ผลกระทบจากหมอกควันต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย
ในช่วงของฤดูกาลการท่องเที่ยวที่เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนกระทั่งเดือนมีนาคม ด้วยอุณหภูมิของภาคเหนือที่ค่อนข้างต่ำกว่าพื้นที่อื่นของประเทศเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศต่างเดินทางกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการเกิดขึ้นของปัญหาหมอกควันที่เกิดจากเผาผลผลิตทางการเกษตรประจำทุกปี ซึ่งในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2561-2562 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีปัญหาหมอกควันค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่มีความต้องการในภาคอุตสาหกรรมอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น
จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าราคาของข้าวโพดเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 6.10 บาทต่อกิโลกรัม ในปีพ.ศ.2560 เพิ่มมาอยู่ที่ 7.97 บาทต่อกิโลกรัม ในปีพ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 บาท มากกว่านี้ ยังเป็นผลต่อเนื่องจากการใช้นโยบายสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเผาผลผลิตทางเกษตรที่ส่งผลให้เกิดหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว และเมียนมา
จุดความร้อนในเชียงรายเพิ่มขึ้น
จากสถิติของ ASEAN Specialized Meteorological Centre พบว่าประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาวมีการเกิดจุดความร้อนมีค่าเฉลี่ยรายปีที่ลดลงอย่างมาก ถ้านับจากปีที่มีการเกิดจุดความร้อนมากที่สุดในปีพ.ศ.2555 อยู่ที่ 96,745 จุด โดยในปีพ.ศ.2561 มีการเกิดจุดความร้อนรวมกันเพียงแค่ 18,845 จุด ลดลงกว่าร้อยละ 25.40 โดยเมียนมายังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนจุดความร้อนสูงสุดมาตั้งแต่อดีต
ขณะที่ไทยเคยมีจำนวนต่ำกว่าสปป.ลาว แต่ปัจจุบันมีจำนวนสูงกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ใน ASEAN ได้มีการสร้างความร่วมมือในข้อตกลงเพื่อขจัดปัญหาหมอกควันข้ามแดน (The ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: AATHP) ที่มีการลงนามไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา ตั้งเป้าหมายในการปลอดหมอกควันภายในปีพ.ศ.2563
อย่างไรก็ตาม จุดความร้อนที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายกลับมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นสวนทางกับสถิติของประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2562 จำนวนจุดความร้อนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีพ.ศ.2562 มีถึง 1,903 จุด ทั้งที่ในปีพ.ศ.2561 มีเพียงแค่ 226 จุด เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 742.04
รูปที่ 1 จำนวนจุดความร้อนของไทย เมียนมา สปป.ลาว (ซ้าย) จังหวัดเชียงราย (ขวา) ปีพ.ศ.2552-2562
ที่มา: ASEAN Specialized Meteorological Centre (2562)
ค่าฝุ่นลดลงจากอดีต
สถิติจากกรมควบคุมมลพิษชี้ให้เห็นปริมาณความหนาแน่นของหมอกควันด้วยตัวชี้วัดของค่า PM10 หรือค่าฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอน มีค่าเฉลี่ยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่วัดจากสถานีในตัวเมืองเชียงราย และที่อำเภอแม่สายที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับชายแดนประเทศเมียนมา
โดยในปีพ.ศ.2555 ค่าฝุ่น PM10 ของสถานีแม่สายเฉลี่ยอยู่ที่ 82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าสถานีเชียงรายที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นค่าฝุ่นละอองที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานรายปีของกรมควบคุมมลพิษของไทยที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อมาในปีพ.ศ.2561 ฝุ่น PM10 ทั้งสถานีเชียงราย และแม่สายมีค่าเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 36 และ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ทำให้ค่าเฉลี่ยของทั้งสองสถานีใกล้เคียงกัน และลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐานรายปี
รูปที่ 2 ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอน ณ สถานีเชียงราย และแม่สาย ปีพ.ศ.2555-2562
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ (2562)
ดังนั้นจากข้อมูลที่กล่าวมาในข้างต้น สถานการณ์ของหมอกควันและค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มดีขึ้นจากอดีตอย่างมาก แต่กระนั้นค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM10 เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ.2562 โดยในเดือนมีนาคมมีค่าฝุ่น PM10 เฉลี่ยของที่ตรวจวัดที่ตัวเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สายสูงอยู่ที่ 117 และ 151 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูงสุดถึง 254 และ 357 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูงใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปีพ.ศ.2559 แต่มีค่าต่ำกว่าปีพ.ศ.2555 ทำให้สถานการณ์ของหมอกควันในจังหวัดเชียงรายกลับมาวิกฤตอีกครั้ง เนื่องจากเกินจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ของทั้งไทย และองค์การอนามัยโลก
เชียงรายเมืองท่องเที่ยว
ด้วยจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคบริการเป็นหลักในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) จากสถิติในปีพ.ศ.2560 โดยภาคบริการที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยวโดยตรง คือ ที่พักอาศัยและร้านอาหาร มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวในปีพ.ศ.2561 มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GPP หรืออยู่ที่ร้อยละ 45.33 ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายมีความจำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
สถิติปริมาณของผู้มาเยี่ยมเยือน (Visitor) ที่เข้ามาในจังหวัดเชียงรายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ.2554-2561 ถ้าไม่นับปีพ.ศ.2557 ที่มีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ส่งผลให้จำนวนลดลง ก็มีการขยายตัวสูงขึ้นในทุกปี โดยในปีพ.ศ.2561 ปริมาณของผู้มาเยี่ยมเยือนที่เป็นนักท่องเที่ยวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 ขณะที่นักทัศนาจรมีการขยายตัวที่ดีกว่าที่ร้อยละ 8.54 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลให้รายได้เติบโตกว่าร้อยละ 10.22
รูปที่ 3 สถิติการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายปีพ.ศ. 2554-2561
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2562)
มากกว่านี้ อัตราการเข้าพัก และเวลาในการพักอาศัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.51 และ 1.55 วัน ในปีพ.ศ.2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 54.96 และ 2.13 วัน ในปีพ.ศ.2561 จากสถิติสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นการกลับมาของปัญหาหมอกควันอาจเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาตามฤดูกาลเปลี่ยนเป้าหมายไปที่อื่นแทน
หมอกควันกระทบต่อการท่องเที่ยว?
ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวการลดลงของนักท่องเที่ยว ยอดขายสินค้าในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และอัตราการเข้าพักอาศัย โดยเฉพาะในช่วงของเทศกาลประจำปีอย่างสงกรานต์ พร้อมทั้งมีการปัญหาการชะลอของเที่ยวบินทางภาคเหนือ โดยในงานศึกษาของ ณัฐกาณ จรจันทร์ (2556) พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกการจองที่พัก ทำให้ต้องลดการจ้างงานของพนักงานลง
ดังนั้นการเกิดหมอกควันได้เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดในแง่ของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการเป็นอยู่ที่ดี และรายได้ของคนในจังหวัดเช่นเดียวกัน ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวของเชียงรายส่วนใหญ่เป็นการทำกิจกรรมภายนอก (outdoor activities) ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวชมสถานที่ทางธรรมชาติ การเดินเที่ยวในรอบเมือง (sightseeing) ทำให้ผลกระทบดังกล่าวมีความรุนแรงมากเมื่อเปรียบเทียบกับในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ หรือเชียงใหม่ ที่มีตัวเลือกของกิจกรรมภายใน (indoor activities) มากกว่า เช่น การเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า ดังเช่นที่เสนอในงานของ Zhang et al. (2015)
รูปที่ 4 จำนวนผู้เยี่ยมเยือน และค่าเฉลี่ย PM10 ของจังหวัดเชียงรายปีพ.ศ.2555-2561
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2562)
สรุปได้ว่าถ้าพิจารณาจากแนวโน้มที่ผ่านมา สถานการณ์หมอกควันมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของหมอกควันที่ชี้วัดด้วยค่าฝุ่นละออง PM10 มีทิศทางลดลงอย่างมากในปี 5 ปีที่ผ่านมา แต่กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงของปีพ.ศ.2562 จึงเป็นที่น่ากังวลว่าปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งย่อมส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นควรมีมาตรการอย่างชัดเจนเพื่อรับมือกับปัญหาหมอกควันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะในด้านของการประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวให้ถูกต้อง มากกว่านั้น ในช่วงเวลาที่เกิดหมอกควัน ควรมีการจัดกิจกรรมภายในเข้ามาชดเชยกับกิจกรรมภายนอก เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไม่สูญเสียประสบการณ์ที่ดี และมีความต้องการที่กลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง (revisit)
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2562). สถิติราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายเดือนที่เกษตรกรขายได้ปีพ.ศ. 2540-2562. สืบค้นจาก www.oae.go.th/assets/portals/1/files/price/monthly_price/maiza.pdf
ประชาชาติธุรกิจ. (2562). ถอดบทเรียนหมอกควันพิษ รัฐต้องทบทวนนโยบาย “ข้าวโพดประชารัฐ”. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-317614
กรมควบคุมมลพิษ (2562). สถิติค่าฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอน ณ สถานีเชียงราย และแม่สาย ปีพ.ศ.2555-2561. สืบค้นจาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/index.php
โพสต์ทูเดย์. (2 เมษายน 2562). หมอกควันภาคเหนือกระทบเที่ยวบินดีเลย์ 20% ฉุดตัวเลขนักท่องเที่ยววูบ 15%. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/economy/news/585289ประชาชาติธุรกิจ. (4 เมษายน 2562). หมอกควันภาคเหนือกระทบหนักโรงแรม-ท่องเที่ยววูบ. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-311324
กรุงเทพธุรกิจ. (2 เมษายน 2562). นทท.เกาติดปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ ก่อนตัดสินใจเที่ยวสงกรานต์. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/831370
ไทยรัฐออนไลน์. (22 มกราคม 2562). ตกมาตรฐานโลก ผ่านมาตรฐานไทย! สุดมึน ไฉนค่าวัดฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เท่ากัน?. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/scoop/1473779.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2562). สถิติการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายปีพ.ศ. 2554-2562.