‘ชาวนา’ อาชีพที่มีอยู่แต่ถูกลืม กับ คุณภาพชีวิตที่ไม่เคยดีขึ้น

wordpress featured image

 

บทความนี้เป็นการถอดบทสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลชาวนาจำนวน 13 คน ใน 4 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ ภายใต้หัวข้อ ‘The Environmental Impact to Agriculture Production Based on Rice Farming and Individual Financial Security’ ในการศึกษาแบบอิสระ (Independent Study) ของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้ความสำคัญต่อ 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ได้แก่ 1) ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ 2) ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละฤดูกาล และ 3) ความมั่นคงทางการเงินของตัวเกษตรกรเอง

เชียงรายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ประกอบกับเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับอีกสองประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา และสปป.ลาว อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางไปถึงประเทศจีนทางตอนใต้ ตลอดจนมีวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคเหนือที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงมีศักยภาพอย่างมากต่อการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว แต่กระนั้นภาคเกษตรกรรมเองก็เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของจังหวัดเชียงรายด้วยเช่นกัน

หนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญอย่างมากของจังหวัดเชียงราย คือ ‘ข้าว’ เชียงรายมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและมีคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเจ้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าข้าวจะเป็นอาหารหลักที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่าพันปี รวมทั้งมีความต้องการบริโภคจากทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรดี คุณภาพชีวิตของชาวนากลับไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร

ในปัจจุบันชาวนาต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดหาเลี้ยงปากท้องของครอบครัว ซึ่งรายได้หลักที่จะได้เป็นกอบเป็นกำ คือ ‘ฤดูเกี่ยวข้าว’ เงินก้อนนี้จะถูกนำไปชำระค่าปุ๋ย ดอกเบี้ยเงินกู้ หักต้นทุน และส่วนที่เหลือถึงจะเป็นกำไรที่เก็บไว้ดูแลครอบครัว จากสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความนิยมข้าวไทยที่ลดลง การเข้ามาแข่งขันของพันธุ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ชาวนาหลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน เกิดภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อมาทำเกษตร เพราะการทำเกษตรต้องใช้ต้นทุนสูง เพื่อมาหมุนเวียนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว

 

Agri 02

 

ในพื้นที่ 4 อำเภอมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แหล่งน้ำส่วนบุคคล รวมไปถึงระบบชลประทานในชุมชน 1 ใน 4 อำเภอ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก คือ อำเภอเชียงของ โดยเฉพาะตำบลห้วยซ้อ ถึงแม้ตำบลนี้จะมีระบบชลประทาน แต่ก็กระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง ดังนั้นการทำนาของคนในพื้นที่จึงทำได้ช่วงฤดูทำนาเท่านั้น ในบางปีที่มีการลงต้นกล้าไปแล้ว แต่น้ำไม่เพียงพอ ก็ต้องปล่อยให้ต้นข้าวยืนต้นตาย เพราะไม่สามารถจะแบกรับต้นทุนการซื้อน้ำมาใส่ให้ข้าวได้ ในปีนั้นก็จะทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา นอกเหนือจากการทำนาแล้วก็จะไปหางานรับจ้างเล็กๆน้อยๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายรายวัน ในขณะที่อีก 3 อำเภอสามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี

เกษตรกรทั้งหมดล้วนทำนาต่อจากบิดามารดาทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นที่ดินและอาชีพมรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น พอมีเงินก็จะกว้านซื้อที่นาเพิ่มเพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป ทั้งนี้ ในอดีตลูกชายจะได้เรียนสูงตามกำลังทรัพย์ของครอบครัว ในขณะที่ลูกสาวจะไม่ได้เรียนสูงเพราะจะต้องกลับมาดูแลคนที่บ้าน ทำนา ทำไร่ ต่อจากบิดามารดา จึงทำให้ผู้หญิงรุ่นก่อนจึงมีระดับการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ชั้นประถมศึกษา แต่ผู้ชายจะอยู่ที่ระดับชั้นมัธยมศึกษา เราอาจจะมองได้ว่าเพศกับโอกาสทางการศึกษาเป็นตัวแปรที่สอดคล้องกัน แต่ในปัจจุบันความคิดแบบเก่าได้เลือนลางตามกาลเวลา เกษตรกรจะส่งลูกเรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ขีดกรอบความคิดหรือแนวทางประกอบอาชีพอีกต่อไป จึงทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นบางคนจบ อย่างน้อยปริญญาตรี หรือระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 6

ด้วยการที่ข้าวเปลือกราคาไม่ถึง 10 ต่อตัน แถมถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แน่นอนว่าเกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรองราคา ในเมื่อปลูกแล้วเก็บเกี่ยวแล้ว แม้จะได้กำไรน้อย แต่ก็ต้องจำใจขาย ทำอะไรไม่ได้ เกษตรกรต่างจังหวัดจึงไม่มีใครร่ำรวยจากการปลูกข้าว ในขณะที่โรงสีกลับร่ำรวย เพราะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านมาในราคาถูก ต้นทุนต่ำ กำไรสูง

หากพูดถึงความมั่นคงทางการเงินของเกษตรกรแล้วจะเห็นได้ว่าเกษตรกรส่วนมากไม่ได้มีเงินเก็บมากพอที่จะใช้หนี้ หรือใช้จ่ายในครัวเรือนหากไม่ได้ทำนา แต่ถ้ามองในอีกมุมด้านความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรมีทุกอย่างที่เพียงพอต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปลา ไข่ ผักพื้นบ้าน แทบจะไม่ต้องพึ่งพาตลาด ขณะที่คนที่อยู่ในเมืองต้องซื้อแทบจะทุกอย่าง ทำให้ช่วงโควิดที่ผ่านมา เกษตรกรแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเลย เพราะอยู่บ้านก็มีข้าวปลาอาหารไม่ต้องไปซื้อ ใช้จ่ายน้อย สำรองเงินเก็บเผื่อฉุกเฉินเพิ่มขึ้น

 

Agri 04

 

‘หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน’ ประโยคนี้คงหนีไม่พ้นกับอาชีพ ‘ชาวนา’ เกษตรกรทุกคนต่างรู้กันดีว่าการทำนายาก เหนื่อย ต้นทุนสูง และอาจไม่คุ้มค่า แต่เกษตกรหลายคนต่างมองว่า ‘ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความสุข ทำให้ผู้คนอิ่มท้อง ผู้บริโภคมีรอยยิ้มก็สร้างความสุขให้กับเกษตรกร สามารถที่จะอยู่อย่างพอกินพอใช้ ไม่ขัดสน หาเลี้ยงชีพ และได้อยู่กับครอบครัวก็เพียงพอแล้ว’ แม้ว่า ‘บางครั้งจะถูกลืม’ เหมือนคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีปากมีเสียง ขายข้าวไม่ได้ราคา ก็มีไม่มีคนเห็นใจ ใช้ชีวิตอย่างลำบาก ขาดโอกาสในการต่อรองราคา ถูกรังแกจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรไม่สามารถที่จะทำเองได้ทุกอย่าง

‘จะให้หันไปปลูกอย่างอื่นก็ไม่ได้’ ชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวมาครึ่งค่อนชีวิต และสืบทอดต่อกันมา ให้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นก็ขาดองค์ความรู้ เงินทุน หรือกลัวว่าจะขาดทุน ส่วนทรัพยากรน้ำก็ขาดแคลน แม้ว่าจะขุดบ่อ หรือเจาะน้ำบาดาลก็ไม่เพียงพอ และใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ต้องรอฝนตกเท่านั้น

บางครั้งผู้คนในสังคมต่างใช้ชีวิตด้วยความสบายจนลืมคนข้างหลังไป ‘ไม่มีเกษตรกรคนไหนอยากจน พวกเขาล้วนแล้วแต่พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่พวกเขาทำได้เท่านี้’ คำกล่าวของเกษตรกรชาวนาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นจนหนทางที่จะลืมตาอ้าปาก แม้ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้นชาวนาหรือเกษตรกรมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่จะทำให้อาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เคลื่อนสถานะจาก ‘ชาวนาผู้ยากจน’ ไปสู่ ‘ชาวนาผู้ร่ำรวย’ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสภาพเศรษฐกิจ ตลาดที่แข่งขันสูง ราคาข้าวเปลือกที่ไม่แน่นอน โรงสี-พ่อค้าคนกลางจอมขูดรีด และปัจจัยภายในอย่างวงจรการกู้ทำนา การขาดองค์ความรู้ การขาดเงินทุน และทรัพยากรน้ำ ทุกปัจจัยที่กล่าวมาล้วนแต่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรทั้งสิ้น เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังที่นำไปสู่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ความยากจน’ ภายในสังคมไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาว

 

ศิวกร ฉิมพลายาลัย
วสุพล โกประพัฒน์พงศ์
อชิรญา เทศภักดี

Share via
Copy link
Powered by Social Snap