สำรวจการเติบโตของพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์
จังหวัดท่าขี้เหล็กเป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในบริเวณชายแดนของรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ อยู่กับติดกับบริเวนพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย โดยมีแม่น้ำสายคั่นกลางระหว่างสองเมือง ก่อนจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อปี 2485 หลังจากสร้างด่านศุลกากรแม่สายขึ้นแล้วในปี 2473
ต่อมาเศรษฐกิจและการค้าชายแดนเริ่มมีบทบาท และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องขยายสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลไทยจึงได้มีการประสานงานกับรัฐบาลเมียนมาร์ยุคก่อนเปิดประเทศ ในการทำการก่อสร้างสะพานแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ที่เปิดใช้งานในปี 2552 พร้อมกับด่านศุลกากรแม่สายแห่งใหม่ เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 มีทางเดิมคับแคบ และอยู่ในย่านชุมชน จึงไม่สามารถที่จะขยายเพื่อเพิ่มช่องจราจรได้
พอเริ่มมีการพัฒนาสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ หรือการปรับปรุงถนนสายหลักอย่างเส้นทาง R3B ทำให้การค้าบริเวณชายแดนอำเภอแม่สาย และท่าขี้เหล็กมีความสำคัญมากขึ้น พร้อมทั้งยังแผ่ขยายการค้าผ่านแดนไปยังจีนตอนใต้อีกด้วย
ศักยภาพทางการลงทุนของเมียนมาร์อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเมียนมาร์มีต้นทุนในการจ้างแรงงานที่ถูก มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายให้นักลงทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในการผลิตสินค้า จากการใช้สิทธิประโยชน์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตรที่มีชายแดนเชื่อมต่อถึง 4 ประเทศ จีน ไทย อินเดีย และบังคลาเทศ จึงดึงดูดให้เงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ให้ทะลักเข้ามายังเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง
เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของเมียนมาร์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าบริเวณชายแดนท่าขี้เหล็ก-แม่สาย ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่พิเศษที่สามารถบริหารจัดการให้แตกต่างกับพื้นที่อื่น โดยไม่ต้องเป็นรูปแบบเดียวกับการพัฒนาทั่วไป เช่นการผลักดันนโยบายเฉพาะให้เกิดในบริเวณดังกล่าวได้ จากการสนับสนุนของเอกชน หรือรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในพื้นที่ชายแดน
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 สำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (OBELS) ได้ลงสำรวจพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ในระยะสั้น และได้พบปะพูดคุยกับผู้รู้จักในพื้นที่ พบว่าสามปีที่ผ่านมา เมืองชายแดนท่าขี้เหล็กมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไปค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นที่เราได้สังเกตเห็นจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ประกอบด้วย สภาพที่อยู่อาศัย และราคาที่ดิน แหล่งบันเทิงและการพนัน ระบบการขนส่งและคมนาคม ระบบการวางผังเมือง ประชาชนที่อยู่อาศัย การค้าและการลงทุน แหล่งท่องเที่ยว และภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
สภาพที่อยู่อาศัย การจัดวางผังเมือง และราคาที่ดิน
ตึกรามบ้านช่องในจังหวัดท่าขี้เหล็กได้ถูกก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรียงรายอย่างมากมาย จากเดิมที่เคยมีการปลูกบ้านชั้นเดียวไม่ใหญ่โตมากไปตามถนนสายหลัก นักธุรกิจก็เริ่มเข้ามาลงทุนในการก่อสร้าง ตึกสูง อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรมากขึ้น หากมองจากภาพมุมสูงที่เจดีย์สะเวยดากองจำลองจะทำให้สามารถมองเห็นเมืองท่าขี้เหล็กได้อย่างชัดเจน
จะเห็นว่าการสร้างบ้านหรือตึกกระจัดกระจายดูไม่เป็นระเบียบ เหมือนกับไม่ได้มีการจัดผังเมืองอย่างเป็นระบบ ขาดการวางโครงสร้างผังเมืองที่ดี เมื่อเมืองมีการเจริญเติบโตขึ้น สิ่งปลูกสร้างก็จะเพิ่มขึ้นตามเช่นกัน ส่งผลให้หลายบริเวณมีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นมากเกินไป เป็นเรื่องท้าทายสำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนอย่างท่าขี้เหล็กที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลง และการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า อย่างการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น
จากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่พบว่า ราคาที่ดินในท่าขี้เหล็กนั้นมีราคาสูงกว่าอำเภอแม่สายถึงสามเท่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับพื้นที่ที่มีการเติบโตสูง ก็จะตามมาด้วยนักลงทุนจากทั่วสารทิศเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร รวมถึงการที่เมียนมาร์ยังคงไม่มีมาตรการ หรือกฎหมายที่เข้ามาควบคุมราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินในท่าขี้เหล็กนั้นมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ได้อิงตามราคาหรือกลไกตลาดแต่อย่างใด จึงเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งราคาที่ดินมีราคาสูงถึงประมาณ 7 – 8 ล้านบาทต่อที่ดินหนึ่งแปลง
สถานบันเทิง และบ่อนคาสิโน
สถานบันเทิงสำหรับวัยรุ่น หรือผู้ที่รักในชีวิตกลางคืนก็มีตัวเลือกที่จำกัดมาก เมื่อผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า สถานที่เดียวที่วัยรุ่นจะเข้าไปเที่ยวหาความบันเทิง ราวกับเป็น RCA ขนาดเล็กของกรุงเทพ คือ โรงแรม 9 ชั้น ที่จะสามารถให้ความเพลิดเพลินใจแก่ผู้คนในบริเวณชายแดนได้อย่างดี ซึ่งเจ้าของธุรกิจก็จะมีการจ้างนักร้อง และนักแสดงชื่อดังจากประเทศไทยไปยังสถานที่ดังกล่าว
เนื่องจากสื่อและโฆษณาของไทยเป็นที่นิยมสำหรับชาวเมียนมาร์ จึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นสถานบันเทิงอย่างครบวงจรที่มีบริการที่พัก บ่อนกาสิโน และสถานบันเทิง ซึ่งปัจจุบันการเกิดขึ้นของธุรกิจที่เป็นโรงแรมพ่วงบ่อนกาสิโนนั้นเริ่มมีการเติบโตขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งไม่ได้ดึงดูดแค่ชาวเมียนมาร์ให้เข้าไปแสวงหาโชค แต่ยังดึงดูดนักพนันต่างชาติ เช่น นักพนันชาวจีนกระเป๋าหนัก ให้แห่กันเข้ามาแสวงหาสิ่งพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่มีในประเทศของตนเอง
ตามกฎหมายของเมียนมาร์ไม่ได้บ่งบอกว่าการพนันเป็นสิ่งกฎหมาย ทำให้การพนันกลายเป็นเรื่องธรรมดาในทุกพื้นที่ในประเทศเมียนมาร์รวมถึงบ่อนคาสิโนด้วย จึงมีนักลงทุนชาวไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปเปิดกิจการอย่างโรงแรม 9 ชั้นในจังหวัดท่าขี้เหล็ก เนื่องจากกฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมายในประเทศ กลุ่มทุนขนาดใหญ่จึงหันหน้าเข้าหาพื้นที่ชายแดนอย่างท่าขี้เหล็ก
ทั้งนี้ จากการเข้าไปสำรวจในพื้นที่ของตลาดอาข่า ซึ่งเป็นตลาดท้องถิ่นที่ขายสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลไม้ ผัก ฯลฯ พบว่ามีกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าได้เปิดวงเล่นการพนันอย่างเป็นกิจลักษณะในที่สาธารณะ ราวกับว่าเป็นสิ่งปกติที่จะพบได้ในเมียนมาร์ จึงกลายเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เห็นถึงการละเลยของกฎหมายเมียนมาร์ต่อการพนัน
คมนาคม และการขนส่ง
การเดินทางและการขนส่งในเมืองท่าขี้เหล็ก นิยมใช้สามล้อ และรถสองแถว ที่วิ่งจากชายแดนท่าขี้เหล็กไปยังด่านเก็บเงินข้ามเมือง และชาวท่าขี้เหล็กส่วนใหญ่มักจะมีรถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากรถยนต์ที่จำหน่ายในเมืองท่าขี้เหล็กนั้นมีราคาค่อนข้างถูก เพราะรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีรถยนต์อย่างประเทศไทย หรือสปป.ลาว และรถยนต์ที่ใช้ในพื้นที่จะเป็นรถยนต์นำเข้าหลายสัญชาติ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่แทบทั้งนั้น และยังเป็นรถที่มียี่ห้อ โดยที่บางยี่ห้อก็ไม่มีให้เห็นในประเทศไทย เนื่องจากเป็นรถสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงจากประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมียนมาร์เกิดจากการที่รัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายการทดแทนรถยนต์เก่า (Old Car Replacement Plan) และยังอนุญาตให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี สามารถนำเข้ารถยนต์ใหม่มาใช้โดยตรง ทำให้มีกลุ่มบริษัทต่างชาติแห่กันเข้ามาเจาะตลาดเมียนมาร์
เมียนมาร์ยังมีปัญหาเรื่องการจัดระเบียบการจราจร และเส้นทางคมนาคมที่หลายจุดยังคงชำรุด และคับแคบ หากในอนาคตเมืองท่าขี้เหล็กมีการเติบโตมากขึ้น รัฐบาลเมียนมาร์ควรที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ให้มาก ทำให้ท่าขี้เหล็กจะยังไม่พร้อมสำหรับการทำอุตสาหกรรม
จังหวัดท่าขี้เหล็กมีท่าอากาศยานในพื้นที่ แต่เป็นท้องถิ่นที่รองรับการเดินทางภายในประเทศเพียงเท่านั้น ต่างกับจังหวัดเชียงรายที่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่สามารถบินออกไปนอกประเทศได้ ทำให้ท่าอากาศยานเชียงรายมีศักยภาพและความพร้อมมากกว่า ส่วนใหญ่สนามบินท่าขี้เหล็กจะใช้ขนส่งทั้งคนและของไปยังเมืองเชียงตุง ตองจี และย่างกุ้ง
อย่างไรก็ตาม ระบบการบินของเมียนมาร์ยังคงล้าสมัย และมีความเป็นพื้นที่อยู่มาก เช่น สายการบินต่างๆยังมีการใช้รถเข็นในการขนกระเป๋าเดินทางอยู่ โดยผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า นักเดินทางไม่สามารถยกกระเป๋ามาจากข้างนอกได้ ต้องใช้บริการรถเข็นดังกล่าวเท่านั้น ถ้าใครยกเข้ามาเองจะต้องยกออกไปข้างนอกอีกรอบ เพื่อให้พนักงานเข็นกระเป๋าเข้ามาในตัวท่าอากาศยาน ในอนาคตข้างหน้าคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับจังหวัดท่าขี้เหล็กที่จะปฏิรูประบบการจัดการของการบินในท่าขี้เหล็กใหม่ เพื่อที่จะสามารถรองรับการเติบโตของพื้นที่ชายแดน
ประชาชนที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม และอาชีพทำกิน
ผู้อยู่อาศัยในจังหวัดท่าขี้เหล็กส่วนใหญ่มีหลากหลายชนเผ่า เช่น ชาวว้า ไทยใหญ่ คนจีน และคนไทยยังคงมีไม่มากนัก การอยู่อาศัยจึงแบ่งเป็นพื้นที่ของแต่ละชนเผ่าอย่างชัดเจนว่า ชนกลุ่มใดอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด จากการสำรวจพบว่าชาวท่าขี้เหล็กมีอาชีพหลักเป็นการค้าขาย การทำการเกษตร และการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการค้าขายนั้นจะมีการค้าขายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติที่เข้ามาบริเวณชายแดนท่าขี้เหล็ก
ทั้งนี้ การเกษตรของเมืองท่าขี้เหล็กจะเน้นเป็นการทำนา และการปลูกยางพาราเป็นส่วนใหญ่ ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวท่าขี้เหล็กนิยมเพาะปลูกมาก พิจารณาจากสองข้างทางที่เรียงรายไปด้วยสวนยางพารา และการมองภาพจากวัดโมนินในมุมสูง อุปทานของสินค้าเกษตรยังไม่หลายหลาก อาจทำให้เกษตรกรท่าขี้เหล็กต้องเผชิญปัญหา เช่น ปัญหาราคายางตกต่ำจากอุปสงค์ยางพาราล้นตลาด เป็นต้น
นอกจากนั้นในเมืองท่าขี้เหล็กยังไม่มีโรงงานที่ทำการแปรรูปน้ำยางดิบในปริมาณมาก ซึ่งปกติแล้วเกษตรกรชาวท่าขี้เหล็กจะมีการทำนาสลับกับการกรีดยาง โดยในหน้าฝนจะสามารถผลิตข้าวได้ดี แต่จะไม่สามารถกรีดยางได้ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำยางที่กรีดออกมาจะไม่ได้มาตรฐาน
ในด้านของวัฒนธรรมที่ยังคงเด่นชัด และที่ยังดำรงอยู่ คือ วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นอาหารว่างในช่วงเที่ยงวัน สังเกตจากการมีสถานที่จำหน่ายชา และการดื่มชาในพื้นที่ ซึ่งในร้านน้ำชาจะมีการเปิดเพลงบริการลูกค้า เนื่องจากชาวพม่ามีความชื่นชอบในการฟังเพลง และร้องเพลงเป็นอย่างมาก
การค้าและการลงทุน และด่านการค้าชายแดน
ส่วนใหญ่การค้าจะเป็นการค้าปลีกค้าส่งเป็นส่วนไปตามเส้นทาง R3B เป็นหลัก โดยมุ่งตรงจากเมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่บริเวณชายแดนเมียนมาร์ และเมืองลา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่บริเวณชายแดนจีน โดยมีการพบธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์มือสอง ธุรกิจเสริมความงาม (เช่น บริษัท unicity) และโรงแรม ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ที่คาดว่าจะมีการเปิดดำเนินการในไม่ช้านี้ แต่ยังคงมีอุปสรรคสำหรับนักธุรกิจรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาเปิดธุรกิจในพื้นที่นี้ เนื่องจากระบบการบริหารจัดการยังมีรูปแบบเชิงอุปถัมภ์อย่างมาก
แหล่งท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดท่าขี้เหล็กจะเป็นวัด ซึ่งมีกระจายอยู่ในหลากหลายพื้นที่ เนื่องจากชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่มีการนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในจังหวัดท่าขี้เหล็กจะเป็นวัดเป็นหลัก อาทิ เจดีย์สะเวยดากองจำลอง เป็นเจดีย์ที่จำลองจากเจดีย์สะเวยดากองของจริงใน หมู่บ้านอาข่า และตลาดสินค้าชายแดน เป็นต้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากการสำรวจ จังหวัดท่าขี้เหล็กมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการเติบโตของธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น จากการเปิดประเทศของเมียนมาร์ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ที่ตั้งอยู่บน และใกล้เส้นทางที่ใช้ในการขนส่งสินค้า R3B จะมีการพัฒนามากกว่าพื้นที่อื่น
เนื่องจากรัฐบาลเน้นความสำคัญไปที่การอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นใหญ่ ไม่ต่างจากฝั่งประเทศไทยที่มีนโยบายจังหวัดที่เน้นไปในเส้นทางขนส่งทางการค้าเช่นกัน ในด้านของกฎหมาย เรื่อง การควบคุมราคาที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในลงมาที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังคงมีการพิจารณาในด้านการพัฒนาระบบภายใน เช่น สนามบินท้องถิ่นยังมีการใช้ระบบเชิงพื้นที่ เมื่อเมืองมีการเติบโตควรจะมีการพัฒนาระบบดังกล่าวควบคู่ไปด้วย ในอนาคตข้างหน้าท่าอากาศยานท่าขี้เหล็กอาจจะกลายเป็นท่ากาศยานสำคัญในการขนส่งสินค้า และคนไปยังที่ต่างๆ จนถึงขั้นมีการยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ และมีจำนวนผู้โดยสารไม่น้อยไปกว่าท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย นอกจากนั้นถนนยังคงมีการชำรุด ทรุดโทรมอยู่หลายแห่ง ทำให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างลำบาก
ในภาพรวม จังหวัดท่าขี้เหล็กยังเป็นเมืองที่เพิ่งเกิด สามารถพัฒนาและเติบโตไปได้อีกอย่างมาก แต่รัฐบาลเมียนมาร์ต้องมีการประสานงาน การจัดการ และการบริหารที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบอุปถัมภ์ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับตัวพื้นที่ ที่ไม่ว่าจะหันซ้าย หรือหันขวา ก็คงจะต้องดูว่าสัญญาณที่ส่งมาเป็นไฟเขียว หรือไฟแดง
ณัฐพรพรรณ อุตมา, พรพินันท์ ยี่รงค์, ภาคภูมิ มาประสบ, ชัยวัฒน์ ดวงแก้ว
สิงหาคม, 2558
ขอบคุณภาพจาก Talontody