บทสำรวจเศรษฐกิจอินเดีย สู่นโยบาย ‘MAKE IN INDIA’

FB Link Post (1)

 

จักราวุธ ศรีจันทร์งาม
พบกานต์ อาวัชนาการ
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564

 

นับตั้งแต่สงครามระเบียบโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1945 สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการจัดระเบียบโลก (World Order) ไม่ว่าจะเป็น การยึดหลักสิทธิมนุษยชน การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย และการค้าเสรี เป็นต้น จากการที่สหรัฐอเมริกามีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สูง มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหนือชาติอื่นๆ ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกที่สามารถกำหนดทิศทางและชี้นำความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือมีอิทธิพลสูงในการจัดระเบียบโลก (สุขใจ ว่องไวศิริวัฒน์,สุพริศร์ สุวรรณิก,ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง, 2020) จนมีคำกล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เหมือนเป็นตำรวจโลก” อย่างไรก็ตาม การเป็นประเทศมหาอำนาจขั้วเดียว (Unipolar) ที่ยาวนานของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญความท้าทายอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ เรียกกันว่า “Multiplex World” หรือ “โลกหลายขั้ว” นั่นเอง

Multiplex world นั้นไม่ได้หมายความถึงแค่การที่โลกสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายขั้ว (Multipolar) เท่านั้น ยังมีความหมายครอบคลุมถึงความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น อันเกิดจากการมีปฎิสัมพันธ์ (Interaction) และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ องค์กรและบริษัทข้ามชาติ และความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับต่างๆ อีกด้วย (ปิติ ศรีแสงนาม,2021) ในปัจจุบัน ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่า ทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน เป็นสองชาติมหาอำนาจที่กำลังช่วงชิงและถ่วงดุลอำนาจกันอย่างชัดเจนบทเวที Multiplex World นี้

หากเรามองย้อนกลับไปถึงขั้วอำนาจ หรือการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในช่วงสองพันกว่าปีที่ผ่าน (รูปที่ 1) จะพบว่า จุดศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเริ่มต้นอยู่ในทวีปเอเชีย บริเวณประเทศอินเดีย ก่อนที่จะเคลื่อนไปอยู่ในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 และหลังจากปี 2000 มีแนวโน้มว่าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะหันกลับมาอยู่ในทวีปเอเชียอีกครั้ง

 

รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลก

pic01

ที่มา:  McKinsey Global Institute (2019)

 

ใช่แล้วครับ เอเชียจะกลายมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปในอีกไม่ช้า โดยหัวรถจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียนั้น คงจะหนีไม่พ้นประเทศจีน และอินเดีย  จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ในปี 2021 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ ประเทศจีน ขณะที่เศรษฐกิจของอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก  และมีการคาดการณ์อีกว่า ภายในปี 2030 จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาที่ตกมาอยู่อันดับที่ 2 และอินเดียจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายท่านคงเห็นแล้วว่า ประเทศจีน นับเป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่สุดและเป็นไม้เบื่อไม้เมาของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี เป็นต้น  ขณะที่อินเดีย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ท่ามกลางความการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้อินเดียยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าใดนัก ประกอบกับอินเดียยังมีปัญหาภายในประเทศอยู่อีกจำนวนมากที่ยังรอการแก้ไขอยู่  อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักอินเดียกันให้มากยิ่งขึ้น

 

ตารางที่ 1 การเปลี่ยนแปลงอันดับของ 10 ประเทศที่มีอันดับเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2020

pic02

ที่มา: The Times of India (2020)

 

สำรวจพื้นฐานเศรษฐกิจอินเดีย

 

ปัจจุบัน อินเดียถือเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่สูงอีกด้วย โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนประชากรจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2  โครงสร้างกำลังแรงงาน  ศักยภาพการผลิตที่หลากหลาย รวมไปถึงทักษะความรู้ความสามารถของคนอินเดีย เป็นต้น

 

ความได้เปรียบของจำนวนประชากรและแรงงาน

 

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน และยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่สูง ในอนาคตอินเดียวจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ หนึ่งครอบครัวในอินเดีย จะมีสมาชิก 5 คนโดยเฉลี่ย (ดูรูปที่ 2) และจากรายงานขององค์กรสหประชาชาติ (United Nation, 2019) ได้ระบุไว้ว่า ภายในปี  2027 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จากรูปที่ 4 ได้มีการคาดการณ์ว่าประชากรอินเดียจะมีจำนวนเกิน 1.4 พันล้านคนในปี 2022 และจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรร้อยละ 0.9 ต่อปีจนกระทั่งถึงปี 2026

 

รูปที่ 2 จำนวนสมาชิกครอบครัวโดยเฉลี่ยของประเทศอินเดีย

pic03

ที่มา: Time of India (2018)

รูปที่ 3 จำนวนประชากรที่คาดการณ์ของอินเดียในช่วงปี 2016-2026

Statistic: India: Estimated total population from 2016 to 2026 (in millions) | Statistaที่มา: Statista (2021a)

 

ไม่เพียงแต่ความได้เปรียบด้านจำนวนประชากรเท่านั้น อินเดียยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานต่อประชากรที่ค่อนข้างสูง จากรูปที่ 4 พบว่า ในปี 2019 ประชากรวัยแรงงานที่มีอายุ 15-64 ปี มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนแรงงานมากกว่า 900 ล้านคน  นอกจากนี้ อินเดียยังมีประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) ที่จะก้าวสู่วัยแรงงานอีกจำนวนมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่มีประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างต่ำ เพียงร้อยละ 6.38 เท่านั้น  และรูปที่ 5 แสดงอัตราการรู้หนังสือของประชากรในอินดีย ซึ่งพบว่า ในปี 2018 ในภาพรวมประชากรอินเดียมีอัตราการรู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 75 และเป็นที่น่าสังเกตว่าประชากรเพศชายมีอัตราการรู้หนังสือสูงกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นว่า อินเดีย เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในด้านของจำนวนของประชากร จำนวนแรงงาน และคุณภาพของแรงงานอีกด้วย นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะสามารถเติบโตได้ในอัตรามกกว่าร้อยละ 6 ในช่วงปี 2022-2026 (ดูรูปที่ 6)

 

รูปที่ 4 การกระจายของอายุประชากรอินเดียในช่วงปี 2009-2019

Statistic: India: Age distribution from 2010 to 2020 | Statista
ที่มา: Statista (2021b)

 

รูปที่ 5  อัตราการรู้หนังสือของชาวอินเดียในปี 2011, 2015 และ 2018

Statistic: India: Literacy rate in 2011, 2015 and 2018, by gender | Statistaที่มา: Statista (2021c)

รูปที่ 6  อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียในปี 2016-2026

Statistic: India: Real gross domestic product (GDP) growth rate from 2016 to 2026 (compared to the previous year) | Statistaที่มา: Statista (2021d)

นอกจากความได้เปรียบด้านประชากรแล้ว อินเดียเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และแร่ธาตุที่สำคัญมากมาย รวมไปถึงการมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ที่สามารถรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และยังมีความชำนาญและศักยภาพการผลิตในหลากหลายด้าน (ศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นในการผลิตในที่นี้ วัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA: Revealed Comparative Advantage) เมล็ดเครี่องเทศ (Spice Seeds) สารประกอบอินทรีย์ (Other Organic Compounds) หินแกรนิต (Granite) พรม (knotted carpet) และ ข้าว (rice) เป็นต้น (ดูรูปที่ 7)

รูปที่ 7 สินค้าที่อินเดียมีความชำนาญในการผลิต

pic07ที่มา: The Observatory of Economic Complexity (2021)

 

นอกจากนี้ อินเดียถือเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก และมีแรงงานจำนวนมากในภาคการเกษตร จากข้อมูลจาก World Bank (2019a) ระบุว่าแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร มีจำนวนมากถึงประมาณร้อยละ 42.6 ของประชากรทั้งหมด พูดได้ว่าประชากรเกือบครึ่งนึงของประเทศเป็นเกษตรกร ขณะเดียวกันการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ส่งผลทำให้อินเดียมีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ เภสัชกรรม และที่สำคัญ อินเดียยังมีการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อินเดียมีบุคคลากรที่มีความสามารถและทักษะสูง โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่เป็นจำนวนมาก

 

ว่าด้วยนโยบาย Make In India?

 

จากการสำรวจข้างต้น ทุกท่านน่าจะเห็นตรงกันว่า “อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศดาวรุ่งที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญ หรือคู่แข่งกับสหรัฐอเมริกา และจีนบนเวที Multiplex World นี้อย่างแน่นอน” ใช่ไหมครับ

อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของอินเดีย จะพบว่า แม้จะมีประชากรจำนวนมาก แต่อินเดียก็เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างด้านความเชื่อและศาสนา ความยากจน การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (ดูรูปที่ 8) และการกระจุกตัวของแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ รูปที่ 9 และรูปที่ 10 ยังแสดงให้เห็นว่า ในปี 2019 แรงงานส่วนใหญ่ของอินเดียยังอยู่ในภาคการเกษตร (คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของการจ้างงานทั้งหมด) โดยแรงงานภาคการเกษตรสร้างมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของ GDP ทั้งประเทศ ขณะที่แรงงานในภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 กับสร้างมูลค่าได้เป็นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.88) ของ GDP  ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลอินเดียจึงได้ริเริ่มนโยบายที่เรียกว่า “Make in India” ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอินเดียให้ดีขึ้

 

รูปที่ 8 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา

pic08ที่มา: Business Standard (2018)

 

รูปที่ 9 การกระจายตัวของ GDP ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในช่วงปี 2009-2019

Statistic: India: Distribution of gross domestic product (GDP) across economic sectors from 2009 to 2019 | Statistaที่มา: Statista (2021e)

รูปที่ 10 สัดส่วนการจ้างงานในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ (ร้อยละการจ้างงานทั้งหมด)

pic080ที่มา: ดัดแปลงโดยผู้เขียนจากWorld Bank (2019a, 2019b, 2019c)

 

Make in India  เป็นนโยบายที่รัฐบาลอินเดียส่งเสริมบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอินเดีย เพื่อพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากประเทศให้เป็นที่ยอมรับจากในเวทีโลก และทำให้อินเดียกลายเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของโลก” โครงการนี้มุ่งเน้นไปยังการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical infrastructures) และ สร้างเครือข่ายดิจิตอล (Digital network) นอกจากนี้ ยังต้องการที่จะเพิ่มทักษะให้กับแรงงานของอินเดียอีกด้วย จากเดิมที่ภาคการผลิตสร้าง GDP ให้เพียงแค่ ร้อยละ 15 ให้กลายเป็นร้อยละ 25 และสร้างความพร้อมของอินเดียต่อทั่วโลก ( กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2016)

ถ้าจะให้พูดแบบง่ายๆ นโยบาย Make in India  ก็คือ นโยบายที่เน้นการพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศ นั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทรถยนต์ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนจะได้รับการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันอินเดียก็มุ่งหวังที่จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Spillover) เพื่อนำมาพัฒนาบุคลากรชาวอินเดีย ต่อยอดการลงทุนภายในประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าของอินเดียให้มีมาตรฐานระดับโลก และสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ ได้ ดังนั้น รัฐบาลอินเดียจึงได้ตัดสินใจออกนโยบายดังกล่าวเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการผลิต และลดการว่างงานในประเทศ ตลอดจนเพิ่มผลผลิตในประเทศอินเดียให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบาย Make in India นี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าใดนัก โดยปัญหาหลักมาจากโครงสร้างของอินเดีย หรือ “ความเป็นอินเดีย” นั่นเอง กล่าวคือ อินเดียยังมีโครงสร้างทางสังคมที่ฝังไปด้วยแนวคิดทางชนชั้นและวรรณะ โดยในอินเดีย ชนชั้นวรรณะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชั้น เรียงจากชั้นสูงสุด ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร และจัณฑาล นอกจากนี้ ในสังคมอินเดียต้องแต่งงานในวรรณะเดียวกันเท่านั้น

ผลที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ คนที่อยู่ในวรรณะต่ำ เช่น ศูทร และจัณฑาล ไม่ได้รับโอกาสหรือไม่สามารถหางานที่ดีทำได้ คนเหล่านั้นก็ต้องแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่กับคนวรรณะระดับล่างเช่นเดียวกัน มีลูกออกมาก็เป็นคนกลายเป็นคนในวรรณะระดับล่าง และคนในวรรณะระดับล่างก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเมื่อขาดโอกาสในการทำงานที่ดี ผู้คนเหล่านั้นก็ต้องประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำเกษตรกรรม ไม่ก็เลือกทำอาชีพที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้ประกอบอาชีพ

ไม่เพียงเท่านั้น การคงอยู่ของชนชั้นวรรณะในอินเดียทำให้สังคมอินเดียยังคงมีช่องว่างทางรายได้ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก (จากรูปที่ 9 และ 10) สังเกตได้จากแรงงานในภาคการเกษตรที่ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.6 ของประชากรทั้งหมด) แต่กลับสร้างรายได้เพียงร้อยละ 16 ของ GDP เท่านั้น  สะท้อนให้เห็นว่าชาวอินเดียจำนวนมากเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร และมีรายได้ต่ำ ในทางตรงกันข้าม คนส่วนน้อย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวรรณะชั้นสูง มีความร่ำรวย มีทรัพย์สินจำนวนมาก และมีโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นอกจากปัญหาอันเนื่องมาจากโครงสร้างสังคมที่แบ่งเป็นชนชั้นวรรณะแล้ว อินเดียยังเผชิญความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานโยบาย Make in India หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น (1) การย้ายถิ่นของประชากรจากชนบทเพื่อไปหางานทำในเมืองมากขึ้น จนทำให้หลายเมืองกลายเป็นชุมชนแออัดและเผชิญภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อม  (2) ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง (3) ระบบราชการ และ (4) ปัญหาเรื่องสิทธิแรงงาน เป็นต้น

 

บทสรุป

 

อินเดียถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต ไม่ว่าจะในด้านของจำนวนประชากร แรงงานทักษะสูง และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เเต่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบชนชั้นวรรณะที่ฝังรากลึกลงในสังคมอินเดีย ส่งผลเรื้อรั้งจนฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ประชากรอินเดียที่มากกว่า 1,300 ล้านคนนั้นที่เป็นโอกาสและอุปสรรคและ ถือเป็นจำนวนมหาศาลและเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของรัฐบาลอินเดียที่จะจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณให้ประชากรได้อย่างทั่วถึง และถือเป็นอุปสรรคและความท้าทายสำคัญที่อินเดียจำเป็นออกแบบนโยบายที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในสังคม

 แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางการแก้ไข ปัญหาของประเทศอินเดียได้ นี่ถือเป็นความท้าทายหลักของเศรษฐกิจในอินเดีย แม้ว่าอินเดียจะมีปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมอินเดียมาอย่างช้านาน หากอินเดียสามารถหลุดพ้นหรือแก้ปัญหาเหล่านี้ออกไปได้ จะทำให้อินเดียเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราไม่สามารถปฏิเสธถึงศักยภาพของอินเดียที่มีความรู้ความสามารถ ทัดเทียมประเทศชั้นนำได้ และด้วยการคาดการณ์ ว่าประเทศอินเดียจะ มีประชากรที่มากที่สุดในโลกในอนาคต และด้วยกระแสของเศรษฐกิจที่กำลังกลับมากระจุกตัวอีกครั้งในแถบของเอเชีย ด้วยเหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ได้เสริมและส่งอินเดียให้กลายเป็นมหาอำนาจ อินเดียจะเป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทและความสำคัญในการกำหนดทิศทางของโลกในอนาคตไม่มากก็น้อย

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, (2016). โครงการ “เมคอินอินเดีย” (Make in India) . Retrieved from https://www.ditp.go.th/contents_attach/143857/143857.pdf

สุขใจ ว่องไวศิริวัฒน์,สุพริศร์ สุวรรณิก,ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง. (2020). สหรัฐฯ VS จีน: สองมหาอำนาจ หนึ่งจุดเปลี่ยน และสิ่งที่ไทยควรทำ. Retrieved from https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_29Oct2020.aspx

ปิติ ศรีแสงนาม. (2021). หากไทยไม่ปรับ ในระเบียบโลกที่เปลี่ยน. Retrieved from https://today.line.me/th/v2/article/238YX6

Business Standard. (2018). 91% of India’s adult population has wealth below RS 730,000: Credit Suisse. Retrieved from   https://www.business-standard.com/article/economy-policy/wealth-inequality-in-india-stark-compared-to-us-china-credit-suisse-study-118101801033_1.html

McKinsey Global Institute. (2019). Asia’s Future is now. Retrieved from: https://www.mckinsey.com/featured-insights/asia-pacific/asias-future-is-now?cid=other-eml-nsl-mip-mck#

Statista. (2021a). India: Estimated total population from 2016 to 2026. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/263766/total-population-of-india/

Statista. (2021b). India: Age distribution from 2009 to 2019. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/271315/age-distribution-in-india/

Statista. (2021c). India: Literacy rate in 2011, 2015 and 2018, by gender. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/271335/literacy-rate-in-india/

Statista. (2021d). India: Real gross domestic product (RGDP) growth rate from 2016 to 2026. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/263617/gross-domestic-product-gdp-growth-rate-in-india/

Statista. (2021e). India Distribution of gross domestic product (GDP).

Retrieved from: https://www.statista.com/statistics/271329/distribution-of-gross-domestic-product-gdp-across-economic-sectors-in-india/

The Observatory of Economic Complexity. (2021). India: Most specialized products by RCA index. Retrieved from https://oec.world/en/profile/country/ind#most-specialized-products

The Times of India (2018). Indian families becoming smaller, but still biggest among major economies. Retrieved from: https://timesofindia.indiatimes.com/india/indian-families-becoming-smaller-but-still-biggest-among-major-economies/articleshow/64429474.cms

The Times of India (2020). India to become 3rd largest economy by 2030. Retrieved from: https://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/india-to-become-3rd-largest-economy-by-2030-report/articleshow/79972584.cms .

United Nation. (2019). World Population Prospect 2019 Highlights. Retrieved from: https://qrgo.page.link/Jvimj

World Bank. (2019a). Employment in Agriculture-India. Retrieved from https://data.worldbank.org/indicator/SL.AGR.EMPL.ZS?locations=IN

World Bank. (2019b). Employment in Industry- India. Retrieved from https://data.worldbank.org/indicator/SL.IND.EMPL.ZS?locations=IN

World Bank. (2019c). Employment in Service-India. Retrieved from https://data.worldbank.org/indicator/SL.SRV.EMPL.ZS?locations=IN

Share via
Copy link
Powered by Social Snap