ทางหลวงหมายเลข 118: เส้นทางเชื่อมโยงภาคเหนือตอนบน
เขียนโดย: พบกานต์ อาวัชนาการ
วันที่: 9 มีนาคม 2564
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 23-26 ก.พ. 64
118 เส้นทางเชื่อมสองเมืองเหนือ
เชียงใหม่ และเชียงราย ถือได้ว่าเป็น 2 จังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของภาคเหนือ โดยทั้งสองจังหวัดนี้ยังมีความเชื่อมโยงกันในเชิงพื้นที่และกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอีกด้วย ดังนั้น หากสามารถเชื่อมโยง 2 จังหวัดนี้เข้าด้วยกันได้ด้วยระบบคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 จังหวัด และยังจะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านใน อาทิ สปป.ลาว เมียนมา หรือจีนตอนใต้ อีกด้วย โดยเฉพาะภาคการขนส่งและการท่องเที่ยว
ใช่แล้วครับ ผมกำลังจะพูดถึง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน โดยทางหลวงหมายเลข 118 นี้ เป็นเส้นทางสายหลักที่แยกมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ที่แยกศาลเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มาบรรจบกับถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ที่แยกแม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย แต่เดิมเส้นทางสายนี้มีแนวเส้นทางพาดผ่านสภาพภูมิประเทศที่เป็นแนวเขาสลับกัน มีเส้นทางคดเคี้ยว ทำให้การเดินทางไม่สะดวก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้กรมทางหลวงขยายถนนทางหลวงหมายเลข 118 นี้ ให้เป็นถนนมาตรฐานขนาน 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 158 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเพื่อขยายและปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 118 มาตั้งแต่ช่วงปี 2550 แล้ว โดยปัจจุบันนี้ ทางหลวงหมายเลข 118 ได้ขยายเป็น 4 ช่องจราจรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะทาง 51.2 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และอำเภอดอยสะเก็ด (เดลินิวส์, 2564; ThaiPR.net, 2563) นอกจากนี้ พื้นที่ก่อสร้างในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายบางช่วง ระยะทาง 42.8 กิโลเมตร มีความคืบหน้าไปมากกว่า 70% และรายงานล่าสุดจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 118 ช่วงบ้านปางน้ำถุ- บ้านโป่งป่าตอง ตอนที่ 1 ระยะทาง 6.6 กิโลเมตร เสร็จแล้ว (ผู้จัดการออนไลน์, 2563) ขณะที่ช่วงบ้านปางน้ำถุ- บ้านโป่งป่าตอง ตอนที่ 2 ระยะทาง 4.6 กิโลเมตร ยังไม่แล้วเสร็จ
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะทำงาน OBELS ได้เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 118 นี้ มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงขอนำภาพเส้นทางบางส่วนและความคืบหน้าของเส้นทางนี้มาให้ดู
ความคืบหน้าเส้นทาง 118
จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงสภาพถนนที่ออกจากบ่อน้ำพุร้อนแม่ขะจาน ต.แม่เจดีย์ใหม่ จ. เชียงราย มุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อปรับปรุงถนนและขยายช่องทางจราจร มีการปรับพื้นผิวถนน สภาพถนนมีความขรุขระ ทำให้รถยนต์และยานพาหนะต่างๆ ต้องวิ่งสวนทางกัน
จากภาพที่ 2 แสดงสภาพถนนบริเวณบ้านปางแฟน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พบว่า การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก ถนนและช่องทางจราจรแล้วเสร็จไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง สภาพถนนอยู่ในสภาพที่ดี ลาดยางเรียบร้อย แต่ยังไม่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ทำให้การสัญจรของยานพาหนะยังคงต้องวิ่งสวนทางกันอยู่
ภาพที่ 3 แสดงสภาพถนนบริเวณ อ.ดอยสะเก็ด ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอดอยสะเก็ดและเมืองเชียงใหม่ พบว่า ถนนในช่วงนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีการปรับพื้นผิวถนนและไหล่ทาง สภาพถนนมีความขรุขระ เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ยังไม่เปิดให้เป็นทางสาธารณะ ยานพาหนะยังคงวิ่งสวนทางกันด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรถบรรทุกและเครื่องจักรก่อสร้างทำงานอยู่บนถนนและไหล่ทาง กล่าวโดยสรุป คือ ทางหลวงหมายเลข 118 ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ หลายช่วงได้ดำเนินการปรับปรุงและขยายถนนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้งานได้ แม้จะยังไม่เปิดเส้นทางอย่างเป็นทางการก็ตาม ขณะที่อีกหลายช่วงก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ก็มีความคืบหน้าไปพอสมควร
ถนนสายยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางภาคเหนือ
โครงการก่อสร้างปรับปรุงและขยายถนนทางหลวง 118 ช่วงระหว่างอำเภอดอยสะเก็ด-ตำบลแม่ขะจาน ระยะทาง 42.8 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2564 นี้ หากเป็นเช่นนั้น จะทำให้ทางหลวงหมายเลข 118 จากจังหวัดเชียงใหม่ ถึงจังหวัดเชียงราย ระยะทางทั้งสิ้น 94 กิโลเมตร เป็นถนนแบบ 4 เลนมาตรฐานทั้งหมด จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ได้ จากเดิมที่ใช้เวลา 3.5 – 4 ชั่วโมง ลดลงเหลือ 2.5 – 3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างจังหวัดและภายในภูมิภาคมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าโครงการก่อสร้างช่วงสุดท้าย จากตำบลบ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ระยะทางอีก 64 กิโลเมตร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ออกแบบ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) (เดลินิวส์, 2564) ไม่เพียงแต่ทางหลวงหมายเลข 118 ที่ถือเป็นถนนสายยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางภาคเหนือตอนบนเท่านั้น กรมทางหลวงยังได้ริเริ่มโครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมเชียงใหม่และเชียงรายอีกหนึ่งเส้นทาง ที่จะพาดผ่านเขียงใหม่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 หากมองในระยะสั้นภายใน 1-2 ปีนี้ ทางหลวงหมายเลข 118 (แม้ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 94 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 60% ของเส้นทางทั้งหมด) น่าจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะถนนสายยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจทางภาคเหนือตอนบนเข้าด้วยกัน อันจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน การขนส่งและโลจิกติกส์ และการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้อีกด้วย
เราต้องสร้างถนนก่อนที่รถจะมาเดินไม่ใช่ว่าให้รถมาเดินแล้วค่อยสร้างถนน
คมสันต์ แซ่ลี
CEO แห่ง Flash Express
ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนา
ในมุมมองต่อภาครัฐ เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถพึ่งพิงตลาดตลาดต่างประเทศ หรือการส่งออกได้มากเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ปริมาณอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic demand led growth) หรือการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การท่องเที่ยว การค้าภายในประเทศ รวมไปถึงการใช้จ่ายภาครัฐ จำเป็นต้องมีบทบาทนำในการพลิกฟื้น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ภาครัฐเองก็จำเป็นที่ต้องหาวัคซีนเพื่อพยุง หรือกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน
ทั้งนี้ วัคซีนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศได้ ก็คือ การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ เช่น ระบบโครงข่ายถนน และระบบราง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่และสำคัญมากๆ ที่รัฐบาลเองจำเป็นต้องตีให้แตก ก็คือ การลงทุนเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น จะต้องเป็นโครงการที่มีศักยภาพ คุ้มค่าต่อการลงทุน และต้องสามารถดำเนินการสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว อยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม หรือไม่ล่าช้าเกินไปจนสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและดี สักวันหนึ่งลูกค้าจะเห็นคุณค่าของเรา และเราจะได้กำไรในอนาคต
คมสันต์ แซ่ลี
CEO แห่ง Flash Express
รายการอ้างอิง
เดลินิวส์. 2564. อัพเดทผลงาน 4 เลน ทางหลวง 118 “เชียงใหม่-เชียงราย” สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/economic/818728
ผู้จัดการออนไลน์. 2563. ขยาย 4 เลน ทล.118 “เชียงใหม่-เชียงราย” ตอนที่ 1 เสร็จแล้ว ช่วยเพิ่มความปลอดภัย. สืบค้นจาก https://mgronline.com/business/detail/9630000127495
ThaiPR.net. 2563. กรมทางหลวงยกระดับทางหลวง 118 เชียงใหม่-เชียงรายทั้งเส้นรวม 158.47 กม. เป็น 4 ช่องจราจร. สืบค้นจาก https://www.ryt9.com/s/prg/3111868
The Story Thailand. 2564. เปิดมุมมองคมสันต์ แซ่ลี ซีอีโอวัย 29 ปี แห่ง Flash Express. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=sQrWjLtbUGA