แนวทางการลงทุนในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน
สรุปสาระสำคัญของบทความ
- สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯส่งผลกระทบต่อการส่งออกของบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการผลิตของทั้งสองประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย นอกจากนี้ DOWJONES ซึ่งเป็นตลาดของสหรัฐฯซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าส่งผลต่อ SET Index ของไทยเช่นเดียวกัน แต่น่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่ในระยะเวลาอันสั้น
- นักลงทุนควรจัดสรรพอร์ตการลงทุนและปรับหุ้นใหม่ โดยที่เน้นลงทุนไปที่หลักทรัพย์ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากนัก เช่น อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร หรือลงทุนในหลักทรัพย์พื้นฐานดี มีสภาพคล่องที่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น หลักทรัพย์ที่อยู่ใน SET50 และ SET100
- การจัดสรรพอร์ตหุ้นนั้นจะต้องมีความหลากหลายในการลงทุน หรือไม่ควรลงทุนในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ที่ควรติดตาม ประกอบด้วย อัตราการว่างงาน และดัชนีราคาผู้บริโภค ขณะปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศไทยควรระวังตัวแปรทางด้าน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีราคาผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้มีผลกระทบต่อราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์
ความเป็นมาของสงครามการค้าตัั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯและจีนในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางการค้าครั้งแรกที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เลือกตอบโต้กับประเทศคู่ค้าโดยใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือ เช่น ในปีพ.ศ. 2473 เกิดเหตุการณ์การขึ้นอัตราภาษี Smoot-Hawley ของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นสงครามการค้าที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสหรัฐฯค่อนข้างมาก โดยนายเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรครีพับลิกันในปีพ.ศ. 2471 ได้สัญญากับประชาชนว่าจะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากอุตสาหกรรมการเกษตรในช่วงเวลาดังกล่าวมีการขยายตัวอย่างมากในยุโรป ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรในสหรัฐฯอย่างมาก
รูปที่ 1 อัตราส่วนของภาษีนำเข้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2464-2483
ที่มา: U.S. Bureau of the Census (1975)
การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนของภาษีนำเข้าที่เก็บรวบรวมตามมูลค่าการนำเข้าที่ต้องเสียภาษีในช่วงต้นปี พ.ศ.2473 (รูปที่ 1) จากการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษี Smoot-Hawley ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนั้นอยู่ในภาวะซบเซา การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้กลับมายังจุดดุลยภาพได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และการลงทุนลดลง แม้ว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่การเพิ่มภาษีนำเข้าหรือภาษี Smoot-Hawley จะส่งผลกระทบต่อระดับการนำเข้า แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับการส่งออกโดยตรง และแม้ดูเหมือนว่าการส่งออกของประเทศสหรัฐฯจะไม่มีความเสียหายในเชิงลบ แต่ที่จริงแล้วผลกระทบต่อการส่งออกมาจากการตอบโต้ของคู่ค้า ซึ่งรวมถึงแคนาดา และหลายประเทศในยุโรป ดังนั้นการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ หรือภาษี Smoot-Hawley จึงมีผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจหลังจากการส่งออกสุทธิลดลง
สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯกับจีน และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯและจีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกของโลก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐฯในปัจจุบัน ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนร้อยละ 25 โดยการขึ้นภาษีสินค้าส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของการส่งออกจากประเทศจีนโดยตรง ดังนั้นประเทศจีนจึงต่อต้านประเทศสหรัฐฯโดยการใช้มาตรการทางการค้าแบบเดียวกัน หรือการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรของประเทศสหรัฐฯ นโยบายของทั้งสองประเทศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศของพวกเขาเองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯและจีนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย Goncalves et al. (n.d.) กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯและจีน มีการใช้อัตราภาษีเป็นเครื่องมือในการโจมตีและตอบโต้ซึ่งกันและกัน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กนำเข้าของจีนร้อยละ 25 และกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มอีกร้อยละ 10 ในสินค้าประเภทอลูมิเนียมที่นำเข้าจากจีน หลังจากนั้นจีนได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นอัตราภาษีสินค้าเกษตรร้อยละ 15-25 รวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ร้อยละ 25 ผักและผลไม้ร้อยละ 15 และเครื่องดื่มและยาสูบอีกร้อยละ 15 จากการตอบโต้ของจีนประเทศสหรัฐฯจึงตอบโต้อีกระลอกหนึ่งด้วยการเพิ่มอัตราภาษีผลิตภัณฑ์การผลิตจากอุตสาหกรรมของประเทศจีน โดยเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีกร้อยละ 25 และจีนก็ได้ตอบโต้ประเทศสหรัฐฯเช่นเดิม โดยเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 25 สำหรับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ประกอบด้วย เนื้อวัว ข้าวเปลือก ข้าวสาลี เมล็ดพืชน้ำมัน และธัญพืช
ประเทศสหรัฐฯเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางการทูตผ่านสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้าในปี พ.ศ.2376 และข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ที่ลงนามในปี พ.ศ.2545 ทำให้บริษัทหรือนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐฯสามารถเข้าถึงการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ.2560 รายงาน Thailand Trading ระบุว่า 5 อันดับสินค้าที่มีการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯมากที่สุด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ
สงครามการค้าไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังรวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บทความนี้จึงมุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบภายในประเทศไทย และหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุนภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่นักลงทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเชิงลบ ซึ่งหลักทรัพย์บางกลุ่มหรือบางตัวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจมีโอกาสที่จะสูญเสียผลประโยชน์จากผลกระทบของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคบางตัวในประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงผ่านปัจจัยทางการค้าระหว่างประเทศ โดยรูปภาพที่ 2 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในช่วงขาลงหลังจากประเทศสหรัฐฯประกาศเพิ่มภาษีการนำเข้าของสินค้าจากประเทศจีน
รูปที่ 2 ดัชนีราคาหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ.2560-2561
ที่มา: CEIC data (2561)
คำอธิบาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิหุ้นกู้ และใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทเหล่านั้นถูกแบ่งจากขนาดและประเภทของอุตสาหกรรมเช่น SET50 คือ ดัชนีหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คำนวณจาก 50 บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET100 คือ ดัชนีหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คำนวณจาก 100 บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ INDUS คือ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ SERVICE คือ กลุ่มอุตสาหกรรมการบริการ TECH คคือ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอื่นๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถูกควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับการแลกเปลี่ยน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หรือดัชนีราคาหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET index) ในการสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาด โดยมีหน่วยในการวัดที่เรียกว่า ‘จุด’
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิกฤตสงครามการค้าในปัจจุบันระหว่างประเทศสหรัฐฯและจีน ปัจจัยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อราคาหลักทรัพย์ หาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน รวมทั้งการดำเนินการที่เหมาะสมสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงสงครามการค้า บทความนี้ไม่ได้ศึกษาผลกระทบภายในประเทศที่มีข้อพิพาททางการค้า แต่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าขนาดเล็ก โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ประกอบด้วย ต้นทุนการค้า ดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราแลกเปลี่ยน (USD/SDR) อัตราการว่างงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปริมาณการนำเข้าสุทธิ ปริมาณการส่งออกสุทธิ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราแลกเปลี่ยน (THB/USD) ปริมาณการส่งออกสุทธิ มูลค่าการส่งออกภาคเกษตร มูลค่าการส่งออกภคการผลิต มูลค่าการส่งออกภาคการขุดเจาะเหมืองแร่ และปริมาณการนำเข้าสุทธิ ราคาดัชนีหลักทรัพย์ดาวน์โจนส์ และราคาดัชนีหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2548 – ไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ.2561
จากปัญหาดังกล่าวที่ว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ผู้วิจัยจึงได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมทั้งคณาจารย์เพื่อศึกษาผลกระทบ และเสนอแนะแนวทางสำหรับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุน เพื่อนำไปสู่นโยบายหรือการลงทุนที่เหมาะสม ในช่วงสงครามการค้า โดยได้ใจความจากการสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้
มุมมองของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากภาครัฐ
(1) ศิรพล ฤทธิประศาสน์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้นทุนการค้าหรืออัตราภาษีส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าขั้นกลาง โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของประเทศไทยเป็นสหรัฐฯ เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯเกิดปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกของไทย รวมถึงส่งผลกระทบต่อ SET Index เช่นเดียวกัน จากประสบการณ์พบว่าหากดัชนีดาวโจนส์มีการปรับตัวลดลง ตลาด SET Index ก็จะปรับลดลงตาม นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนมีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยส่งผลให้เกิดการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนจากสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เป็นต้น ส่วนในด้านของความแตกต่างระหว่างสงครามการค้าและวิกฤตการณ์ทางการเงินอื่นๆ มองว่าสงครามการค้าเป็นเรื่องของการค้า ส่วนวิกฤตการณ์ทางการเงินเป็นปัญหาของภาคการเงิน
(2) คุณศรันยา อิรนพไพบูลย์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บางภาคส่วนได้รับผลกระทบจากสงคราม คือ บริษัทที่เข้าจดทะเบียนใน SET Index และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯหรือประเทศจีน มองว่าดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อมั่นของการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่งผลกระทบต่อดัชนีที่ตั้งไว้ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมาก ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศ ฉะนั้นผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพราะไม่สามารถคาดเดาต่อผลกระทบที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ และนักลงทุนก็ไม่กล้าที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม หากเปรียบเทียบกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบอย่างชัดเจน แต่สงครามการค้าเป็นเหมือนสงครามการเมืองที่ไม่ชัดเจนว่าคู่สัญญาจะทำอะไร ดังนั้นผลที่ออกมาอาจไม่รุนแรงมาก เศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ไม่เพียงแต่เกิดจากสงครามการค้าเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรปที่มี Brexit
(3) ดร. พบกานต์ อาวัชนาการ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แม้ว่าการกำหนดอัตราภาษีมีความแตกต่างในแต่ละอุตสาหกรรม หรือแต่ละสินค้า แต่อัตราภาษีหรือต้นทุนทางการค้าไม่ควรที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใน SET Index โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯสะท้อนถึงรายได้ของนักลงทุน หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดีจะส่งผลให้แนวโน้มของการลงทุนสูงขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบเช่นเดียวกัน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตวิทยา และนโยบายทางการเงิน ในทางทฤษฎี หากราคามีการปรับตัวจะส่งผลต่อความเท่าเทียมของกำลังซื้อ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการประมง และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็มีผลต่อการลงทุนที่ขับเคลื่อนผ่านกลไกการปรับตัวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี หากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีสัดส่วนในการลงทุนของประเทศไทยมาก อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยมาก สำหรับดัชนีดาวโจนส์เป็นหนึ่งในตลาดทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (NASDAQ) หรือตลาดขนาดใหญ่อื่นๆ หากตลาดทุนในประเทศให้ผลตอบแทนจากกำไร และเงินปันผลที่ดีกว่า นักลงทุนอาจไม่สนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นตลาด SET index ไม่ควรได้รับผลกระทบโดยตรง แต่น่าจะส่งผลต่อการค้าขายภายในประเทศ เพราะมีหลายบริษัทที่ทำการส่งออกและนำเข้าสินค้ากับสหรัฐฯและจีน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่กระนั้นผลกระทบของสงครามการค้ามีความแตกต่างไปจากวิกฤตซับไพรม์ เพราะมันมีนัยยะบางอย่างต่อการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นของการค้าระหว่างประเทศ แต่เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ตอนนี้จึงเห็นได้แต่เพียงสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กลไกของตลาดหุ้นยังคงดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่มาตรการในการควบคุมการไหลของเงินทุนเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งถูกดูแลและควบคุมเป็นอย่างดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่เหมือนกับที่ปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างอิสระอย่างเช่นในปีค.ศ.1997 นอกจากนี้ การควบคุมเงินทุนของรัฐบาล และการประกันความเสี่ยงจากการลงทุนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
(4) คุณปพนพัชร์ ทวีอภิรดีเจริญ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อัตราภาษีเป็นปัจจัยแรกที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกและนำเข้า ตัวอย่างเช่น หลังจากที่สหรัฐฯเห็นได้ว่าคู่แข่งอันดับหนึ่งอย่างจีนกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สหรัฐฯก็กลับมาตรวจสอบจากข้อมูลสถิติการส่งออกหรือนำเข้าจำนวนมากน้อยของแต่ละช่วงเวลาในอดีต ผลก็คือสหรัฐฯมีการนำเข้าจากจีนจำนวนมาก ดังนั้นสหรัฐฯจึงกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการเจริญเติบโต หรือชะลอการเติบโตของจีน ส่วนผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เป็นตลาดขนาดเล็กมาก การลงทุนจากต่างประเทศมีแรงจูงใจในการลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นหุ้นขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์ไม่ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลจากสินค้าจีนที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้บริษัทของจีนต้องย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปนอกประเทศ ทำให้เกิดการลดลงของ GDP จีน และอัตราการว่างงานของจีนสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย หากบริษัทของจีนย้ายการผลิตมายังประเทศไทยในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
มุมมองของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากภาคเอกชน
(1) วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จํากัด (มหาชน) กล่าวว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยการที่สหรัฐฯขึ้นอัตราภาษีนำเข้า หมายถึง ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นของสินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของไทย คือ ประเทศจีน หากเราส่งออกไปจีน และจีนไม่ส่งออกไปสหรัฐฯ บริษัทในประเทศไทยก็จะมียอดขายและกำไรที่ลดลง เช่นเดียวกันกับบริษัทที่ส่งออกไปยังประเทศจีนจดทะเบียนใน SET Index เพราะตัวแปรทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นตัวเลขที่สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องด้วยสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีการเติบโต/หดตัว เศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มที่จะเติบโต/หดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของ Dow Jones Index ส่งผลต่อ SET Index แค่ในระยะสั้นเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ สงครามการค้าค่อนข้างมีความแตกต่างจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะสงครามการค้ายังไม่ถือเป็นวิกฤต แต่เป็นสาเหตุมาจากความจริงที่ว่าสหรัฐฯมีการขาดดุลกับจีนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกสุทธิเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณ GDP ดังนั้นหากสหรัฐฯสามารถลดการขาดดุล จะส่งผลให้ GDP ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี จีนและสหรัฐฯต่างก็เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 2 อันดับแรก เมื่อเกิดปัญหาย่อมส่งผลกระทบแพร่กระจายไปยังประเทศคู่ค้า หรือประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่อยู่ในทั้งสองประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในตอนท้าย จึงถือเป็นความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายใช้เครื่องมือทางการค้ามาโจมตีอีกฝ่าย ต่างจากวิกฤตทางการเงินเช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamberger crisis) ที่เป็นฟองสบู่อยู่ภายในประเทศ หลบซ่อนอยู่ และรอเวลาปะทุออกมา แตกต่างจากสงครามการค้าที่แต่ละฝ่ายรู้และตั้งใจที่จะขึ้นภาษีระหว่างกัน และสามารถประเมินผลกระทบล่วงหน้าได้ แต่ ณ จุดหนึ่งทั้งสองประเทศจะสามารถตกลงกันได้
(2) คุณจิตรา อมรธรรม ตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และจีนก็ส่งออกไปยังสหรัฐฯในภายหลัง ซึ่งจะได้เห็นชัดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว เพราะหลังจากประธานาธิปดีของสหรัฐฯได้ปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าหลายรายการ เช่น เครื่องซักผ้าแสงอาทิตย์ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมาณร้อยละ 50-70 ในด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่มีบริษัทจดทะเบียนประเภทดังกล่าวที่ทำประกอบธุรกิจที่ประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงถือว่าได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสหรัฐฯในการจัดตั้งกำแพงภาษีเพื่อต่อต้านจีน การส่งออกของไทยลดลง แต่ส่วนแบ่งของการส่งออกมีส่วนร่วมประมาณร้อยละ 5-7 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี ตลาดหลักทรัพย์ก็ดีไม่เช่นกัน การลงทุนหรือกระแสเงินสดจึงย้ายไปที่ตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชียมากขึ้น ถือเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อตลาดหลักทรัพย์ในทวีปเอเชีย แต่ในด้านของเศรษฐกิจโดยรวมกลับเป็นลบ เมื่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศสหรัฐฯและจีนไม่ดี ดัชนีดาวโจนส์มีผลกระทบเชิงลบต่อ SET Index แต่เป็นผลกระทบที่ได้รับเป็นเพียงระยะสั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง ขณะนี้ภาคการส่งออกของไทยก็ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี สงครามการค้าแตกต่างจากวิกฤตทางการเงิน โดยวิกฤตทางการเงินเกิดจากสินเชื่อจำนองฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และส่งผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารที่มีหนี้ค้างชำระสูง
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เห็นมุมมองที่มีความแตกต่างและเหมือนกัน โดยเห็นพ้องกันของผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกของประเทศไทยในสินค้าที่ไทยเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่มูลค่าการผลิตของทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน ตลอดจนบริษัทที่จดทะเบียนไว้ในตลาด SET Index ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯที่เป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่มากของโลก มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ SET Index จากประสบการณ์ของหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ ในทางตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกลับมองว่าไม่น่าที่จะส่งผลกระทบมาก เพราะตลาด SET Index มีขนาดค่อนข้างเล็ก และไม่ได้มีรับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก ทำให้สัดส่วนการลงทุนค่อนข้างต่ำ หรือหากได้รับผลกระทบก็เกิดเพียงแค่ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวจากสงคราม อาจทำให้เงินทุนมีการไหลมาที่ตลาดทุนของประเทศตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชียมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลกระทบในเชิงบวก มากกว่านี้ สงครามการค้ากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนลดลง หรือทำให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนทั้งในและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศสหรัฐฯและจีน ดังนั้นผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการลงทุนในตลาดทุนของประเทศไทยจึงไม่น่าเป็นกังวลเท่าที่ควร เพราะสามารถที่คาดการณ์ผลกระทบล่วงหน้าได้ แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในเคยเกิดขึ้นในอดีต
ข้อเสนอแนะต่อการป้องกัน และลดความรุนแรงของผลกระทบจากผู้เชี่ยวชาญ มีความต้องการให้ภาครัฐใช้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทดแทนอุปสงค์ต่างประเทศที่หายไป เพื่อทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆปรับตัวตาม ส่วนผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดให้ดำเนินการตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน คือกล่าวคือรัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงยามเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ควรปล่อยให้บริษัทรับมือกับปัญหาและวิกฤตเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ รัฐควรสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการส่งออก พร้อมทั้งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น แข่งขันกับเครื่องจักรที่กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานในอนาคต ในแง่ของการลงทุน ควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และควรเน้นการลงทุนในบริษัทดำเนินกิจการภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนธุรกิจภายในประเทศควรลดความเสี่ยงจากการค้าโดยการสร้างตลาดการค้ากับประเทศใหม่ และมีคู่ค้าที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น
ส่วนตัวผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่านักลงทุนควรจัดสรรพอร์ตการลงทุนและปรับหุ้นใหม่ โดยที่เน้นลงทุนไปที่หลักทรัพย์ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากนัก เช่น อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร หรือลงทุนในหลักทรัพย์พื้นฐานดี มีสภาพคล่องที่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น หลักทรัพย์ที่อยู่ใน SET50 และ SET100 ทั้งนี้ การจัดสรรพอร์ตหุ้นนั้นจะต้องมีความหลากหลายในการลงทุน หรือไม่ควรลงทุนในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสงครามการค้า ในด้านของภาครัฐผู้วิจัยเห็นว่าจากการวิจัยนั้นตัวแปรของสหรัฐฯที่สำคัญประกอบด้วย อัตราการว่างงาน และดัชนีราคาผู้บริโภค ดังนั้นภาครัฐควรมีความกังวลเมื่อตัวแปรทั้งสองเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยภายในประเทศไทยที่ควรระวังในการควบคุมหรือแทรกแซงเมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกล่าวของสหรัฐฯเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีราคาผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้มีผลกระทบต่อราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างอิงจากผลการวิจัย
คณะผู้วิจัย:
กิตติพศ ชูประสิทธิ์
ชนิดาภา วัฒนสินธุ์
เอกสารอ้างอิง
Thailand Trading Report. (ม.ป.ป.). มูลค่าการส่งออกของไทย ไปยังตลาดส่งออกต่าง ๆ. สืบค้นเมื่อวัน เดือน ปี, จากเว็บไซต์: http://www2.ops3.moc.go.th/
U.S. Bureau of the Census, Historical Statistics of the United States, Colonial Times to 1970, Washington, D.C.: USGPO, 1975, Series 212.
Chuprasit, K. & Wattanasin, C. (2018). Stock investment during trade war period 2018. Economics Program, Mae Fah Luang University.
Goncalves, S. et al. (n.d.). US–China trade war: impact assessment. [ebook] Global Trade Analysis Project. Available at: https://www.gtap.agecon.purdue.edu/events/Short_Courses/2018/documents/Trade.pdf?fbclid=IwAR3l-v4obxiYHmoczmULk9OUNuNSQuw8SjhPrcdzpupOiZSYbZKHcfhvjiA.