แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรจังหวัดเชียงราย
อุตสาหกรรมการเกษตรนั้นถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับพื้นฐานชีวิตของประชากรในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี พ.ศ. 2560 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560) และเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนแรงงานสูงถึงร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด หรือมีจำนวนอยู่ที่ 17,993,000 คน ในปีพ.ศ. 2558 (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมสงเสริมการเกษตร, 2559)
เมื่อพิจารณาในด้านความพร้อมและความสมบูรณ์ในเชิงกายภาพ พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากและมีเกษตรกรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญทางการเกษตรมาเป็นระยะเวลานาน จากศักยภาพที่กล่าวมานี้ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่กับวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของตนเอง และนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของภาคการเกษตรของไทยได้
ทางด้านรูปแบบการทำเกษตรของเกษตรกรไทยพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ แรงงานเกษตรของไทยส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรคือ 56.25 ปี ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีจำนวนทั้งหมด 7,010,191 ครัวเรือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562) รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรอยู่ที่ 58,975 บาท/ครัวเรือน และหนี้สินต้นปีอยู่ที่ 122,695 บาท/ครัวเรือน คาดว่าในปีพ.ศ. 2561 รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรจะสูงขึ้นเป็น 74,483 บาท/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561)
นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรในที่ดินแปลงเล็ก โดยมีจำนวนประมาณ 146 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 14 ไร่ต่อครัวเรือน มีเพียง 3.1 ล้านไร่เท่านั้นที่เป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือมีขนาดพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ ซึ่งในปีพ.ศ. 2560 พบว่าเกษตรกรมีขนาดเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยอยู่ที่ 25.22 ไร่/ครัวเรือน และคาดว่าในปีพ.ศ. 2561 จะมีขนาดเนื้อที่ถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 23.15 ไร่/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561)
เมื่อวิเคราะห์รายจังหวัดพบว่า จังหวัดเชียงรายมีการพัฒนาทางด้านเกษตรและค้าขายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก รวมถึงมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา และพืชผัก นอกจากนี้ ยังมีพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จังหวัดมุ่งพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่น ได้แก่ ชา กาแฟ และสับปะรด โดยสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ (Champion product) ในจังหวัดเชียงราย เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ชา กาแฟ สับปะรด และสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพภายในจังหวัด เช่น แยมชาเขียว หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เมี่ยง (ชาหมัก) เป็นต้น สำหรับสถานการณ์ของพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่นในจังหวัดเชียงรายมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
กาแฟ พบว่าในปีพ.ศ. 2550 จังหวัดเชียงรายมีเนื้อที่เพาะปลูกกาแฟทั้งหมด 17,428 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 16,138 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 6,806 ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ย 422 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับปีพ.ศ.2560 พบว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตมีเพิ่มสูงขึ้น หรือเท่ากับ 46,781 ไร่ 45,368 ไร่ และ 15,470.49 ตัน ตามลำดับ แต่มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 341 กิโลกรัมต่อไร่ (สำนักสถิติแห่งชาติ, 2562) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (Compound annual growth rate: CAGR) ของผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 2.11
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลราคาเมล็ดกาแฟตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562) กลับพบว่าราคาเมล็ดกาแฟคละมีแนวโน้มสูงขึ้น (รูปที่ 1) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า เนื่องจากความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 61,480 ตัน ในปีพ.ศ. 2554 เป็น 80,000 ตัน ในปีพ.ศ. 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50 ต่อปี
ทั้งนี้ จากกระแสความนิยมดื่มกาแฟคั่วบดและกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการผลิตกาแฟสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ความต้องการในการบริโภคและผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลิตภาพทางการผลิตกาแฟ (Productivity) ของไทยกลับลดลง
รูปที่ 1 ราคาเมล็ดกาแฟคละตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2548 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2561
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562
ชา พบว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 60,604 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 55,372 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 20,264 ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ย 366 กิโลกรัมต่อไร่ ในปีพ.ศ.2550 ขณะที่ในปีพ.ศ.2560 โดยจังหวัดเชียงรายมีเนื้อที่เพาะปลูกชา เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตลดลง 24,517 ไร่ 23,871 ไร่ และ 6,158.72 ตัน ตามลำดับ และมีผลผลิตเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 258 กิโลกรัมต่อไร่ (สำนักสถิติแห่งชาติ, 2562) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของผลผลิตต่อไร่หดตัวร้อยละ 3.45
ข้อน่าสังเกตคือ ขณะที่ปริมาณผลผลิตชาของประเทศไทยลดลง แต่แนวโน้มความต้องการบริโภคชาเพื่อการส่งออก (โดยเฉพาะประเทศจีน) กลับเพิ่มสูงขึ้น (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2562)
สับปะรด เป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายในจังหวัดเชียงราย (สำนักสถิติแห่งชาติ, 2562) พบว่าในปีพ.ศ. 2556 มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 18,313 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 18,313 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 50,359 ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ย 2,750 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อมาในปีพ.ศ. 2560 เนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 15,436 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 15,324 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 47,976 ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ย 3,130.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30
เมื่อพิจารณาด้านราคาสับปะรด พบว่าราคาสับปะรดโรงงานผันผวนในปีพ.ศ.2556 ราคาสับปะรดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปีพ.ศ.2559 เนื่องจากปริมาณการผลิตสับปะรดและคลังผลิตภัณฑ์สับปะรดของโรงงานลดลงจนเกือบหมด จากการลดลงของเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตต่อไร่ ซึ่งทำให้ราคาของสับปะรดปรับตัวสูงขึ้น (ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, 2558)
หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2560 ราคาสับปะรดเริ่มลดลง เนื่องจากโรงงานมีสต็อกจำนวนมากตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 รวมถึงเกษตรกรมีกำลังการผลิตเต็มที่ ทำให้มีจำนวนสับปะรดมากเกินไป (กระทรวงพาณิชย์, 2560)
นอกจากนี้การส่งออกไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากในปีพ.ศ.2558 ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP (Generalized System of Preferences) จำนวน 3 ระบบ ได้แก่ สหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฟอร์มเอ (Form A) เพื่อรับสิทธิพิเศษลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ แต่จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) แทน (กรมการค้าต่างประเทศ, 2558)
รูปที่ 2 ราคาสับปะรดโรงงานตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562
ปัญหาและอุปสรรคของภาคเกษตรไทย
ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอดีต แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเกษตรยังคงมีมากมายหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการผลิตและด้านความต้องการบริโภค ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย และสามารถสังเคราะห์ประเด็นปัญหาและอุปสรรคภายในประเทศของการพัฒนาภาคเกษตรไทย ได้ดังนี้
(1) ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เนื่องจากที่ดินทำกินตกไปอยู่ในมือของนายทุน ทำให้เกษตรกรหรือชาวบ้านต้องเช่าที่ดินทำกินและเกษตรกรที่ยังมีที่ดินจำนวนมากแต่ละปีต้องสูญเสียที่ดินทำกินให้กับสถาบันการเงิน ทำให้ปัญหาในเรื่องของหนี้สินครัวเรือน
ปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงขนาดเล็ก รวมทั้งสิทธิเกษตรกรในด้านการเข้าถึงพันธุกรรมพืชและสัตว์ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตและพึ่งพิงตนเองไม่ได้
(2) ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อันเนื่องจากปัจจัยการผลิตมีฐานจากการใช้พลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ยา แรงงานสูงขึ้น และฐานทรัพยากรอาหารลดลง ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของรัฐบาลในระยะ 10 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการในระยะสั้น มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหา เยียวยา เรื่องปากท้องของเกษตรกรและผลผลิต ไม่ได้ไปมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือวางแผนระยะยาว เนื่องจากรัฐบาลทุกรัฐบาลส่วนใหญ่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นสถานการณ์และปัญหาข้างต้น เช่น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน คู่แข่งเข้ามาแข่งขันทำให้ขายสินค้าไม่ได้ จึงทำให้รัฐบาลออกมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือ แต่การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาระยะยาวมีบทบาทค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องใช้เวลาและอาศัยการพัฒนาทั้งเรื่องของการลงทุนด้านบุคลากร ความรู้ด้านวิชาการ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา
(3) ปัญหาเรื่องสุขภาวะ การใช้สารเคมีกำจัดหญ้ากำจัดแมลงในทุกฤดูการผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ พืชสวน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค รวมทั้งประเด็นเรื่องผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการขาดแคลนแรงงานและทิศทางตลาดที่คนไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพมากขึ้น
(4) ปัญหาด้านการตลาด ตลาดเป็นของพ่อค้าแต่การลงทุนและความเสี่ยงเป็นของเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดราคาตลาด ดังนั้นราคาผลผลิตการเกษตรจึงไม่เป็นธรรมและไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอำนาจซื้อของพ่อค้า ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ไม่เคยลดลง
นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดความรู้ในการเข้าถึงสื่อหรือช่องทางของการต่อยอดผลผลิตทำให้ตัวเกษตรกรเองเข้าไม่ถึงตลาดและยังคงต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ยกเว้นบางครอบครัวที่มีลูกหลานกลับเข้ามาช่วยพัฒนาและดูแล และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และความสามารถในการพัฒนาผลผลิตให้สามารถขายได้ในราคาที่ดี ไม่โดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตและเข้าถึงตลาดหรือผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง
(5) ปัญหาเชิงโครงสร้างของเกษตรกรมีความอ่อนแอ อันเนื่องมาจากการแทรกแซงราคา และนโยบายประชานิยม เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความจำเป็นที่ต้องรวมตัวกัน เพราะสามารถพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่นและให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคา
(6) ปัญหาการไม่สามารถดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆในเชิงรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายและมาตรการที่ค่อนข้างครอบคลุมในทุกภาคส่วนแต่ยังขาดการดำเนินงานและปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ ด้วยความล่าช้าและขั้นตอนในการดำเนินการที่ยุ่งยาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในหลายๆด้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรมต่อยอดและการแปรรูปผลผลิตที่เกษตรกรเองยังขาดความรู้ในการพัฒนาผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า
(7) ปัญหาจากปัจจัยภายนอกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายพลังงานและปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมันทั้งหลาย ทั้งยังส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น พื้นที่เกษตร ปัญหาการใช้ที่ดินที่ถูกเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละสมัย
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบประเด็นปัญหาและอุปสรรคภายนอกประเทศของการพัฒนาภาคเกษตรไทยที่จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ดังนี้
(1) การแข่งขันจากต่างประเทศ จากการเปิดเสรีทางการค้า และ/หรือ จากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสินค้าจากต่างประเทศ ในส่วนของกฎกติการะหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสุขอนามัยพืช สุขอนามัยสัตว์ โรคและแมลง ซึ่งล้วนทำให้เกษตรกรจะต้องปรับตัวและเผชิญกับปัญหาที่เข้ามากระทบในเรื่องของราคาผันผวน
(2) ปัญหาด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการประหยัดต่อขนาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการแข่งขันในการส่งออก ปัญหาเรื่องของภาวะโลกร้อนที่เกษตรกรต้องเผชิญ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และฐานทรัพยากรที่จะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีการปรับปรุงและฟื้นฟูที่ดินใช้สอยให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอรวมทั้งความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยตรง
(3) ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในโลก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทย เช่น ภาวะเศรษฐกิจของโลก จีน สหภาพยุโรป หรือมาตรการกีดกันของประเทศนั้นๆมากกว่า เช่น สหภาพยุโรป ที่ออกมาตรการกีดกันปาล์มน้ำมันที่ปลูกในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย เรื่องของ Illegal, Unreported, และ Unregulated (IUU) ที่กีดกันเรื่องประมงแบบไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ประเด็นการเข้ามาลงทุนในไทยของจีน ผู้ให้สัมภาษณ์ให้ความเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งสาเหตุที่จีนต้องเข้ามาเป็นพ่อค้าคนกลางเอง ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อค้าคนกลางของไทยที่ไม่มีความซื่อสัตย์ในเรื่องของคุณภาพ ทั้งนี้การปล่อยให้จีนเข้ามาลงทุนนี้ รัฐบาลควรเข้ามาควบคุมเพื่อไม่ให้นักลงทุนจากจีนมีอำนาจในการกำหนดตลาดมากเกินไป
แนวทางการพัฒนาภาคการเกษตร
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการพัฒนาจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของภาคเกษตรไทย (SWOT) รวมทั้งข้อเสนอแนะจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรในประเทศ ประกอบด้วย กลยุทธ์บุกตลาด กลยุทธ์กำจัดจุดอ่อน กลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และกลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกัน ดังนี้
(A) กลยุทธ์บุกตลาด
- รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อลงทุนในการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อรองรับแนวโน้มโลกด้านสุขภาพและการเข้าถึงสังคมผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นไปที่ปลอดสารพิษ
- เกษตรกรควรกล้าที่จะพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับรัฐบาลให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรในการทำการเกษตรแบบผสมผสานนอกเหนือจากการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ทั้งนี้หากเกษตรกรต้องการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวควรผลิตในปริมาณมาก (mass) นั่นคือการผลิตร่วมกับภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและร่วมกันพัฒนาผลผลิตให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หากเป็นเกษตรกรรายย่อยควรเปิดรับและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต หากว่าทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ผู้ให้สัมภาษณ์เชื่อว่าเราจะสามารถลดปัญหาความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้
(B) กลยุทธ์กำจัดจุดอ่อน
- ภาคเกษตรควรมีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่า ราคาของสินค้าเกษตรมีความผันผวน เนื่องจากอุปทานล้นตลาดและขาดอุตสาหกรรมสนับสนุน ดังนั้นภาคเกษตรควรมีการรวมกลุ่มเพื่อให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลดอุปทานส่วนเกินในตลาด นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ให้คำแนะนำว่า ภาคเกษตรควรมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) วางแผนดูแลตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้และผลผลิตให้ออกในช่วงที่ราคาดีและสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเวลาที่เหมาะสม บริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไรให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ต่ำลงพร้อมกับผลผลิตมีคุณภาพที่ดีได้มาตรฐาน เนื่องจากตราบใดที่ต้นทุนสูงจะเป็นปัญหาในเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผลผลิตต้องตรงกับความต้องการทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคโดยตรง โรงงาน และอื่นๆ
- การเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต่ำ เช่น มีสารเคมีที่มักจะมีการปนเปื้อนมากกว่าที่กำหนด ทำให้ผลผลิตถูกกีดกันจากคู่ค้าและอาจได้รับราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
- รัฐบาลควรมีการสร้างตัวอย่างให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจต่อนโยบายและมาตรกรรมของภาครัฐที่มีเนื้อหาที่เป็นทางการ ดังนั้นการสร้างตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมนั้นสามารถทำให้เกษตรกรนำไปทำตามได้อย่างง่ายดาย
- ภาครัฐควรมีการแนะนำพืชที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่นั้นแทน พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาภาคเกษตร รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยเดิมที่ว่าเมื่อรัฐบาลมีการเชิญชวนเกษตรกรให้ปลูกพืชที่ได้รับความนิยม ราคาสินค้าเกษตรจะมีตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรกรจะหันมาปลูกพืชที่ได้รับความนิยม ส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด
(C) กลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
- สาเหตุของความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงของภาครัฐในภาคเกษตร ทำให้ตลาดเกิดความล้มเหลว กลไกการตลาดควรขึ้นอยู่กับผู้ซื้อและผู้ขาย (รวมถึงโรงงานแปรรูปและเกษตรกร) โดยปราศจากการแทรกแซงด้านราคาจากรัฐบาล รัฐบาลควรมีหน้าที่กำกับดูแลและคุ้มครองภาคเกษตรกรรมเท่านั้น
- รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อภาคเกษตร เนื่องจากปัจจุบันอาชีพเกษตรกรรมถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก ทั้งที่จริงแล้วหากมีการพัฒนาและเพิ่มมูลค่า อาชีพนี้ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมาก
(D) กลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกัน
- เกษตรกรไทยที่มีการทำเกษตรแปลงเล็ก รัฐบาลได้พัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรแปลงเล็ก เพื่อลดต้นทุนที่สูงของเทคโนโลยีบางประเภทที่ไม่สอดคล้องกับขนาดแปลง เช่น การรดน้ำโดยใช้ระบบน้ำหยดแทนโดรน ดังนั้นสรุปได้ว่าประเทศไทยควรพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเกษตรขนาดเล็ก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและยกระดับตนเองให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะได้
- ภาครัฐควรสร้างแพลตฟอร์มการตลาดใหม่สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถคำนวณและวางแผนการชำระค่าใช้จ่ายรายได้และปริมาณได้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร
- รัฐบาลควรมุ่งเน้นการประกันคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้า ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหากเกษตรกรผลิตผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐานให้กับประเทศคู่ค้าแล้วนั้น ประเทศคู่ค้าจะระงับการซื้อขายกับประเทศไทย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร
- เกษตรกรควรศึกษาหาความรู้ในพืชที่ปลูก ส่วนภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องของ ดิน น้ำ นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดและการแปรรูปผลผลิต ทั้งยังควรให้ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายสังคม (social network) เพื่อลดปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางและสามารถติดต่อสื่อสารได้โดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- นโยบายของภาครัฐไม่ควรแทรกแซงกลไกตลาด เนื่องจากจะทำให้กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) ควรให้ตลาดดำเนินด้วยตัวของมันเอง รวมถึงภาครัฐควรมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ตลาดมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบการซื้อขายได้ นอกจากนี้นโยบายที่ออกมาควรเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากนโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาโดยรวมของประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
แม้ว่าภาคการเกษตรของไทยในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้นจากในอดีต แต่ยังพบปัญหามากมาย จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย พบว่าปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยเกิดจาก ปัญหาด้านปัจจัยและทรัพยากรการผลิต เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง จำเป็นต้องเช่าที่ดินจากเจ้าของเพื่อทำการเกษตร ปัญหาด้านต้นทุนที่สูง เนื่องจากการทำเกษตรจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตมากมายทั้งปุ๋ย เครื่องมือเครื่องจักร และเมล็ดพันธุ์พืช ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่สูง ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รายได้น้อยลง
ปัญหาด้านสุขภาวะ ปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้เกษตรกรและผู้ที่อยู่รอบพื้นที่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบทางอากาศ รวมถึงทางน้ำหากมีการบริโภคน้ำจากแหล่งเดียวกัน ปัญหาด้านตลาด เกษตรกรบางกลุ่มถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางทำให้ได้รายได้น้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถหาช่องทางการจัดจำหน่าย จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางเพื่อขายผลผลิต
ปัญหาต่อมา ปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำมัน หลายพื้นที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันได้มากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา เช่น โครงสร้างที่ดินและระบบเกษตรถูกเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ปัญหาสุดท้ายคือ โครงสร้างของเกษตรกรอ่อนแอ เนื่องจากการแทรกแซงราคาของภาครัฐ ทำให้ระบบตลาดไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด
ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อการต่อยอดและพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สำคัญได้แก่ ภาคเกษตรควรมีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ กลไกการตลาดควรขึ้นอยู่กับผู้ซื้อและผู้ขาย (รวมถึงโรงงานแปรรูปและเกษตรกร) โดยปราศจากการแทรกแซงด้านราคาจากรัฐบาล รัฐบาลควรมีหน้าที่กำกับดูแลและคุ้มครองภาคเกษตรกรรมเท่านั้น
สำหรับเกษตรกรไทยที่มีการทำเกษตรแปลงเล็ก รัฐบาลได้พัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรแปลงเล็กเพื่อลดต้นทุนที่สูงของเทคโนโลยีบางประเภทที่ไม่สอดคล้องกับขนาดแปลง ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อลงทุนในการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อรองรับแนวโน้มโลกด้านสุขภาพและการเข้าถึงสังคมผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นไปที่ปลอดสารพิษ อีกทั้งภาครัฐได้สร้างแพลตฟอร์มการตลาดใหม่ซึ่งเป็นการซื้อขายล่วงหน้า ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคสามารถคำนวณและวางแผนการชำระค่าใช้จ่ายรายได้และปริมาณได้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร
สุดท้ายรัฐบาลควรมุ่งเน้นการประกันคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้า ซึ่งแนวทางการเสนอแนะมีความสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์เชิงลึกจากหน่วยงานและพื้นที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยได้
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “วิธีการลดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในประเทศไทย” โดย นิตยา บัตรวิเศษ, อภิสรา บวรสุทธิมนตรี และ นันทนัช วันไชยธนวงศ์ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, 2561.
คณะผู้วิจัย:
นิตยา บัตรวิเศษ
อภิสรา บวรสุทธิมนตรี
นันทนัช วันไชยธนวงศ์
เอกสารอ้างอิง
Bawornsutthimontri, A., Butwisad, N., & Wanchaitanawong, N. (2018). How to reduce agricultural price fluctuation in Thailand. Economics Program, Mae Fah Luang University.
กรมการค้าต่างประเทศ (2558). โครงการ GSP ที่ไทยถูกตัดสิทธิ. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/ServiceData-Information/dft-service-data-privilege/Detail-dft-service-data-privilege/ArticleId/4924/4924
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2562). DITP แนะตลาดเครื่องดื่มชาในจีนมาแรง. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://www.ditp.go.th/ditp_web61/index.php#.
กระทรวงพาณิชย์ (2560).ราคาสับปะรดตกต่ำ ในรอบ 10 ปี เพราะอะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://www.ispacethailand.org/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84
%E0%B8%A1/16458.html?fbclid=IwAR06RzO8m6Uh2lta62gYp0CWJIHJlgianbAMdhj73m6lf9w_5tKA69rsVDU
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (2558). อุตสาหกรรมสับปะรด. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://fic.nfi.or.th/foodsectordatabank-detail.php?id=10
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร (2559). จำนวนประชากรภาคเกษตร. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://www.agriinfo.doae.go.th/5year/general/54-58/farmer54-58.pdf
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2560). GDP ไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5165
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2561). เศรษฐกิจการเกษตรรายสินค้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562, จากเว็บไซต์ : https://cdn.fbsbx.com/v/t59.2708-21/52950172_451741032299783_37931064104813
85472_n.pdf/commodity2561.pdf?_nc_cat=105&_nc_eui2=AeHoKMKW5bdptC5EDiklHyPCtsaqjCyV7CbCJkCfXjMSwSuYV-dBOWDrpW9RZxFf54ZP-wCaEsreMAZcvP8rV_bf4Z05JC6FgLz1USTEd
A6aTw&_nc_ht=cdn.fbsbx.com&oh=d7e275eb504d250be263549ce355616b&oe=5CE8B452&dl=1
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2562). ดัชนีราคาและผลผลิต. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์ : http://www.oae.go.th/view/1/%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95/TH-TH?fbclid=IwAR0iN73JM46X1WL5YPzbyLwvvOByZ1d6m4XpAfxhruoQbOnUqGd5q5113LU
สำนักสถิติแห่งชาติ (2562). จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำแนกรายจังหวัด พ.ศ. 2557 – 2560. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 , จากเว็บไซต์ : http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/
sector/th/11.aspx
สำนักสถิติแห่งชาติ (2562). สถิติการเกษตร การป่าไม้ และการประมง จังหวัดเชียงราย. สืบค้นเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2562 , จากเว็บไซต์ : http://chiangrai.old.nso.go.th/nso/project/search/index.jsp
?province_id=47&fid=3&pro_code=O-src-10&pro_year=2560&data_type=3