเป็นคนในพื้นที่ชายแดนแล้วใช้เครือของคนชายแดนด้วยกันเอื้อให้ทุนไหลไปยังอีกชายแดนหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้เราเห็นความเป็นชายแดนที่อัดแน่นไปด้วยการไหลของทุนอันเกิดจากการสะสมของคนในพื้นที่เองก็เป็นไปได้

ปฐมพงศ์ มโนหาญ
ตุลาคม 2557


เอกสารอ้างอิง

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2554). ทุนนิยมชายแดน: นิคมเกษตรกรรมยางพารา และการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในภาคใต้ของลาว.
เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 1.

ขอบคุณรูปภาพจาก pantip.com

Share via
Copy link
Powered by Social Snap