เมื่อพิษโควิด-19 ทำแรงงานป่วยหนัก

FB Link Post

พรพินันท์ ยี่รงค์
Panrawee Panpang
วันที่ 27 มิถุนายน 2564

 

ในช่วงปลายปี 2019 ถือเป็นช่วงที่ทุกคนต่างต้องประสบกับวิกฤตการแพรร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทำให้ระบบสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลกต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ และรูปโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในหลายประเทศเลือกที่จะตอบสนองต่อโรคระบาดในครั้งนี้ด้วยการใช้มาตรการ lockdown หรือการเลือกที่จะปิดเมือง ไม่ให้ผู้คนเกิดการไปมาหาสู่ระหว่างกันทั้งภายในพื้นที่ และระหว่างพื้นที่ เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ ส่งผลให้เกิดการปิดร้านค้า และการปิดกิจการชั่วคราวในส่วนของภาคบริการ ฉะนั้นแรงงานส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจได้กลายสถานะจาก ‘แรงงาน’ มาสู่ ‘ผู้ว่างงาน’ โดยฉับพลัน สะท้อนให้เห็นผ่านสถิติอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นผิดปกติ

จากรายงานของ ILO (2021) ในช่วงของต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าแรงงานที่อยู่อาศัยในประเทศที่ออกมาตรการปิดเมืองคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 93 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดทั่วโลก อีกทั้งมาตรการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อแรงงานถึงร้อยละ 77 ในช่วงต้นปี 2020 ทำให้ชั่วโมงในการทำงานหายไปถึงร้อยละ 8.8 เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 และพบว่าชั่วโมงการทำงานในปี 2020 ลดลงมากกว่าช่วงวิกฤตทางการเงินโลกในปี 2009 เกือบ 4 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังทำให้ตำแหน่งงานประจำ (full-time job) หายไปกว่า 255 ล้านตำแหน่ง ชี้ให้เห็นว่าการปิดเมืองส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงานและแรงงานทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด

การทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เกิดการแพร่ระบาดขึ้น หากแต่ในช่วงก่อนหน้านี้ ในหลายประเทศได้มีการนำมาตรการ WFH มาปรับใช้ก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น สามารถที่จะทำงานได้ทุกสถานที่ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ นำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวกลับไม่ใช่รูปแบบการทำงานที่จะสามารถนำมาปรับใช้ได้กับงานทุกประเภท โดยมีงานอีกหลายประเภทที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ให้บริการทางขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

จากงานของ Dingel & Neiman (2020) ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงแค่ร้อยละ 37 ของประเภทงานในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถทำงานจากที่บ้าน โดยมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างพื้นที่ในชนบทและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ประเภทงานดังกล่าวกลับได้รับค่าจ้างสูงกว่างานที่ไม่สามารถทำที่บ้านได้ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 46 ของรายได้ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา มากกว่านี้ เมื่อทำการจำแนกประเภทงานใน 85 ประเทศ พบว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนของประเภทงานที่สามารถทำที่บ้านค่อนข้างต่ำ ตอกย้ำถึงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างประเภทของงาน และระหว่างประเทศที่มีรายได้แตกต่างกัน

 

คำถามที่ตามมาก็คือ งานประเภทใดที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสสูงกว่าประเภทอื่น?

 

 

การว่างงาน (Unemployment)

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้แรงงานโดนลดชั่วโมงการทำงานลงอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบางประเทศมีคำสั่งให้ปิดเมือง ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก และบางอาชีพไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากเกินความจำเป็น

อาชีพที่ทำงานจากที่บ้านได้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการว่างงานในทันที แสดงให้เห็นถึงอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นอาชีพที่ไม่ได้ทำงานจากที่บ้านในรัฐวอชิงตัน นอกจากนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นผลมาจากคำสั่งให้อยู่แต่บ้านอย่างเดียว แต่ยังมีผลกระทบที่คล้ายกันทั้งทางตรง และทางอ้อม ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทั่วสหรัฐกลับลดการจ้างงานลง โดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรการการทำงานอยู่บ้าน (Eliza Forsythe, 2020)

 

Homeless dirty man sitting on ground with nameplate need help isolated flat vector illustration. Cartoon desperate poor person sitting on street near trash. Charity and unemployment concept

ทั้งนี้ แรงงานที่มีศักยภาพกำลังตกอยู่ในภาวะว่างงาน แม้พวกเขาต้องการทำงาน แต่กลับไม่สามารถหางานทำได้ ดังนั้นจึงสามารถแบ่งกลุ่มประชากรที่ว่างงานในปัจจุบันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีงานทำ และกลุ่มที่ไม่มีงานทำ ซึ่งผู้ที่มีงานทำ กำลังตกอยู่ในภาวะระหว่างการเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างชั่วคราว โดยมีความเชื่อมว่างานของพวกเขายังคงมีอยู่ ซึ่งในอนาคตจะถูกเรียกกลับไปทำงาน หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น หรือเข้าสู่ภาวะปกติ ในทางตรงกันข้าม หากสถานการณ์ไม่ได้มีการปรับตัวดีขึ้น อาจจะทำให้เกิดการว่างงานที่เกิดจากบังคับให้ลาออกมากกว่าการสมัครใจลาออกเอง ซึ่งถือเป็นบริบทตายตัวของอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด (Robert E. Hall, 2020)

 

ชีวิตและสุขภาพ (Life and Health)

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะในกรณีของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยการดูแลรักษาตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การห้ามออกกำลังกายที่ฟิตเนส เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด และมีผู้คนพลุกพล่าน การปิดเมือง ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์ ขาดการอยู่กับเพื่อนฝูง หรือการได้พบปะพูดคุยเหมือนอย่างปกติ (Pakenham, 2020) มากกว่านี้ การแพร่ระบาดทำให้ผู้คนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ ความตาย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ (Asmundson, 2020)

3935349

ทั้งนี้ ในกรณีศึกษาของประเทศอินเดีย Rajesh Kumar Singh (2020) ระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์มีแนวโน้มที่จะเกิดความเครียด และวิตกกังวลมากกว่าประชาชนทั่วไป เพราะบุคลากรทางแพทย์เป็นด่านแรกในการตรวจพบเชื้อโควิด-19 จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพจิตใจ และผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ในช่วง COVID-19 ได้แก่ ความเครียด (61%) ความทุกข์ทางจิตใจ (43%) ความวิตกกังวล (34%) ภาวะซึมเศร้า (33%) และการนอนไม่หลับ (27%)

ดังนั้น การระบาดใหญ่ของ COVID-19 จึงถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพจิตอย่างไม่เคยพบเจอมาก่อน ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งล่าสุดของสเปน ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพยุโรป โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้ชายและคนวัยทำงานอย่างมีนัยสำคัญ กลับมีอัตราใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดในปัจจุบันที่ค่อนข้างมีความรุนแรงอยู่ในบางพื้นที่ และเป็นสาเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ (Bernal, 2013)

 

การทำงานที่บ้าน (Work From Home)

ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด บางบริษัทได้มีการนำมาตรการ WFH มาใช้ ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี (Tavares, A. I., 2017) ทำให้มาตรการดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายจากองค์กรทั่วโลก โดยคนทำงานสมัครใจที่จะเลือกจะทำงานในรูปแบบนี้ เพราะสามารถจัดการเวลาการทำงานได้ด้วยตัวเอง เลือกทำงานสถานที่ใดก็ได้ เป็นการลดความตึงเครียดด้วยการทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศ

แต่หลังจากการเกิดการแพร่ระบาด รัฐบาลได้มีมาตรการลดการแพร่เชื้อ จึงทำให้ทุกบริษัทสามารถพนักงานทุกคนสามารถทำงานที่บ้านได้ในทันที แต่ทว่าการทำงานที่บ้านท่ามกลางการแพร่ระบาด กลับส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานในทิศทางตรงกันข้าม เนื่องจากพนักงานต้องติดอยู่กับสถานที่เดิม และไม่ได้ออกไปเจอผู้คน ทำให้เกิดเกิดความเครียดทั้งทางด้านจิตใจ และสุขภาพร่างกายที่เริ่มอ่อนแอลง

นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพร่างกาย และจิตใจโดยรวมของผู้คนลดลงสวนทางกับการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพกาย และสุขภาพใจใหม่ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ การออกกำลังกายที่ลดลง การบริโภคอาหารขยะที่เพิ่มขึ้น การขาดการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน และการมีลูกวัยทารกอยู่ที่บ้าน อีกทั้งการมีสิ่งรบกวนต่อการทำงานภายในบ้านก็ตาม (Xiao et al., 2020)

freelancer-man-is-distracted-from-work-laptop-home_321061-13

สำหรับวัยทำงานที่มีครอบครัว และมีลูกที่ต้องดูแล ประสบปัญหาในการแบ่งเวลาทั้งจากการทำงาน และการดูแลลูก ทำให้ไม่สามารถทำทั้งสองอย่างได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลที่สั่งปิดโรงเรียน ทำให้เด็กจำเป็นต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กในช่วงระหว่างอายุ 0-5 ปี มีความเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างเต็มที่จากผู้ปกครอง อีกทั้งเป็นวัยที่ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงดูค่อนข้างมาก และต้องได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

กลุ่มเด็กในช่วงอายุดังกล่าวถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุด และยังไม่สามารถที่จะแยกแยะความสมดุลระหว่างหน้าที่การงานและครอบครัว แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงวัยทำงานที่มีลูกเล็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิต (work-life balance) สำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามีของพวกเขาออกไปทำงานนอกบ้านในช่วงเวลาฉุกเฉิน (Del Boca et al., 2020)

นอกจากนี้ ผู้หญิงวัยทำงานยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในหลายรูปแบบ ซึ่งผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาค่อนข้างน้อยมีแนวโน้มที่จะทำงานที่ไม่สามารถทำงานทางไกลหรือที่บ้านได้ (telework/work from home) ทำให้มีโอกาสในการตกงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่มีการศึกษาค่อนข้างสูงมีแนวโน้มที่จะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งช่วยลดโอกาสในการตกงานได้ในระยะสั้น อีกทั้งยังพบว่ามารดาต้องแบกรับภาระที่หนักกว่าบิดาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมารดาไม่สามารถที่จะดูแลบุตรได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าช่วงเวลาปกติ และมีโอกาสในการออกจากงานมากขึ้น ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่แน่ชัดในอนาคตว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลต่อความเท่าเทียมในการเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ อีกทั้งสภาพจิตใจของครอบครัวที่มีผลต่อการเลี้ยงดูบุตรด้วย (Prados & Zamarro, 2021)

distant-work-during-maternity-leave-concept_140689-1972

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ แต่โลกการทำงานได้มีลักษณะที่เปลี่ยนไปแล้ว จึงสามารถจะอาศัยประโยชน์จากการมาตรการ WFH เนื่องจากการทำงานที่บ้านช่วยให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ช่วยลดความตึงเครียดขณะทำงาน (Cohen et al., 2007) รวมทั้งทำให้สามารถจัดการตารางให้มีความยืดหยุ่นตามลักษณะงาน และมีสมดุลในการทำงานที่ดีขึ้น (Mann & Holdsworth, 2003; Casey & Grzywacz, 2008; Butler et al., 2009)

 

การช่วยเหลือของภาครัฐ (Government Supports)

รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้กับอาชีพที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยจำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะทางของอาชีพ ซึ่งพบว่าหน่วยงาน Partners in Health ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเปิดฝึกอบรมออนไลน์จำนวน 1,000 คน ในการติดตามกระบวนการระบุ และแยกผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด โดยผู้ว่างงานสามารถลงทะเบียนศึกษาหลักสูตรเป็นจำนวน 6 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงาน หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะแรงงาน สามารถใช้ประกอบการสมัครทำงานได้ หรือใช้เพิ่มทักษะในการหาอาชีพใหม่ในอนาคต (OECD, 2020) แต่กระนั้นนโยบายที่รัฐกำหนดเป้าหมายตามทักษะ (skill-based) อาจไม่ได้ผลเท่ากับนโยบายที่กำหนดเป้าหมายในระดับรัฐ และอุตสาหกรรม (state and industry targeted) ที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Kailing Shen, 2020)

new-normal-office-concept_23-2148592832

นอกจากการออกมาตรการให้แรงงานปฏิบัติงานอยู่ที่บ้าน รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนในแง่ของรายได้ ซึ่งนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (ALMPs) ควรนำมาใช้ควบคู่กับมาตรการสนับสนุนรายได้ภายใต้บริบทของ COVID-19 เพื่อสนับสนุนให้เกิดรายได้ การจ้างงาน และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานอย่างยั่งยืน (ILO, 2020) โดยนโยบาย ALMPs ถือเป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลที่ช่วยอุดหนุนรายได้ส่วนหนึ่งแก่แรงงาน เพื่อใช้ในการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน (Peter Auer, 2005) ได้กล่าวไว้ว่า ALMPs เป็นโครงการนำร่องของรัฐบาลที่อุดหนุนส่วนหนึ่งของรายได้คนงาน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน

 

บทสรุป: โลกการทำงานที่ไม่มีวันหวนย้อนกลับ

ในบทความนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดแรงงานก็เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกัน ทำให้แต่ละประเทศใช้วิธีป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การปิดเมือง การทำงานที่บ้าน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ทั้งสุขภาพ และการว่างงาน ซึ่งส่งผลให้โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รูปแบบการทำงานบางประเภทก็ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนกลับดังเช่นในอดีต

แม้ว่าในบทความนี้จะนำข้อมูลต่างๆมาจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่กระนั้นในโลกแห่งทุนนิยม ทำให้การทำงานของคนในสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นของตลาดแรงงานของไทยเองไม่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน หรืออาจจะเกิดผลกระทบมากกว่า ซึ่งหากมองถึงบริบทของประเทศไทยในเชิงลึกต่อกลุ่มเปราะบางต่างๆ  เช่น ปัญหาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ย่อมทำให้ปัญหาของประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางแก้ไขที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

Arntz, M., Yahmed, S. B., & Berlingieri, F. (2020). Working from Home and COVID-19: The Chances and Risks for Gender Gaps. Intereconomics, 55(6), 381-386.

Asmundson, G. J., & Taylor, S. (2020). How health anxiety influences responses to viral outbreaks like COVID-19: What all decision-makers, health authorities, and health care professionals need to know. Journal of Anxiety Disorders, 71, 102211. https://doi.org/10.1016/j.janxdis.2020.102211

Auer, P., & Leschke, J. (2005). Active labour market policies around the world: Coping with the consequences of globalization. International Labour Organization.

Butler, A. B., Grzywacz, J. G., Ettner, S. L., & Liu, B. (2009). Workplace flexibility, self-reported health, and health care utilization. Work & Stress, 23(1), 45–59. https://doi.org/10.1080/02678370902833932

Casey, P. R., & Grzywacz, J. G. (2008). Employee health and well-being: The role of flexibility and work-family balance. The Psychologist-Manager Journal, 11(1), 31–47. https://doi.org/10.1080/10887150801963885

Cohen, S., Janicki-Deverts, D., & Miller, G. E. (2007). Psychological stress and disease. Jama, 298(14), 1685-1687.

Del Boca, D., Oggero, N., Profeta, P., & Rossi, M. (2020). Women’s and men’s work, housework and childcare, before and during COVID-19. Review of Economics of the Household, 18(4), 1001–1017. https://doi.org/10.1007/s11150-020-09502-1

Dingel, J. I., & Neiman, B. (2020). How many jobs can be done at home?. Journal of Public Economics, 189, 104235.

Forsythe, E., Kahn, L. B., Lange, F., & Wiczer, D. (2020). Labor demand in the time of COVID-19: Evidence from vacancy postings and UI claims. Journal of Public Economics, 189, 104238. https://doi.org/10.1016/j.jpubeco.2020.104238

Hall, R. E., & Kudlyak, M. (2020). Unemployed With Jobs and Without Jobs (No. w27886). National Bureau of Economic Research.

ILO. (2021). Country policy responses. Retrieved from International Labour Organization (ILO): https://www.ilo.org/global/topics/coronavirus/regional-country/country-responses/lang–en/index.htm

ILO. (25 Jan 2021). ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. Seventh edition. International Labor Organization.

ILO. (June 2020). Delivering income and employment support in times of COVID-19: Integrating cash transfers with active labour market policies. ILO Brief.

Lopez Bernal, J. A., Gasparrini, A., Artundo, C. M., & McKee, M. (2013). The effect of the late 2000s financial crisis on suicides in Spain: an interrupted time-series analysis. European Journal of Public Health, 23(5), 732–736. https://doi.org/10.1093/eurpub/ckt083

Mann, S., & Holdsworth, L. (2003). The psychological impact of teleworking: stress, emotions and health. New Technology, Work and Employment, 18(3), 196-211.

OECD. (10 July 2020). Skill measures to mobilise the workforce during the COVID-19 crisis. OECD. Tackling Coronavirus (COVID-19): Contributing to a Global Effort.

Pakenham, K. I., Landi, G., Boccolini, G., Furlani, A., Grandi, S., & Tossani, E. (2020). The moderating roles of psychological flexibility and inflexibility on the mental health impacts of COVID-19 pandemic and lockdown in Italy. Journal of contextual behavioral science, 17, 109-118.

Saget, Catherine, Vogt-Schilb, Adrien and Luu, Trang. (2020). Jobs in a Net-Zero Emissions Future in Latin America and the Caribbean. Inter-American Development Bank and International Labour Organization, Washington D.C. and Geneva.

Shen, K. & Taska, B. (2020). Measuring the Impacts of COVID-19. IZA – Institute of Labor Economics. Discussion Paper Series. IZA DP No.13640. IZA Institute of Labor Economics.

Singh, R. K., Bajpai, R., & Kaswan, P. (2021). COVID-19 pandemic and psychological wellbeing among health care workers and general population: A systematic-review and meta-analysis of the current evidence from India. Clinical epidemiology and global health, 11, 100737.

Tavares, A. I. (2017). Telework and health effects review. International Journal of Healthcare, 3(2), 30.

WHO. (27 Apr 2020). Archived: WHO Timeline – COVID-19. Retrieved from https://www.who.int/news/item/27-04-2020-who-timeline—covid-19

Xiao, Y., Becerik-Gerber, B., Lucas, G., & Roll, S. C. (2021). Impacts of working from home during COVID-19 pandemic on physical and mental well-being of office workstation users. Journal of Occupational and Environmental Medicine, 63(3), 181.

Zamarro, G., & Prados, M. J. (2021). Gender differences in couples’ division of childcare, work and mental health during COVID-19. Review of Economics of the Household, 19(1), 11-40.

Share via
Copy link
Powered by Social Snap