บริบทการท่องเที่ยวชายแดนแม่สายที่เปลี่ยนแปลงไป: บทความชุดสำรวจพื้นที่ชายแดนหลังโควิด-19 (ตอนที่ 3)

Untitled design

 

จากบทความการสำรวจพื้นที่ชายแดนหลังโควิด-19 ในตอนที่ 1 ในพื้นที่อำเภอเชียงแสน และแม่สาย และในตอนที่ 2 ในพื้นที่อำเภอเชียงของ ได้สะท้อนถึงมุมมองในภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแง่มุมของการค้าชายแดนเป็นสำคัญ หากแต่ในการลงสำรวจพื้นที่ชายแดนครั้งที่ 3 จะเน้นมุมมองด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทางสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (OBELS) ได้เลือกพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากการที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา หรือจังหวัดท่าขี้เหล็ก (Tachileik) รวมทั้งยังมีความโดดเด่นในด้านของการท่องเที่ยวอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ชายแดนอีกสองอำเภอ

หากกล่าวถึงการท่องเที่ยวชายแดนที่อำเภอแม่สาย คงหนีไม่พ้นการเดินจับจ่ายซื้อของราคาถูกจากประเทศจีน และเพื่อนบ้านที่ตลาดดอยเวา-สายลมจอย ที่มีสินค้าหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมาแม่สายได้รับอย่างล้นหลามจากเหตุการณ์เด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่าเข้าไปติดถ้ำ ส่งผลให้วนอุทยานถ้ำหลวงและขุนน้ำนางนอนกลายมาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยภาครัฐได้มีการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดยรอบ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยว มากกว่านี้ ยังมีการท่องเที่ยวชุมชนที่บ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักโฮมสเตย์ และทำกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมการทำกระดาษสาที่จินนาลักษณ์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวดอยผาหมีเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดสำหรับสายจิบกาแฟที่มีโฮมสเตย์ชุมชนให้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตบนดอย

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการท่องเที่ยวแม่สาย โดยการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในรายได้หลัก ในช่วงที่มีการคลายล็อคดาวน์ จึงเป็นช่วงแห่งโอกาสของอำเภอแม่สายที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเหมือน ซึ่งต้องพึ่งพากำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นสำคัญ

 

ตลาดสายลมจอย/ดอยเวา

จากการลงสำรวจพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.00 น. พบว่า ‘ตลาดแม่สาย’ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมักไปจับจ่ายซื้อสินค้า มีบรรยากาศค่อนข้างเงียบ ในช่วงเวลานั้นร้านค้าบางร้านกำลังทยอยเปิด และมีบางร้านได้ปิดชั่วคราว อันเนื่องมาจากมีการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันภาครัฐได้สั่งระงับการให้ข้ามแดนทางด่านชายแดนไทย-พม่า หรือด่านพรมแดนแม่สาย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 22 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา จนเกิดการทะลักเข้ามาของชาวเมียนมาเพื่อทำการกักตุนสินค้า โดยยังไม่มีกำหนดที่จะเปิดเป็นที่แน่นอนในอนาคต เพื่อที่จะป้องกันการระบาดของไวรัส ทำให้ไม่มีการข้ามพรมแดนไปมาทั้งชาวไทยและชาวพม่า ทั้งนี้ ตลาดแม่สายเพิ่งได้กลับมาเปิดทำการในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมหลังจากภาครัฐได้ประกาศคลายล็อคดาวน์

หลังจากตลาดกลับมาเปิดอีกครั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลงจากก่อนที่จะมีโรคระบาดอย่างมาก เนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว และการจับจ่ายซื้อของ ส่งผลกระทบต่อผู้ขายรายย่อย และผู้ประกอบการชายแดนในพื้นที่มีรายได้ลดลง แต่ยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อเจลแอลกอฮอล์สำหรับให้บริการลูกค้า ค่าใช้จ่ายจากการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในร้านค้าเพื่อรักษาความสะอาด

ผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ โดยเปลี่ยนการขายโดยตรงจากหน้าร้านเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Shoppee ทำให้สามารถหาลูกค้าใหม่ และสามารถรักษาลูกค้าเก่าไว้ได้บางส่วน ซึ่งในช่วงนี้ รายได้จากการขายหน้าร้านส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ดังเช่นในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ยังคงมีบางธุรกิจที่ยังคงเปิดให้บริการได้ เช่น ร้านขายยา เนื่องจากจำหน่ายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ เจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาความสะอาด โดยหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีความต้องการมากที่สุด ทำให้ต้องจำกัดจำนวนการซื้อต่อบุคคล อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ ธุรกิจบริการขนส่งสินค้า

จากการสอบถามผู้ประกอบอาชีพในพื้นที่อย่างผู้ค้ารายย่อย เช่น คนเร่ขายลอตเตอรี่ ที่ประกอบอาชีพนี้มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งมีรายได้หลักจากการขายลอตเตอรี่ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ผู้ขายมียอดการขายอยู่ที่ 2,000 ใบต่องวด แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียงแค่ 600 ใบต่องวด สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการซื้อและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง

ในส่วนของความร่วมมือของผู้ประกอบการต่อการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลนั้น ยังมีความหละหลวมอยู่ โดยผู้ค้าขายบางรายไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ร้านค้าจำนวนมากไม่มีการตรวจวัดไข้ ไม่มีการจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ และไม่มีการลงทะเบียนไทยชนะก่อนเข้าร้านค้า

 

ตลาดแม่สาย1

ตลาดแม่สาย2

ตลาดแม่สาย
ถ่ายโดยนางสาวศุภธิดา หัสดิน
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

การท่องเที่ยวชุมชนบ้านปางห้า

ต่อมาได้เดินทางไปยังโรงงานจินนาลักษณ์กระดาษสาที่บ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง ที่ให้บริการด้านสปาและการมาสก์หน้าด้วยไหมทองคำ ช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 กลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาในรูปแบบของทัวร์ เช่น จีน และเกาหลี โดยจะต้องมีการจองนัดหมายล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีลูกค้า และขาดรายได้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งในตอนนี้มีการเกิดโรคระบาดที่กำลังรุนแรงอยู่ทั่วโลก และประเทศไทยได้มีประกาศล็อคดาวน์ ไม่ให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ กลุ่มธุรกิจชุมชนในหมู่บ้านปางห้าจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยปกติแล้วพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นคนในหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงนี้ทางร้านไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมาระยะหนึ่ง ทางร้านจึงได้ลดการจ้างพนักงานลง ส่วนใหญ่ได้กลับไปทำอาชีพหลักของตน เช่น การตีมีด การปลูกฝรั่งกิมจู การหล่อเทียน เป็นต้น

อีกผลกระทบต่อธุรกิจจินนาลักษณ์กระดาษสา คือ ธุรกิจการส่งออกกระดาษสา ที่มีตลาดหลัก คือ ประเทศญี่ปุ่น และเยอรมัน มียอดการสั่งซื้อลดลงอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งมีปัญหาด้านการขนส่งสินค้า จากเดิมที่ต้องขนส่งทางอากาศเปลี่ยนมาส่งทางเรือแทน ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่า ในส่วนนี้ ผู้ประกอบการไม่ได้แบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลูกค้ายินดีที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และสามารถยอมรับความล่าในการขนส่งได้ มากกว่านี้ ทางผู้ประกอบการได้ระงับโครงการผลิตกระเป๋าจากกระดาษสาที่เพิ่งจะเริ่มต้นเช่นเดียว

จากการขาดรายได้ในส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบของทัวร์ ผู้ประกอบการจึงมีการปรับตัวมาผลิตหน้ากากอนามัยแทน โดยหน้ากากอนามัยของที่นี่มีจุดเด่นคือแผ่นกรองที่ทำจากใยไหมและลวดลายที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีผ่านการขายในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ จินนาลักษณ์กระดาษสาที่ยังคงเปิดให้บริการให้หมู่บ้านปางห้า ยังมีร้านอาหารบ้านสวนอุ้ยคำ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่น ที่ให้บริการทั้งที่พักและอาหาร ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

 

จินนาลักษณ์3

จินนาลักษณ์2

จินนาลักษณ์กระดาษสา บ้านปางห้า
ถ่ายโดยนางสาวศุภธิดา หัสดิน
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีชื่อเสียง ที่หากมาเที่ยวเชียงรายแล้วไม่ควรพลาดนั้นก็คือ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 2 สถานที่ที่ไปมาก่อนหน้า แต่จำนวนนักท่องเที่ยงยังคงน้อยกว่าในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ทางอุทยานได้มีบริการรถรับส่งจากลานจอดรถ มีค่าบริการ 20 บาทต่อเที่ยวทั้งไปและกลับ ทางอุทยานได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโดยก่อนเข้าไปเยี่ยมชมถ้ำจะมีจุดคัดกรอง โดยผู้เข้าชมจะต้องมีการวัดไข้ ลงทะเบียนทั้งจุดทางเข้า-ออกและรถรางที่นำผู้โดยสารจากทางเข้าไปสู่บริเวณของถ้ำ มีการติดสติ๊กเกอร์เพื่อเว้นระยะห่างที่นั่งและมีเจ้าหน้าที่ดูแลในจุดต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่บางคนยังมีความหละหลวมในการปฏิบัติตามมาตรการ เช่น ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ที่นี้มีมาตรการที่เข้มขวดมากกว่าที่อื่นๆ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีการปรับปรุงพื้นที่ภายในถ้ำโดยติดไฟ ทำให้สามารถมองเห็นบรรยากาศของถ้ำได้ชัดเจนและมีป้ายให้ความรู้ตามจุดต่างๆ

กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทย โดยมาเที่ยวแบบครอบครัวและช่วงอายุของนักท่องเที่ยวจะอยู่ในวัยกลางคน ในส่วนของสระมรกตที่เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกหนึ่งจุดได้มีการปิดบริการเพื่อปรับปรุง จะเปิดในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลากว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ในส่วนของร้านค้าปลีกย่อยที่ขายสินค้าในพื้นที่ของอุทยานมีการปิดจำนวนวนมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว

 

ถ้ำหลวง

อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ถ่ายโดยนางสาวสจีนาฏ เรืองกุน
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ดอยผาหมี

สถานที่สุดท้ายที่ได้ลงสำรวจ คือ ดอยผาหมี จุดเช็คอิน ชมวิว จิบกาแฟที่มาพร้อมกับบรรยากาศธรรมชาติ แต่เดิมลูกค้ามีจำนวนเยอะมาก เนื่องจากจุดเด่นของดอยผาหมี คือ กาแฟ ร้านคาเฟ่น่ารัก ๆ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบแนวคาเฟ่ ดื่มกาแฟ ทานเบอร์เกอร์รี่ นอกจากนี้ ยังมีบริการที่พักแบบโฮมเตย์หรือกางเต๊นท์รับลมหนาวอีกด้วย ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ร้านค้าบนดอยผาหมีได้ปิดให้บริการเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน แต่ผู้ประกอบไม่ได้แบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่าหรือค่าจ้างพนักงานเนื่องจากเป็นธุรกิจภายในครอบครัว หลังจากภาครัฐได้ประกาศคลายล็อคดาวน์ ร้านค้าต่างๆ จึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางร้านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้บริการ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงก่อนหน้านี้ที่เคยมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น ผลกระทบที่เห็นได้ชัดและต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของธุรกิจต่างๆ บนดอยผาหมี

ดอยผาหมี3

ดอยผาหมี2

ดอยผาหมี1

ดอยผาหมี
ถ่ายโดยนางสาวสจีนาฏ เรืองกุน นางสาวศุภธิดา หัสดินและนางสาววรัญญา สัมพันธสิทธิ์
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

สรุปได้ว่าจากการลงพื้นที่สำรวจตามสถานที่ท่องเที่ยวในชายแดนอำเภอแม่สาย ทำให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 จึงถือเป็นบททดสอบที่สำคัญของผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยผู้ประกอบการต้องยอมรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคในด้านความสะอาดและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับผู้ใช้บริการและเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ แต่กระนั้น ภาครัฐก็ควรที่จะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการสนับสนุนงบประมาณ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

 

ผู้เขียน
วรัญญา สัมพันธสิทธิ์
ศจีนาฏ เรืองกุน
ศุภธิดา หัสดิน
พรพินันท์ ยี่รงค์

Share via
Copy link
Powered by Social Snap