การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ Thailand 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

จากทั้ง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจนปกป้องโลกและทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเลือกทั้งหมด 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย

  1. เป้าหมายการขจัดความยากจนมีเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปีพ.ศ.2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขั้นพื้นฐานรวมถึงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
  2. เป้าหมายมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปีพ.ศ.2573 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและจัดให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนี้เช่นเดียวกับการเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม
  3. เป้าหมายการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพในราคาที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมกันและขจัดความไม่เสมอภาคทางเพศและความเหลื่อมล้ำด้วยความมุ่งหมายที่จะประสบผลสำเร็จในการเข้าถึงหลักสากลเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประกอบด้วยการใช้ตลาดและแนวโน้มของการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีสโลแกนว่า “จุดหมายที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจและการพักผ่อน” เป็นการเดินทางมาทำงานหรือทำธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับการท่องเที่ยวและพักผ่อนกับครอบครัวในเวลาเดียวกัน

โดยมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ การดำเนินวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำบางปะกง และการท่องเที่ยงเชิงเกษตร โดยจัดเตรียมที่พักและการบริการเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ป้ายบอกทาง เส้นทางจักรยาน แอพพลิเคชั่นทางการท่องเที่ยว ระบบการจัดการขยะ ระบบการบำบัดน้ำเสีย โดยเริ่มจากริมหาด และมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการติดกล้องวงจรปิดรวมถึงการปรับปรุงแก้ปัญหาคุณภาพการท่องเที่ยวเนื่องจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เช่น โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยวดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ครอบคลุมทุกสาขาการท่องเที่ยวและมีมาตรฐานสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านสิ่งแวดล้อม

 

ระดับของผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก      

ผลกระทบที่แสดงถึงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานของชาวบ้านและนักศึกษาต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก โดยทำการศึกษาด้วยการเก็บแบบสอบถามคนในพื้นที่ และทำการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งเสนอมุมมองของผลกระทบที่ได้รับหลังจากเกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานในแง่ของโอกาสในพัฒนา ขณะที่เสนอมุมองด้านสิ่งแวดล้อมในแง่ของผลกระทบที่ส่งผลเสียต่อชุมชน

 

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบค่าดัชนีผลกระทบของโครงการ EEC ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ และนักศึกษา

ผลกระทบของชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ นักศึกษา
1.เศรษฐกิจ 54.99 % 57.58%
2.สิ่งแวดล้อม 41.04% 53.70%
3.สุขภาพ 51.67% 50.17%
4.การศึกษา 58.10% 56.60%
5.โครงสร้างพื้นฐาน 58.76% 63.77%
ค่าดัชนีโครงการ EEC 53.10% 56.93%

ที่มา: จากการคำนวณโดยผู้วิจัย

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
การเข้ามาลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ของ EEC น่าจะช่วยให้รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นตลอดจนมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ทำให้สามารถประกอบอาชีพ หรือดำเนินธุรกิจได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ดี การพัฒนาก็อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการใช้ชีวิต กล่าวได้ว่า ทำให้ค่าครองชีพในพื้นที่สูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของรายได้อาจไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น

มากกว่านี้ อาจทำให้เกิดการโยกย้ายของแรงงานและทรัพยากรในภาคเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมมาสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้บางอาชีพเลือนหายไป หากไม่ได้รับการยกระดับและพัฒนา ทั้งนี้ การเข้ามาของนวัตกรรมสมัยใหม่ต้องอาศัยระยะเวลา และขั้นตอนในการเรียนรู้ ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือไม่สอดคล้องต่ออาชีพที่ประกอบอยู่

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาระบบคมนาคมให้ดีขึ้น จะส่งผลให้เกิดการความสะดวกสัญจรของพาหนะจึงอาจจะทำให้ปัญหาฝุ่นละอองทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่แม้ว่าจะมีกฎหมาย และมาตรการต่างๆเข้ามารองรับก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาได้

ขณะที่น้ำเน่าเสียที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในโรงงานก็จะถูกปล่อยออกมาเช่นเดียวกัน โดยการบำบัดน้ำเสียถือว่าขั้นตอนที่มีต้นทุนสูง และใช้ระยะเวลา ดังนั้นการผลักภาระให้กับสังคมโดยรวมด้วยการปล่อยสู่แหล่งสาธารณะจึงเป็นวิธีที่ผู้ประกอบการเลือกที่จะทำมากกว่า

นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางเสียงก็จะตามมาจากการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ และการเพิ่มขึ้นของประชากรที่แฝงมากับการลงทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัญหาการสะสมของขยะมูลฝอย ที่หากมีบริหารการจัดการที่ไม่ดี จะทำให้ขยะล้นเมือง ส่งกลิ่นเหม็นให้กับชุมชน ไม่รวมถึงขยะสารพิษที่มาจากโรงงาน

ผลกระทบด้านสุขภาพ
ระบบการดูแลรักษาสุขภาพจะดีขึ้น จากการที่มีการเข้ามาลงทุนในกิจการด้านสถานพยาบาล เพื่อรองรับต่อจำนวนประชากรที่สูงขึ้น แต่จะทำให้เกิดผู้ที่เจ็บป่วยจากมลพิษของอุตสาหกรรมที่น่าจะมีปริมาณการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานพยาบาลอาจไม่เพียงพอและพร้อมต่อการดูแลรักษา ส่งผลให้มีการเจ็บป่วยของคนในพื้นที่มากขึ้น

ผลกระทบด้านการศึกษา
การได้รับการศึกษาส่วนใหญ่มาจากการจัดอบรมภายในหมู่บ้าน โดยการเสนอวิธีการที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปปรับใช้ของแต่ละคนและอาชีพ ส่วนเรื่องนวัตกรรมยังคงเป็นเรื่องใหม่ จึงมีความเห็นว่าอาจจะมีประโยชน์แค่ในระดับปานกลาง เนื่องด้วยสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในโครงการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ จึงอาจจะไม่ได้สนองความต้องการของชาวบ้าน และอาชีพที่ประกอบอยู่ แต่อาจตอบสนองกลุ่มประชากรที่มาจากนอกพื้นที่มากกว่า

ดังนั้นชาวบ้านจึงมีความเห็นว่าสถานศึกษามีความเพียงพออยู่ในระดับที่น้อย การจัดตั้งเขตส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมจะสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพมีจุดประสงค์คือเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพมากเท่าที่ควร เนื่องจากอาชีพที่ทำส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือเกษตรกรรมจึงมีผลกระทบแค่ระดับปานกลาง แต่จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางอาชีพสำหรับคนรุ่นใหม่รวมถึงมีอาชีพที่หลากหลาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนในด้านของนวัตกรรมที่เกิดจะขึ้น

ในส่วนของการฝึกวิชาชีพมีประโยชน์ในระดับสูงจากการแปรรูปสินค้าเกษตรหรือช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดที่ใหญ่ขึ้น และอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ขณะเดียวกันชาวบ้านต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาเพื่อรองรับงานทางด้านอุตสาหกรรมของโครงการมากขึ้น ฉะนั้นสถาบันวิจัยที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านของทฤษฎี และการจัดการต่างๆ แต่อาจจะเข้าถึงชาวบ้านได้ไม่มาก

ผลกระทบด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การจัดระเบียบผังเมืองทั้งด้านถนน ไฟฟ้า ประปา และการบริหารจัดการน้ำจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อชาวบ้านชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจากการที่ได้ปรับปรุงผังเมืองภายในพื้นที่ และการสร้างทางหลวงจะเป็นประโยชน์ต่อการกระจายสินค้าทำให้ขนส่งสินค้าได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังลดระยะเวลา และต้นทุนในการขนส่งสินค้าอีกด้วย
การเกิดขึ้นโครงการรถไฟความเร็วสูงจะสามารถลดต้นทุนทั้งตัวเงิน และประหยัดระยะเวลาการขนส่งจากการขยายตัวของโครงการ EEC ขณะที่การจัดผังเมืองใหม่จะช่วยให้ลดความแออัดลง และรองรับต่อการลงทุนที่มากขึ้น โดยการแบ่งพื้นที่แต่ละโซนให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรม เขตชุมชนแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ส่วนทางด้านการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจะช่วยลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการติดต่อสื่อสารลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้นทุนในภาคอุตสาหกรรมของการเพิ่มผลผลิตได้รวดเร็ว และมีคุณภาพที่ดี อีกทั้งยังช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนในการผลิต

 

การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 และหมู่ 7 ตำบลเนินพระ จังหวัดระยอง สามารถแบ่งผลการศึกษาออกเป็น 6 ประเด็น พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมเพื่อรองรับโครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทั้งในบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังนี้

1) ด้านเศรษฐกิจ พบว่าอาชีพของคนในพื้นที่บ้านหมู่ 5 ส่วนมากเป็นพนักงานโรงงานที่มาบตาพุด เพราะเป็นชุมชนกึ่งเมือง ซึ่งระยะทางจากหมู่บ้านไปตำบลมาบตาพุดประมาณ 5-10 กิโลเมตร และเขตอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็น 3 เขต ประกอบด้วย เขต IRPC เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เขตอำเภอปลวกแดง อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม อาหาร ยา ชิ้นส่วนรถยนต์ และเขตอำเภอมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรม ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรมีจำนวนน้อย

ขณะที่อาชีพของคนในพื้นที่ตำบลเนินพระหมู่ 7 ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คือ การปลูกมะม่วง เนื่องจากมีอุตสาหกรรมเข้ามา ทำให้การทำเกษตรค่อนข้างยาก มีการห้ามใช้สารเคมี แต่มะม่วงดูแลง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมี โดยการนำมะม่วงที่ได้นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและสร้างรายได้

แนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ:

  • ภาครัฐ ควรมุ่งเน้นพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงผสานกับความทันสมัยเข้ากับความเป็นท้องถิ่น เพื่อการรองรับการลงทุนของชาวต่างชาติ และการเกิดขึ้นของธุรกิจแบบสตาร์ตอัพ
  • ภาคเอกชน ควรมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือนำนวัตกรรมมาต่อยอดกับอาชีพเพื่อเสริมสร้างรายได้
  • ภาคประชาชน ควรได้รับการอบรมให้ความรู้ภาคทฤษฎีให้กับชาวบ้านเพื่อนำไปปรับใช้กับอาชีพในการเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างรายได้มากขึ้นให้กับชาวบ้าน

 

2) ด้านสิ่งแวดล้อม การลดปัญหามลพิษจากเขตอุตสาหกรรมหลังจากเกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นไปได้ยากในการลดปัญหามลพิษ เพราะว่าในจังหวัดระยองมีปัญหามลพิษทางอากาศเป็นส่วนใหญ่ และแค่มาตรการควบคุมมลพิษอย่างเดียวไม่สามารถลดปัญหามลพิษได้

ปัญหาด้านมลพิษจึงไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ทำได้แค่ควบคุม และรอวันที่จะปล่อยออกมา มีการเจ็บป่วยจากปัญหามลพิษ มีการรักษามลพิษทางอากาศแต่ก็ไม่ได้หายขาด การรักษาก็ต้องวิจัยโรคที่เกิดขึ้นกว่าจะหาทางรักษาได้ก็มีคนล้มป่วยเป็นจำนวนมาก พอคิดหาวิธีได้ก็จะมีโรคใหม่เกิดขึ้นมาเช่นกัน

แนวทางการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม:

  • ภาครัฐ ควรมีการส่งเสริมการลดมลพิษและการบำบัดน้ำเสียโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงลดมลพิษ (green tourism) เช่น การลดขยะมูลฝอย โดยการใช้พาชนะที่นำมาใช้ซ้ำ
  • ภาคเอกชน ควรแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษโดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิต เพื่อควบคุมการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ
  • ภาคชุมชน ควรขยายพื้นที่สีเขียวด้วยการรณรงค์ให้ช่วยกันปลูกป่าและจิตสำนึกให้รักษาพื้นที่ป่า

 

3) ด้านสุขภาพ สถานพยาบาลเพียงพอต่อคนในพื้นที่ ถ้าไม่ได้ดูแลประชากรแฝง หรือประชากรต่างชาติ แต่ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานพยาบาลรองรับไม่เพียงพอต้องแก้ไขระเบียบคนที่ไม่ใช่ประชากรแฝง โดยคนที่ต้องการจะอาศัยอยู่จังหวัดระยอง ต้องโอนมาอยู่ในจังหวัดระยอง แต่ตอนนี้คนที่มาอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังเป็นประชากรแฝงที่ส่วนมากมาทำงานโรงงานหรือมาค้าขาย ทำให้ทางไม่สามารถดูแลประชากรแฝง ส่วนค่ารักษาก็แพงจนชาวบ้านเข้าถึงได้ยาก

แนวทางการพัฒนาด้านสุขภาพ:

  • ภาครัฐ เพิ่มจำนวนสถานพยาบาล และบริการทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย และเพิ่มสวัสดิการในการเข้าถึงการรักษาเพื่อรองรับจำนวนระชากรแฝงที่จะเพิ่มขึ้น
  • ภาคเอกชน เพิ่มจำนวนสถานพยาบาลและการบริการเพื่อรองรับประชากรในอนาคต

 

4) ด้านการศึกษา แม้มีการเพิ่มขึ้นของสถานศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่การเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะของคนในพื้นที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากคนในพื้นที่ยังยึดติดกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบเก่า แต่ทักษะที่คนในพื้นที่ต้องมีหลังจากมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ ภาษาต่างประเทศ ตอนนี้เองก็ยังไม่ทราบว่าจะมีนวัตกรรมอะไรมาช่วยคนในพื้นที่ได้ ปัจจุบันมีแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาช่วยหาวิธีในการแปรรูปอาหารและการจัดจำหน่ายสินค้า ส่วนของความรู้ ทางหมู่บ้านมีการประชุมนำเอาหลักการและแนวความรู้มาอธิบายให้คนในพื้นที่เพื่อนำไปปรับใช้เอง มีการจัดสร้างอาชีพที่หลากหลายให้กับคนในพื้นที่เพื่อรองรับโครงการที่เข้ามา

แนวทางการพัฒนาด้านการศึกษา:

  • ภาครัฐ ควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็น โดยพิจารณาทั้งหลักสูตรปกติและออนไลน์ โดยมุ่งเน้นภาคปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างทักษะประสบการณ์รวมถึงสนับสนุนการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้ง 10 อุตสาหกรรม
  • ภาคเอกชน เพิ่มหลักสูตรสำหรับการคิดค้นนวัตกรรมและทักษะในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มบุคลากรและงานวิจัยในการต่อยอดนวัตกรรม

 

5) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การวางผังเมืองในตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่มีการประกาศให้มีการใช้งานชัดเจน ทำให้ยังต้องใช้แบบผังเมืองเก่า จึงเป็นผลให้ชาวบ้านได้รับอำนวยความสะดวกไม่ได้เต็มที่ ถ้ามีการปรับปรุงจะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะว่าบางพื้นที่มีที่ดินเหลือน้อย และเป็นสังคมแบบกึ่งเมือง ควรจะอนุญาตให้สร้างตึก 3 ชั้น เพื่อประหยัดพื้นที่และเพิ่มที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังสร้างไม่ได้ เพราะผังเมืองเดิมไม่อนุญาตให้สร้าง ทั้งนี้ การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากมีความเจริญเข้ามาต้องแลกกับความแออัดของประชากรแฝงในภายหลัง และปัญหาของประชากรแฝง ส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมอย่างการลักขโมยสิ่งของ ทำให้สามารถเกิดความรู้สึกไม่สบายและระแวงต่อการอยู่อาศัย ส่วนของระบบไฟฟ้าเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในหมู่บ้าน ”

แนวทางการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน:

  • ภาครัฐ ควรพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบไร้รอยต่อที่มีความเชื่อมโยงกันทุกระบบ ทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รวมถึงการวางแผนปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อความเป็นระเบียบ ลดปัญหาความแออัด และให้ผู้อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมน้อยที่สุด
  • ภาคเอกชน ควรร่วมลงทุนกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกของคนในพื้นที่ เพิ่มช่องทางการขนส่ง และลดต้นทุนการขนส่ง

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “The impact of foreign direct investment in the eastern economic corridor (EEC) at Noen phar sub district, Mueang district, Rayong Province” โดย พัฒนะ พบสุภาพ และไอมิ นาคามูรา หลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, 2561.

 คณะผู้วิจัย:
พัฒนะ พบสุภาพ
ไอมิ นาคามูรา

เอกสารอ้างอิง

  • Phobsuphap, P., Nakamura, A. (2018). The impact of foreign direct investment in the eastern economic corridor (EEC) at Noen phra sub district, Mueang district, Rayong Province. Economics Program, Mae Fah Luang University.
  • ประชาชาติธุรกิจ (2562). เมืองนวัตกรรม EECi ปตท.ทุ่ม 5,900 ล้าน สร้างคนรับ EEC. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://www.prachachat.net/csr-hr/news-330466
  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2561). เป้าหมายการพัฒนา. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://www.eeco.or.th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2
  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2561). ร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://www.eeco.or.th/sites/default/files/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B2%20%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%87%20020461.pdf?fbclid=IwAR1j2un3V-lf1ndd1e1ZuI_ZS74GEUdE0Da2EMcOzup4iGWSKPTFmKu8h0M
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2560). รายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก.สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562, จากเว็บไซต์: https://www.eeco.or.th/sites/default/files/
Share via
Copy link
Powered by Social Snap