การส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนไทย-ลาว สู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจภูมิภาค

ในทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีความพยายามที่จะส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกบริเวณชายแดนไทย-ลาวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 109,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายแดนของไทยบริเวณชายแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือกับสปป.ลาว มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เริ่มใช้งานในปี 2552

ทำให้ประชาชนชาวไทยและลาวสามารถข้ามไปมาหากันได้ผ่านทางสามจังหวัดที่ติดกับชายแดนทางภาคตะวันออกฉียงเหนือ สปป.ลาว ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ซึ่งในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกจากไทยไปลาวเติบโตสูงขึ้นถึง 34.4% จากปี 2554 เนื่องจากการค้าชายแดนมีการขยายตัว โดยเฉพาะในจังหวัดมุกดาหารที่มีมูลค่าการค้าชายแดนมากกว่า 28,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 26% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปสปป.ลาว ซึ่งสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ณ ด่านชายแดนจังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค (กรมการค้าต่างประเทศ, 2013)

ดังนั้น เพื่อรองรับให้เกิดการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของการค้าชายแดนในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับสปป.ลาว รัฐบาลสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการค้าชายแดนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น การเพิ่มพื้นที่พักสินค้าและโกดังเก็บสินค้าชั่วคราว การปรับปรุงระบบด่านศุลกากร การพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการลงทุน รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน

ทั้งนี้ การผลักดันเศรษฐกิจการค้าชายแดนต้องมีการหาวิธีรองรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงในอนาคตอันใกล้นี้

หากมองในแง่ภูมิศาสตร์ยังคงมีอีกหลายจากหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของไทยที่สามารถกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้ เช่น จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น ซึ่งจังหวัดเหล่านี้สามารถรวมกลุ่มเป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านการผลิตและการส่งออก รวมทั้งยังสามารถเป็นศูนย์กลางทางด้านระบบโลจิสติกส์ (Logistics Hub) โดยอาศัยความได้เปรียบในแง่ภูมิประเทศและความพร้อมทางด้านทรัพยากรการผลิต

อีกทั้งยังสามารถขยายผลไปสู่การเกิดเขตการค้าชายแดนใหม่ตามแถบชายแดนของแต่ละจังหวัด และอาจพัฒนาไปสู่การค้าข้ามแดนไปที่ประเทศจีนตอนใต้ผ่านทางเขตเศรษฐกิจบ่อแก้วของประเทศลาว ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าหรือวัตถุดิบเชิงอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างสูง

กล่าวโดยสรุปการผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดนของประเทศไทยบริเวณจังหวัดที่มีเขตแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างผลประโยชน์อันมหาศาลต่อการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสทางธุรกิจและมีงานทำมากขึ้น

 

ธนาภัทร บุญเสริม
ตุลาคม 2555


ขอบคุณรูปจาก ข่าวสั้นทันใจ

Share via
Copy link
Powered by Social Snap