ฤาจะต้องการเพียง…เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย
จังหวัดเชียงรายมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศจีนตอนใต้ โดยการขนส่งผ่านเส้นทาง R3A, R3B และทางเรือ และมีมูลค่าการค้าชายแดนเป็นอันดับที่ 7 จาก 31 จังหวัดชายแดน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านการค้าและการลงทุน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จังหวัดเชียงรายได้รับเลือกให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ในปีพ.ศ. 2559 โดยมีการกำหนดพื้นที่การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย 3 อำเภอชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ประเด็นที่สำคัญในการพัฒนา ประกอบด้วย
- เป็นพื้นที่ให้ใช้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน
- การบริการแบบเบ็ดเสร็จที่เดียวพร้อมสนับสนุนแรงงานต่างด้าว
- การพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และ
- การพัฒนาระบบศุลกากรให้เป็นสากล
การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนให้มีความยั่งยืนนั้น สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าชายแดน (Border value chain) ดังนั้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าชายแดนนั้นอาจจะเริ่มต้นจากการกำหนดพื้นที่หลักและพื้นที่ร่วมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น
- พื้นที่หลักอำเภอแม่สาย พื้นที่ร่วม ได้แก่ อำเภอแม่จัน-ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์
- พื้นที่หลักอำเภอเชียงแสน และพื้นที่ร่วม ได้แก่ อำเภอแม่จัน บ้านต้นผึ้ง ประเทศลาว และ
- พื้นที่หลักอำเภอเชียงของ และพื้นที่ร่วม ได้แก่ อำเภอเวียงแก่น ห้วยทราย ประเทศลาว
เปรียบเสมือนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าชายแดน (border value creation) จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเชื่อมต่อการกำหนดภาคการผลิตที่มีศักยภาพ (potential sector) และคลัสเตอร์การผลิต (cluster) ว่าอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนของธุรกิจประเภทใด ควรมีลักษณะการพัฒนาในฐานะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ
ทั้งนี้หลักการของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ควรมีการกำหนดกรอบเชิงมูลค่าหลัก (core value-oriented framework) ร่วมกันใน 3 อำเภอชายแดน เช่น เขตนวัตกรรมท้องถิ่นพิเศษ (Special local innovation zone) ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมชายแดน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาต่อยอดให้เกิดการสร้างผลผลิตในเชิงพาณิชย์
แนวทางการพัฒนาศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) และการใช้ประโยชน์พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรมีการสนับสนุนการให้คำปรึกษาด้านการสิทธิประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า ด้านการลงทุน ด้านการเงิน ด้านแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์จากการอยู่ในซัพพลายเซนเดียวกัน และการกำหนดสิทธิพิเศษจากการค้าการลงทุนที่จะได้รับจากประเทศที่มีชายแดนติดกัน ซึ่งต้องเป็นการเจรจาระดับประเทศ สำหรับประเทศที่มีชายแดนติดกันหรือประเทศที่สาม
และแนวทางการพัฒนาที่สำคัญควรมีการกำหนดการพัฒนาพื้นที่ที่ให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน (Public Private People Partnerships หรือ PPPP) เพื่อให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งการกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษคืนประโยชน์สู่ชุมชนด้วยการให้อาชีพ การศึกษา และอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมในสังคม
นอกจากนี้ ควรเร่งดำเนินการให้เกิดการบังคับใช้ความร่วมมือการขนส่งร่วมชายแดน (cross-border transportation agreement) และพัฒนาเขตการขนส่งร่วมระหว่างชายแดน (common transportation zone) มีกฎระเบียบการขนส่ง ทั้งในด้านของการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการควรอยู่ในอัตราที่เท่าเทียมกัน ตลอดจนมีการเชื่อมโยงไปยังประเทศที่สาม
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบและแนวทางการแก้ไข ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนเป็นระยะ ควรมีการวิเคราะห์ แบบมหภาค (macro analysis) หากมีการเปลี่ยนแปลงและมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และการเกิดวิกฤต (crisis) ไม่ว่าจะจากเศรษฐกิจ การเงิน (เช่น สงครามค่าเงิน) ราคาน้ำมัน พลังงาน เป็นต้น
และวิเคราะห์เชื่อมต่อไปถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับชายแดนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ ลาว จีน เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์ของจีนอย่าง one belt one road การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากมายทั่วประเทศลาว และการเปิดเสรีด้านการลงทุนของเมียนมาร์
แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภัยจากธรรมชาติ ไม่ว่าเป็นเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า น้ำแห้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น ควรมีแผนดำเนินการป้องกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน
ณัฐพรพรรณ อุตมา, สิทธิชาติ สมตา
สิงหาคม 2558
ขอบคุณรูปภาพจาก grafski.com