สำรวจเศรษฐกิจสังคมอินเดีย (2) : 3 มุมมอง 3 ภาพยนตร์

FB Link Post (2)

เขียนโดย จักราวุธ ศรีจันทร์งาม
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ปี 3 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

จากบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้พาไปสำรวจสภาพเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีความพร้อมและศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีแรงงานทักษะและไร้ทักษะจำนวนมาก ทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียยังมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะมิติทางสังคมที่ยังรอคอยการแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจของอินเดียสามารถที่จะเติบโตไปอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจโครงสร้างทางสังคมของประเทศอินเดียในเชิงลึก ผ่านภาพยนตร์ของอินเดีย 3 เรื่อง ได้แก่ (1) The White Tiger (2) PK ผู้ชายปฎิหาริย์ และ (3) The skater girl โดยทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ที่ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ทั่วโลกที่สุดในศตวรรษนี้อย่าง ‘Netflix’ ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องอย่างต่อเนื่อง

 

(1) The White Tiger พยัคฆ์ขาวรำพัน

white tiger

 

เริ่มต้นเรื่องแรกด้วย ‘The White Tiger’ เป็นหนังที่สร้างจากที่ถูกสร้างจากนวนิยายของ Aravind Adiga ในปีค.ศ. 2008 ซึ่งได้รับรางวัล Booker Prize และหนังสือขายดีของ The New York Times ก่อนที่จะเริ่มจัดทำเป็นภาพยนตร์ในปีค.ศ. 2010 และฉายอย่างเป็นทางการผ่านแพลตฟอร์ม Netflix ในปีค.ศ. 2021 ซึ่งได้ผู้กำกับชื่อดังจากหนังอินเดีย ‘The Slumdog Millionaire’ ที่ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สะท้อนให้ถึงปัญหาสังคมขงอินเดียที่ฝังรากลึกผ่านการสร้างเรื่องความมุมานะของตัวเอก ความรัก และการพิสูจน์

ที่มาของชื่อภาพยนตร์หรือหนังสือนี้ เหมือนเป็นการอุปมาอุปไมยว่า “ในหนึ่งชั่วอายุคน เรามีโอกาสที่จะพบเจอเสือขาวได้น้อยมาก” เฉกเช่นกับ ‘พลราม’ ตัวเอกของเรื่องที่ถูกเปรียบให้เป็นเสือขาว เนื่องจากเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน แต่สุดท้ายก็สามารถนำพาตัวเองให้หลุดออกจากกับดับความยากจน และกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีฐานะในสังคมในอินเดียได้ในที่สุด

ในเรื่องนี้เราจะได้เห็นถึงสภาพชีวิตของคนรวยและคนจนที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ทั้งสองฝั่งก็ล้วนเห็นปัญหาในสังคมอินเดียที่มีต้นตอจากคนรวยที่มีอำนาจ มีอิทธิพล สามารถกดขี่ หรือขูดรีดจากชาวบ้านที่ยากจนได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ชาวบ้านเหล่านั้นก็ยอมรับถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้น โดยไม่มีความคิดที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ถึงแม้ว่าจะมีผู้นำที่ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงก็ตาม พูดได้ว่าลักษณะที่กล่าวไปนี้ คือ ‘ความเป็นอินเดีย’ ที่ฝังอยู่ในคนแทบทุกคนในอินเดียอย่างลึกซึ้งและยาวนาน

ในหนังเรื่องนี้เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครเอกที่ชื่อ พลราม โดยตัวพลรามมีบุคลิกภาพเป็นคนเฉลียวฉลาด มีความทะเยอทะยาน แต่ขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต ครอบครัวของพลรามก็ยังถูกเอาเปรียบโดยเจ้าของที่ดิน หนำซ้ำยังถูกย่าแท้ๆของตัวเองขูดรีดเงินที่หามาได้ไปหมด ดังนั้นเพื่อจะหลุดพ้นจากครอบครัวที่ฉุดรั้งเขาไว้ พลรามมีความต้องการที่จะเป็นคนขับรถให้กับลูกชายเจ้าของที่ดินที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งการเป็นคนขับรถในอินเดียไม่ได้เป็นกันได้ง่าย โดยเฉพาะคนจนอย่างพลราม

แต่ด้วยความทะเยอทะยาน พลรามได้เดิมพันทุกอย่างในชีวิตเพื่อให้ได้เป็นคนขับรถ ทั้งต่อรองกับย่า และใช้เงินทั้งหมดในการเรียนขับรถโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้เป็นคนขับรถหรือไม่ ในที่สุดเขาก็ได้เป็นคนขับรถให้กับลูกเจ้าของที่ดินได้สำเร็จ เราจะเห็นเรื่องของความฝันของพลราม ที่เขาคิดเเค่การเป็นคนขับรถให้กับคนรวยนั้นดีเเค่ไหน เเสดงถึงคนอินเดียส่วนใหญ่ที่ขาดโอกาสต่างๆ ในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งความฝันที่จะเป็นใหญ่เป็นโต ไม่มีความก้าวหน้าในชีวิต เเละไม่มีชีวิตที่สุขสบาย ในภาพยนตร์ได้มีคำพูดของพลรามที่ตรึงใจอยู่หลายประโยค แต่ประโยคที่ขอหยิบยกขึ้นได้ตรงประเด็นกับหนังมากที่สุด คือ

 

ในอินเดียมีเเค่สองวรรณะ วรรณะรวยเเละวรรณะจน

 

วลีนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ คือ ความยากจนและวรรณะ กล่าวได้ว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนกับการแบ่งชนชั้นวรรณะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน พลรามได้เปรียบเทียบคนจนหรือวรรณะต่ำในอินเดีย เหมือนกับไก่ในกรงที่คอยจิกตีกันเองเเละรอวันที่จะโดนเชือด

การอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นธรรม คนจนมักจะโดนกดขี่ข่มเหงอยู่เสมอนั้น ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกขังอยู่เเต่ในกรงที่เปรียบเสมือนกับดักความยากจน หากคนอินเดียที่พยายามจะเติบโต แหกกฎหรือหนีออกจากกรงก็จะโดนคนอินเดียด้วยกันเองเข้ามาขัดขวาง จนในที่สุดก็ต้องจบชีวิตในกรงนั้นเหมือนกันกับคนจนคนอื่นๆที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งต่อให้มีคนยื่นอิสรภาพมาให้ก็จะเต็มใจปฎิเสธเเละไล่คนที่หยิบยื่นโอกาสออกไป

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้ คือ พลรามที่ทำงานด้วยความจงรักภักดีมาตลอด เเต่สุดท้ายโดนเจ้านายหลอกให้ไปเป็นเเพะรับบาปในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ ทำให้เขาไม่สามารถยอมรับ หรืออดรนทนต่อ ‘ความเป็นอินเดีย’ ที่ฝังรากลึกในสังคมมาอย่างยาวนานได้อีกต่อไป ท้ายที่สุด เขาก็ทลายกำแพงความอดทน เเละลงมือสังหารเจ้านายของตนเอง ทำให้เขาได้ค้นพบอิสรภาพ และความสุขที่แท้จริงจากการไม่ได้เป็นทาสให้กับใคร

นอกจากมุมมองของพลรามแล้ว ในเรื่องนี้เราสามารถมองผ่านมุมมองของเจ้านายของพลรามได้เช่นกัน เจ้านายของพลรามเป็นคนที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เขานั้นได้รับเเนวคิดที่แเตกต่างจากคนอินเดีย คือแนวคิดในการปฎิบัติตัวต่อผู้อื่นเเละเคารพสิทธิความเท่าเทียมของทุกคน รวมถึงพลรามที่เป็นคนขับรถ เเต่เมื่อเขานั้นมาอยู่ในอินเดีย เขาก็เป็นส่วนน้อยในครอบครัว ไม่สามารถออกสิทธิ์ออกเสียงได้ เพราะในครอบครัวอินเดียนั้น ผู้ชายเป็นใหญ่เเละอำนาจส่วนใหญ่จะอยู่กับผู้เป็นพ่อของเขามากที่สุด เขาเป็นคนที่มองเห็นเรื่องของปัญหาต่างในอินเดีย เเต่ในบางครั้งเราก็เห็นพลรามเป็นแค่ทาสผู้ให้ความสนุกกับพวกเขาเพียงเท่านั้น สุดท้ายแล้วเขาก็ยังเป็นคนรวยส่วนน้อยในอินเดีย เเละยังมีความเป็นอินเดียที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ แม้ว่าจะรู้และเห็นปัญหา เเต่เขาไม่จำเป็นต้องเเก้ไขมัน เพราะเขายังอยู่ดีเเละสุขสบายบนความยากจนของคนอื่นอีกมากมาย

ถ้าเราจะหาเครื่องมือเพื่อวัดความเหลื่อมล้ำหรือสถานะของอินเดียในตอนนี้ เพื่อดูว่าตอนนี้อินเดียนั้นอยู่ในระดับใดของสังคมโลกในแง่การเลื่อนชนชั้นทางสังคม และสามารถตีความไปถึงความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน จึงขอใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Social Mobility Index” ที่เป็นเครื่องมือสำหรับวัดการเลื่อนชั้นทางสังคม เพื่อจัดอันดับว่าประเทศนั้นๆ มีความเท่าเทียมกันหรือโอกาสในการเลื่อนชั้นมากหรือน้อย ซึ่งวัดจากหลายๆมิติ เช่น สุขภาพ รายได้ การศึกษา เทคโนโลยี และโอกาสในการทำงาน

 

รูปที่ 1 การจัดอันดับการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมทั่วโลกปี 2020

Social mobility index

ที่มา: indiatimes

 

จากการสำรวจของ The World Economic Forum อินเดียถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 76 จาก 82 ซึ่งถือว่าการเลื่อนชึ้นทางสังคมของอินเดียนั้นต่ำมาก และได้บอกว่าปัจจัยที่เหมาะสมในการเลื่อนชั้นทางสังคม มี 4 ข้อก็คือ 1. ค่าจ้างที่เป็นธรรม 2.การคุ้มครองทางสังคม 3.สภาพการทำงานที่ดี 4.การเรียนรู้ตลอดชีวิต (The Hindu, 2020)

แน่นอนว่าอินเดียขาดในส่วนของปัจจัยเหล่านี้ แน่นอนว่าแสดงให้เห็นถึงการพยายามทำงานหรือดิ้นรนในอินเดียนั้นไม่ได้ช่วยถึงการเลื่อนชั้นในสังคมอินเดีย ซึ่งแตกต่างจาก “อเมอริกัน ดรีม” ที่เป็นแนวคิดที่จะบอกว่าทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะมีชีวิตร่ำรวยได้และมีความสุขได้ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นในทางสังคม ซึ้งในความคิดแล้วเมอริกัน ดรีม อาจดูสวยหรู แต่ในความเป็นจริง การพยายามอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นความสำเร็จทุกครั้งก็ได้

สอดคล้องกับภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดออกมาถึงความยากจนของคนส่วนใหญ่ในสังคมอินเดีย จากการแบ่งชนชั้นวรรณะที่เป็นตัวกรอบกำหนดพฤติกรรมของคนอินเดีย รวมถึงการถูกกดขี่ข่มเหงจากคนรวยและคนในครอบครัวทำให้ขาดโอกาสที่จะทำงาน หรือมีชีวิตที่ดี ทั้งที่คนอินเดียมีความพยายามไม่แตกต่างจากชาติอื่น เพียงแต่เกิดมาในวรรณะที่ต่ำ พวกเขาก็ไม่ควรที่จะได้รับโอกาสที่ดีเลยอย่างนั้นหรือ

 

(2) PK ผู้ชายปฎิหาริย์

pk

 

เรื่องที่สอง มีชื่อภาษาอังกฤษเพียงสองพยางค์ว่า ‘PK’ และชื่อภาษาไทยว่าผู้ชายปฎิหาริย์’ ถูกสร้างเมื่อปีค.ศ. 2014 โดยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นอีกเรื่องที่ควรดูอย่างมาก หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมของอินเดียเช่นเดียวกัน แต่เป็นการสะท้อนสังคมในแง่มุมทางศาสนา จากความเชื่อของคนอินเดียที่มีต่อเทพเจ้า และผู้นำทางศาสนา ซึ่งเปรียบเสมือนที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับผู้คน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงปัญหาด้านศาสนาผ่านทางการตั้งคำถามของตัวเอกที่เป็นมนุษย์ต่างดาวที่เดินทางมายังโลก เเละไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกใบนี้เลยเเม้เเต่น้อย จึงเกิดความสงสัยและได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขานั้นพบเจอ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพสังคม เเละศาสนาของอินเดีย โดยประเด็นที่ทำให้ตัวเอกได้คลุกคลีในสังคมอินเดีย คือ การที่เขาพยายามหารีโมทยานอวกาศที่โดนขโมยไป เพื่อกลับดาวตัวเอง ในเรื่องตัวเอกได้พาเราไปเห็นภาพของบ้านเมืองที่เสื่อมโทรม เเละคนส่วนใหญ่ในประเทศล้วนแต่เป็นคนยากจน หากแต่ทุกคนกลับยังมีความศรัทธาต่อพระเจ้า หรือเทพตามศาสนาของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นผู้คนในสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาที่มาร้องทุกข์เป็นจำนวนมาก เพราะว่าสังคมอินเดียนั้นสอนให้ศรัทธาในพระเจ้าเพื่อเป็นความหวังในการใช้ชีวิตไปในเเต่ละวัน เเต่ไม่สอนให้คนเหล่านั้นตั้งคำถามเเละหาทางเเก้ไขด้วยตนเอง เเม้เเต่รูปภาพธรรมดาที่มีรูปเทพติดอยู่ คนอินเดียก็ให้ความเคารพเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นช่องทางในการทำมาหากินบนความเชื่อเเละความกลัวของคนอินเดีย

นอกจากนี้ ในเรื่องนี้มีผู้นำทางศาสนาที่อ้างตัวว่าติดต่อกับพระเจ้าได้มารับบริจาคหรือเงินทำบุญจากคนส่วนใหญ่ หรือเเม้กระทั่งหินที่ทาสีเเดง เเละการวางเหรียญ คนก็พร้อมใจกันทำตามเเละกราบไหว้กันอย่างไร้เหตุผล แสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาและความเชื่ออันหนักแน่นที่คนอินเดียเลือกที่จะเชื่อ หรือโดนปลูกฝังมาตั้งเต่เด็ก โดยขาดการตั้งคำถาม ด้วยเหตุผลจนขาดการใช้สติพิจารณาให้รอบคอบ และเลือกที่จะใช้ความเชื่อเป็นหลักในการใช้ชีวิต

ในเรื่องนี้ ตัวเอกสอนให้เราฉุกคิดถึงคำสอนต่างๆของศาสนาที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น ในคัมภีร์ หรือตำราทางศาสนา ทำให้เกิดคำถามอย่างจริงจังว่า ‘เมื่อโลกมันหมุนไปเเล้ว เราจะยังเชื่อถือในคัมภีร์ หรือตำราทางศาสนาเหล่านั้นได้อย่างไร? เเล้วศาสนาอื่นล่ะ? ศาสนาไหนกันที่จะช่วยเหลือเขาได้? พระเจ้าองค์ใดที่จะสามารถช่วยเขาหารีโมท? หรือแม้คำถามแบบทุนนิยมอย่าง ‘รูปปั้นพระเจ้าราคาถูกกับราคาเเพงต่างกันอย่างไร?’ หรือคำถามเชิงย้อนแย้งอย่าง ‘ถ้าพระเจ้ามีจริงทำไมยังมีคนที่ยากจนอยู่อีกเป็นล้านๆคนในอินเดียกันล่ะ?’ หรือว่าคนที่อ้างตัวว่าเป็นตัวเเทนของพระเจ้าโทรหาพระเจ้าผิดคนหรือผิดเบอร์? จึงเป็นที่มาของกระเเส ‘Wrong Number’ ที่สอนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสอนที่ขัดแย้งกับหลักการและเหตุผล

นอกจากเรื่องศาสนาเเล้ว หนังยังมีการพูดถึงเรื่องสื่อที่ถูกปิดกั้นหรือการใช้อำนาจในการปิดกั้นสื่อ จากผู้มีอิทธิพลในการแทรกแทรงการทำงานของสื่อได้ เมื่อมีประเด็นอ่อนไหว การทำงานของสื่อมวลชนจึงเสี่ยงต่อความไม่พอใจของประชาชน แถมยังเป็นอันตรายต่อผู้ประกาศข่าวอีกด้วย

สรุปเเล้วในเรื่องนี้สอนให้เราได้ฉุกคิดในบางเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล กล้าที่จะออกมาพูด เเทนที่จะเชื่ออย่างสนิทใจโดยขาดการตั้งคำถาม หรือการตัดสินกันเเค่เพราะว่าไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกัน เพียงเพราะลักษณะการเเต่งกาย หลังจากที่หนังนั้นได้ตั้งคำถามมากมาย ผมก็มีอีกหนึ่งคำถามที่อยากให้ทุกท่านลองคิดเช่นกันว่า ปัญหาหรือชีวิตของเรานั้นเราจะให้พระเจ้าหรือตัวเราเองเป็นคนกำหนด โดยการใช้สติ เเละหลักเหตุผล เพื่อแก้ปัญหา เเทนที่จะพึ่งพาเเต่ความเชื่อหรือเเรงศรัทธาต่อคนอื่นหรือสิ่งที่เรามองไม่เห็น ศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี แล้วศาสนาไหนดีล่ะ? คนที่ไม่มีศาสนาจะเป็นคนดีด้วยตัวของเขาเองได้หรือไม่?

 

พระเจ้าเป็นคนสร้างเรา หรือเราเป็นคนสร้างพระเจ้า?

 

ย้อนกับมาในสถานการณ์ของโลกปจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของคนอินเดียที่ยังมีพลังมากและอยู่คู่กับคนอินเดียอย่างลึกซึ้ง จึงขอยกตัวอย่างกรณีของการระบาดของโควิด-19 ที่อินเดียและทั่วโลกได้เผชิญกันอยู่ ท่ามกลางการระบาดของไวรัส ที่ต้องอาศัยการจัดการของรัฐบาลที่มีอำนาจ ประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ และวัคซีนที่มีคุณภาพ อินเดียนั้นมีครบในทุกด้านและองค์ประกอบ แต่กลับมีหลายการระบาดขนาดใหญ่มาจากการรวมกลุ่มทางศาสนา

นั้นก็เพราะว่าคนอินเดียส่วนใหญ่นั้นดำเนินชีวิตโดยมีศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ ในขณะที่รัฐบาลจัดการไวรัสและแจกจ่ายวัคซีน คนอินเดียบางส่วนก็หันไปพึ่งพาพระเจ้าหรือผู้นำทางความคิดที่พวกเขาเชื่อถือ ใช้ศาสนาเป็นแนวทางหลักในการรับมือกับโรคระบาด จึงทำให้เกิดความคิดหรือความเชื่อว่าโควิดเป็นบททดสอบและเป็นการลงโทษจากพระเจ้า จึงทำให้มีการสร้างเทวรูป “โคโรนาเทวี” ซึ่งชาวอินเดียบางส่วนเชื่อว่านี่คือเทพแห่งเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อหวังว่าการกราบไหว้บูชา จะช่วยผ่อนคลายวิกฤติจากหนักให้กลายเป็นเบา

 

รูปที่ 2 การบูชาโคโรนาเทวีของชาวอินเดีย

โคโรน่าเทวี

ที่มา: South China Morning Post

 

มากกว่านี้ ยังเกิดผู้นำทางศาสนาขึ้นอีกเป็นจำนวนมากที่คอยสั่งสอนสิ่งที่ผิดให้ผู้ที่มีความเชื่อเหล่านี้ อาทิ เช่น วัคซีนไม่ใช่ฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม วัคซีนประกอบด้วยเลือดวัวซึ่งผิดหลักศาสนาฮินดู การฉีดวัคซีนจะทำให้กลายเป็นคนที่รักเพศเดียวกัน แม้ว่าใครได้ยินหรือได้ฟังสิ่งเหล่านี้อาจจะมองว่าเป็นข่าวลวงที่ไม่น่าเชื่อถือ (PPTV online, 2021) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนที่เชื่อและศรัทธาต่อผู้นำศาสนาและข่าวเหล่านี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

จากข่าวเหล่านี้ที่ออกมา เราก็จะเห็นได้ถึงความเชื่อและศรัทธาที่แสดงออกผ่านหนัง PK(2014) ที่เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างมาหลายปีนั้นยังคงชัดเจนและฝังรากลึก อยู่คู่กับคนอินเดียจนไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ จากบางชุดความคิดของผู้นำทางศาสนาที่อาศัยช่องโหว่ของการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้เพื่อสอนและชี้นำคนอินเดียบางส่วนไปในทางที่ไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดเป็นการระบาดย่อยอีกเป็นจำนวนมาก จึงเข้าเข้าสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้งนึง โดยปราศจากการตั้งคำถามและใช้สติพิจารณา ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจไม่มีวันสิ้นสุด หรือยากที่จะหายไปจากความศรัทธาแบบไร้ซึ่งคำถามที่อยู่ข้างในตัวพวกเขา

 

(3) The Skater Girl

skater girl

เรื่องสุดท้าย The Skater Girl เป็นหนังที่มีความร่วมสมัย โดยได้รับการเผยเเพร่ในปี 2021 ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนถึงเด็กสาวในสังคมอินเดียว่าเธอมีชีวิตอย่างไรเเละต้องประสบปัญหาอะไรบ้างในช่วงชีวิตเธอ

เรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยตัวเอก ที่เป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่ชื่อว่า “เพรนา” ที่เเปลว่าเเรงบันดาลใจ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ใช้ชีวิตและทำงานตามคำสั่งของพ่อแม่ ขาดโอกาสในการเรียน โดยเธอต้องดิ้นรนทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ เพื่อที่จะช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวของเธอเอง

จุดเปลี่ยนของเรื่องเริ่มจากการที่มีสาวยุโรปที่มีเชื้อสายอินเดียได้เข้ามาในหมู่บ้านของเธอ เเละได้รู้จักกับ เพรนา จนทำให้เธอได้รู้จักกับสเก็ตบอร์ด เเละได้ลองเล่นมัน ซึ่งเธอรู้สึกชอบมันตั้งเเต่ครั้งเเรก ซึ่งนับเป็นครั้งเเรกที่เธอได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเเละได้มีความฝันเป็นของตัวเอง เเตกต่างจากเมื่อก่อนที่เธอต้องทำอะไรภายใต้คำสั่งของพ่อเเม่ โดยไม่มีมีสิทธิเเม้กระทั่งในร่างกายของตัวเอง

ในหนังพูดถึงประเด็นของครอบครัวของเพรนา ครอบครัวของเธอมีฐานะยากจน มีปัญหาด้านการเงิน ทำให้เพรนา และแม่ของเธอต้องการที่จะทำงานเพื่อหาเงินเพิ่มเติม เเต่พ่อของเธอนั้นยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในบ้านและไม่ยอมให้ลูกและเมียทำงานช่วยทำงาน เพราะคนอื่นจะนินทาว่าเขานั้นดูเเลคนในครอบครัวไม่ได้ ทำให้ครอบครัวของเพรนายังคงขาดเงินที่จะมาดูแลครอบครัว ภาพยนตร์ได้พยายามสอดเเทรกถึงการให้ความสำคัญในเรื่องเพศและรูปลักษณ์ภายนอก ตลอดจนการที่คนอินเดียส่วนใหญ่ต้องการลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง เนื่องจากลูกผู้หญิงต้องแต่งงานออกเรือน เฉกเช่นเดียวกับความคิดทางฝั่งตะวันออกอย่างประเทศจีน

ประเด็นทางการเมืองยังถูกสอดแทรกเข้ามาให้เห็นถึงเจ้าของที่ดิน หรือคนรวยที่มีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่ต่างละเลยที่จะพัฒนาพื้นที่ แต่ต้องการคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกันกัน ทำให้การช่วยเหลือหรือพัฒนาในชุมชน ต้องคุ้มค่ากับคะแนนเสียงที่เขาจะได้รับในการเลือกตั้งในอนาคต

เรื่องชนชั้นวรรณะมีสอดเเทรกในหนังอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรักของเพรนาเเละเด็กหนุ่มที่มีวรรณะสูงกว่าเธอ เมื่อเรื่องนี้กระจายออกไปคนในหมู่บ้านหรือเพื่อนบ้านของเธอ กลับเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอับอาย เกี่ยวกับการรักกันของคนต่างวรรรณะ เเละทำให้ครอบครัวของเพรนาได้จับเธอคลุมถุงชน กับชายหนุ่มวรรณะเดียวกันในต่างหมู่บ้าน หรือเเม้กระทั่งการจำกัดพื้นที่ใช้สอยบางประเภทภายในโรงเรียนหรือสถานที่อื่นสำหรับผู้มีวรรณะสูงเท่านั้น ซึ่งเพรนาเเละคนอื่นต่างรู้ดีว่าตัวเองไม่ควรเข้าไป หรือใช้งานสถานที่นั้นๆ

ในตอนจบเพรนาได้หนีจากงานแต่งงานเพื่อมาแข่งสเก็ตบอร์ดจนได้รับรางวัลและเป็นที่ภาคภูมิใจของคนทั้งหมู่บ้านและครอบครัวแต่ตัวหนังก็เลือกที่จะตัดจบ ทำให้เราไม่รู้ว่าบทสรุปแล้วเธอต้องกลับไปแต่งงานหรือทำงานต่อหรือไม่ ชีวิตของเธอนั้นได้หลุดพ้นจากความยากจน และได้รับโอกาสที่ดีในชีวิตหรือไม่ เด็กสาวที่เกิดมาจากบ้านที่มีฐานะยากจนจะหลุดพ้นกับดักความยากจนและสังคมที่กดขี่ในประเทศอินเดียนี้ได้หรือไม่

สิ่งที่ได้รับจาก The Skater Girl เราจะเห็นถึงเด็กที่เกิดมาในความยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา ปลายทางแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิต อยู่ในวังวนแห่งความยากจน ไม่มีแม้กระทั่งความฝันของตัวเองที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองนั้นรัก โดนครอบครัว สังคม และความเป็นชนชั้นวรรณะขูดรีดโอกาส และความสุขไปจากเธอ โดยที่เธอไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะใช้ชีวิตของตนเอง

 

รูปที่ 3 การแต่งงานในวัยเด็กลดโอกาสในด้านต่างๆ

child marriage

 

ที่มา: UNICEF

 

จากข้อมูลจาก Youth Ki Awaaz แสดงถึงจำนวนเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 18 ปี ที่โดนบังคับให้แต่งงานจากครอบครัว มีจำนวนมากถึง 15 ล้านคนต่อปี โดยเฉลี่ยจะมีเด็กผู้หญิง 1 คนจะถูกบังคับแต่งงานในทุก 2 วินาที ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การขาดโอกาสทางการศึกษา และการว่างงาน ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กสาวเหล่านี้ต้องเผชิญหลังจากการแต่งงาน (Pratyek Nineismine, 2018)

ทางภาครัฐนั้นเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ดี และได้มีการผลักดันที่จะต่อต้านเรื่องการแต่งงานของเด็กผู้หญิงที่มีอายุน้อย แต่ด้วยปัจจุบันผลกระทบของโควิด-19 ทำให้แต่ละครอบครัวในอินเดียขาดรายได้ที่ต้องการนำมาเลี้ยงชีพในประจำวัน และขาดความมั่นคงทางอาหาร จากเดิมที่อินเดีนนั้นมีตัวเลขการแต่งงานของเด็กก่อนวัยอันควรอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้ตัวเลขการแต่งงานของเด็กก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40

เพราะครอบครัวส่วนใหญ่นั้นเผชิญกับการขาดรายได้และความไม่มั่นคงการแต่งงานจะทำให้ลดภาระการใช้จ่ายในส่วนของการเลี้ยงดูลูกสาวไปได้ ซึ่งครอบครัวนั้นคิดว่านี่คือทางออกที่ดีสำหรับพวกเขา ในสถานการณ์ที่แย่และไม่แน่นอนแบบนี้ สุดท้ายแล้วชีวิตของเด็กผู้หญิงต้องโดนกำหนดชีวิต โดยถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงาน พรากโอกาส การศึกษา การใช้ชีวิตตามความฝัน และการทำงานที่ดีในอนาคต เพียงเพราะเขาดันเลือกเกิดไม่ได้แค่นั้นเองหรือ

บทสรุปจาก 3 มุมมองที่ไม่แตกต่างกัน

 

จากภาพยนต์ทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนเห็นถึงปัญหาในสังคมอินเดียที่ชัดเจน นั่นคือ ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำของชนชั้นวรรณะ โดยยังฉายภาพให้เห็นว่า คนจนในอินเดียนั้นไม่ใช่คนที่ขี้เกียจ แต่เป็นคนที่มีความพยายาม แต่มักจะโดนขูดรีดและถูกเอาเปรียบโดยคนที่รวยกว่า ถูกกดทับไปด้วยสังคมที่มองเห็นถึงปัญหาแต่ขาดการดูแลและแก้ไข

ปัญหาเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉยทั้งคนรวยและจน คนรวยที่ได้ผลประโยชน์ต่างไม่มีเหตุผลที่ต้องปรับหรือเปลี่ยน เพราะผลประโยชน์ยังตกถึงพวกคนรวยเสมอ ส่วนคนจนล้วนมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงและทะเยอทะยาน ขัดขืนกับชะตากรรมของพวกเขา แต่กลับโดนคนจนด้วยกันเองนั้นขัดขวาง ไม่ว่าจากคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเองก็ตามที่ไม่เชื่อในความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากวัฎจักรเหล่านี้ เพราะคนส่วนใหญ่ต่างยอมรับและอยู่กับชีวิตที่ที่ยากจนแบบนี้ โดยอยู่กับความเชื่อและแรงศรัทธาที่เป็นตัวช่วยและคอยผลักดันผู้คนในอินเดียให้มีชีวิตต่อ เด็กที่เกิดมาก็ต้องอยู่ในสังคมที่ไม่ดี และถูกปลูกฝังจากคนรุ่นก่อนด้วยชุดความคิดเดิม

สุดท้ายผลที่ได้เด็กที่จะเป็นอนาคตของอินเดียก็มีคุณภาพชีวิตเหมือนพ่อและเม่ของพวกเขาที่ยอมเป็นแค่ทาส เหมือนไก่ในกรง ที่รอวันโดนเชือด ถ้าความเชื่อหรือความคิดเดิมเปลี่ยนไป คนอินเดียเห็นถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน รัฐเพิ่มโอกาสหรือส่งเสริมให้กับคนจนหรือผู้ที่ขาดโอกาสมากขึ้น ผนวกกับศักยภาพที่ทัดเทียมระดับโลกของประเทศอินเดีย ผมว่าทุกคนที่ได้อ่านก็คงจินตนาการไม่ออกว่าอินเดียจะยิ่งใหญ่ขึ้นอีกมากแค่ใหน

ข้อมูลอ้างอิง

The Hindu. (2020). India ranks low at 76th place on global Social Mobility Index. Retrieved from https://bit.ly/3kx75sF

AffairsCloud. (2020). WEF’s 1st Global Social Mobility Index 2020: India rank 76th& Denmark top the list. Retrieved from https://bit.ly/3wJqrNO

Equitable Education Research Institution. (2020). โอกาสทางการศึกษา บันไดเลื่อนขั้นสู่สังคม. Retrieved from https://bit.ly/3BfF4Md

สุธิดา วิมุตติโกศล. (2010). The White Tiger: เสียงคำราม (หรือเสียงคราง?) จากเสือขาว. Retrieved from https://bit.ly/36KUFp8

ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย. (2019). พยัคฆ์ขาวรำพัน: ไอ้เสือขาวและเรื่องราวอันดำมืด. Retrieved from https://themomentum.co/the-white-tiger-review/

ธนาพล  น้อยชูชื่น. (2021). The White Tiger: ไก่ตรัสรู้ผู้กลายเป็นเสือ. Retrieved from https://www.beartai.com/lifestyle/526600

PPTV Online. (2021). “ศรัทธา” ดาบสองคมในวิกฤติโรคระบาดอินเดีย. Retrieved from https://bit.ly/3evBX9c

TNN Online. (2021). พิษโควิด-19 ทำเด็กหญิงอินเดียถูกบังคับแต่งงานมากขึ้น. Retrieved from https://www.tnnthailand.com/news/world/83532/

Neeta Lal. (2021). ‘She an angry goddess’: India’s corona virus deities, ‘disease-curing’ shrines offer hope to desperate devotees. Retrieved from https://bit.ly/3iqv8qx

Pratyek Nineismine. (2018). How Can India Prosper If Its Girls Are Married Away as Child Brides? Retrieved from https://bit.ly/3ku0fnW


Share via
Copy link
Powered by Social Snap