งานในโลกอนาคตจากมุมมองเพศภาวะ

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ด้วยการเผชิญหน้ากับความปั่นป่วน (Disruptions) ที่เกิดขึ้นจาก Mega Trends หรือแนวโน้มที่ทรงอิทธิพลต่อโลก Hay Group[1] ทำการวิจัยและระบุถึงแนวโน้มที่ทรงอิทธิพล 6 ประการที่จะเป็นตัวกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน แนวโน้มที่ทรงอิทธิพล 6 ประการคือ 1) โลกาภิวัตน์ 2.0 ซึ่งพลังอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแกนโลกมามีศูนย์กลางอยู่ในทวีปเอเชีย 2) วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้นำในระดับต่างๆ ต้องรับนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นวัฒนธรรมหลัก 3) การหลอมรวมทางเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านต่างๆ อาทิ นาโน ชีววิทยา ข้อมูล สมองกล ก้าวหน้าและหลอมรวมเป็นหนึ่ง ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมในตลาดมากยิ่งขึ้น 4) เทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานและบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ที่ต้องมีทั้งความซื่อตรงและมีคุณธรรม 5) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน และสงครามการแย่งแรงงานที่มีทักษะ 6) ความเป็นปัจเจกนิยม เนื่องจากความก้าวหน้าและการหลอมรวมของเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้สังคมในห้วงเวลาถัดไปมีความเป็นปัจเจกนิยมมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดนี้ เป็นสภาพการณ์ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าโลกแห่งงานในอนาคตจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วย

ในช่วงต้นปี 2562 หลายประเทศในยุโรปตื่นตัวเรื่องผลกระทบสืบเนื่องจากแนวโน้มอันทรงอิทธิพล 6 ประการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การปรับตัวของธุรกิจ ภาครัฐและแรงงานมีปรากฎให้เห็น ภาคธุรกิจที่มีกำลังทางการเงินมากเพียงพอปรับเปลี่ยนของรูปแบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตัล (Digital Technology) สมองกล (Artificial Intelligence) ตลอดจนระบบอัตโนมัติ (Automation) เพิ่มมากขึ้น บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในเยอรมนีทำการควบรวมกิจการกับบริษัทสัญชาติจีนเพื่อการพัฒนาที่ก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น ภาครัฐที่เป็นตัวแสดงหลักในกิจการรัฐวิสาหกิจก็พบว่ามีการปรับตัวเช่นเดียวกัน อาทิ PostNL หรือบริษัทไปรษณีย์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากความนิยมในการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะทำให้การส่งจดหมายซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตนได้รับผลกระทบ จึงมีการปรับตัวตั้งแต่ การหยุดรับพนักงานใหม่ การให้เงินอุดหนุนจำนวน 5,000 ยูโร เพื่อให้พนักงานไปศึกษาเพิ่มเติมเตรียมพร้อมการเปลี่ยนงาน เป็นต้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติที่จัดโดย FES มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung ซึ่งถูกจัดให้เป็นคลังสมองลำดับที่ 10 ของโลก โดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เพื่อหารือร่วมกับนักสตรีนิยมในภูมิภาคเอเชียเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มอันทรงอิทธิพลและงานแห่งอนาคต ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อเดียวกัน กับนักสตรีนิยมจากลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งจากการประชุม ทำให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดว่าโลกของงานในอนาคตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายสำคัญๆ คือ 1) ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเศรษฐกิจอันใดอันหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ 2) นโยบายการพัฒนาของประเทศ ได้แก่ การมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่การผลิตที่พึ่งพิงเทคโนโลยีหรือไม่ 3) ความพร้อมในเชิงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทำให้นโยบายการพัฒนาของประเทศให้เป็นจริง 4) ความพร้อมของแรงงานและทักษะของแรงงานที่ตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ 5) ค่านิยมความเชื่อในสังคม ศาสนา และคติความเชื่อของสังคมว่าด้วยเรื่องงาน

จากการประชุมร่วมกับนักสตรีนิยมในทวีปลาตินอเมริกา และแอฟริกา ทำให้เห็นว่าระดับการพัฒนาและการผลิตยังคงเน้นอยู่ที่การดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในประเทศบราซิล โมซัมบิก และหลายประเทศในแอฟริกา รายได้หลักของประเทศยังคงมาจากการขุดเหมืองแร่โดยการลงทุนจากต่างประเทศ และการทำงานในเหมืองแร่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานชาย ในขณะที่ผู้หญิงจะรับผิดชอบในการดูแลครอบครัวและบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากธุรกิจข้ามชาติ ดังนั้นการมองภาพในอนาคตที่เทคโนโลยีมีการปรับตัวอย่างฉับไว ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมจากทั้งสองทวีปมองว่า การขูดรีดเอาทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นไปอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนแนวทางหรือวิธีการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน

การประชุมในกลุ่มนักสตรีนิยมในภูมิภาคเอเชีย เห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มการทำงานในโลกอนาคตมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาด้วยเลนซ์เพศภาวะ กล่าวคือ ในกลุ่มประเทศมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน พบว่าโครงสร้างแรงงานเป็นโครงสร้างที่มีผู้ชายในตลาดแรงงานในอัตราที่สูงมาก ในขณะที่ผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงานมีอยู่ในอัตราที่ต่ำ และมักจะทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายต่ำ ในขณะที่อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของไทย มองโกเลียและฮ่องกง พบว่ามีผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานในอัตราที่สูง อย่างไรก็ดี ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือ สัดส่วนของผู้หญิงจำนวนมาก ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น การทำงานบ้าน รับจ้างทั่วไป เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ โครงสร้างตลาดแรงงานในเอเชีย มีการแบ่งแยกทางเพศ งานที่อยู่ในระบบและงานทางด้านวิชาชีพ อาทิ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ จะเป็นงานที่พบผู้ชายทำงานอยู่ในสัดส่วนที่สูง และงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้คน (Care Economy) อาทิ ครู พยาบาล คนทำงานบ้าน มักจะมีผู้หญิงอยู่ในสัดส่วนที่สูง และยังพบด้วยว่าด้วยลักษณะงานที่อยู่นอกระบบ (Precarious Work) ทำให้งานที่มีผู้หญิงกระจุกตัวอยู่ ไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองในแง่ของสวัสดิการการทำงาน และการรับรองทางกฎหมาย

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประชากรที่มีอายุเกิน 15 ปี มีจำนวน 56.3 ล้านคน และอยู่ในกำลังแรงงาน 37.9 ล้านคน โดยเปรียบเทียบระหว่างแรงงานชายและหญิงพบว่าผู้หญิงอยู่ในกำลังแรงงานในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ชายเพียงเล็กน้อย หากพิจารณาในแง่โครงสร้างกำลังแรงงานตามภาคการผลิต พบว่าร้อยละ 67.8 อยู่นอกภาคเกษตร ร้อยละ 32.2 อยู่ในภาคเกษตร ในหากพิจารณาในนอกภาคเกษตรแล้วพบว่าภาคที่ดูดซับกำลังแรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการส่งออกและการค้าปลีก ภาคการซ่อมแซมยานยนต์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคอุตสาหกรรมอาหาร และหากพิจารณาเฉพาะแรงงานหญิง ตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2558 พบว่าแรงงานหญิงกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการและขายปลีก (4.4 ล้านคน) ภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง (4.1 ล้านคน) แรงงานรับจ้างทั่วไป (2.3 ล้านคน) วิชาชีพ (1.3 ล้านคน) และแรงงานมีทักษะ (1.3 ล้านคน) ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย ยังพบด้วยว่ามีโครงสร้างแรงงานที่มีลักษณะพิเศษคือมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราที่สูงนับเป็นร้อยละ 10 ของกำลังแรงงาน ทั้งนี้เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศที่มีความใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานจากเพื่อนบ้าน กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 3.9 ล้านคน (ILO Thailand Migration Report, 2019) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีลักษณะเฉพาะตัวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มักจะทำงานอยู่ในภาคการผลิตที่แรงงานไทยมักจะไม่ทำ เช่น แรงงานประมง แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร งานบ้าน เป็นต้น

หากมองภาพในอนาคตของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการสถิติของ United Nations Department of Economic and Social Affairs ในปี 2560 ประชากรของประเทศไทยคือ 69 ล้านคนโดยประมาณแต่มีแนวโน้มที่จะลดลง ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ต่ำมากคือร้อยละ 0.2 ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ 1.5 ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2560 ประชากรผู้สูงอายุนับเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด แต่ด้วยอัตราการเพิ่มของประชากรที่ต่ำเช่นนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2593 สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะมีมากกว่าร้อยละ 35

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การคาดการณ์อนาคตของงาน ต้องพิจารณาถึงแนวโน้มอันทรงอิทธิพล 6 ประการ และการที่จะเข้าใจว่าผลกระทบจะเป็นเช่นไรในประเทศหนึ่งๆ ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลัก คือ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายการพัฒนาของประเทศ ความพร้อมในเชิงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทำให้นโยบายการพัฒนาของประเทศให้เป็นจริง ความพร้อมของแรงงานและทักษะของแรงงานที่ตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ค่านิยมความเชื่อในสังคม ศาสนา และคติความเชื่อของสังคมว่าด้วยเรื่องงาน

สำหรับประเทศไทย ปัจจัยที่นับได้ว่ามีความสำคัญและการกำหนดแนวโน้มงานในอนาคต คือ นโยบายของรัฐบาล สภาพโครงสร้างประชากร และโครงสร้างตลาดแรงงาน รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี ด้วยวิสัยทัศน์มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง รัฐบาลยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงภาคเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจหลักของไทย 5 ภาคการผลิต และมุ่งพัฒนาภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ อีก 5 ภาคการผลิต อีกทั้งยังได้ส่งเสริมในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ สาธารณูปโภคและการเชื่อมต่อคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าการลงทุน ดึงดูดทุนจากต่างประเทศ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2562) ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาความพร้อมของกำลังแรงงานในการรองรับการพัฒนาภายใต้กลยุทธ์ไทยแลนด์ 4.0 โดยชี้ให้เห็นประเด็นว่า แรงงานที่มีทักษะพร้อมในการทำงานโดยเฉพาะด้านดิจิตัล และเทคโนโลยียังไม่เพียงพอ แม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาของไทยจะมีหลักสูตรจำนวนมากที่ผลิตบัณฑิตในด้านดังกล่าว จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านดิจิตัล เทคโนโลยี มักจะไม่ได้ทำงานในสายงานของตนเอง และคนที่ทำงานในสายงานตรงกับที่จบการศึกษามา ก็ไม่ได้มีทักษะเพียงพอหรือพร้อมในการทำงาน หากพิจารณาเพิ่มเติมด้วยมุมมองทางเพศภาวะ พบว่าโลกของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโยลี ดิจิตัล เป็นโลกของการทำงานที่มีผู้ชายเป็นหลัก แม้แต่การทำ Startup ที่ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาล นักธุรกิจหญิงชาวไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมากชานอน กัลยาณมิตร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โลกของธุรกิจ Tech Startup เป็นโลกของผู้ชาย

หากจะพิจารณาโลกของงานในอนาคตของไทย พบว่านโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เฉพาะ 10 อย่าง ยานยนต์แห่งอนาคต สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยวทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตร อาหารแห่งอนาคต โรบอติกส์ โลจิสติกส์และการบิน ชีวเคมีและพลังงานชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิตัล ศูนย์กลางการแพทย์ โดยมีการสนับสนุนในเชิงกลไก อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขและมาตรการส่งเสริการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เอื้อให้มีการลงทุนด้าน 10 ด้านเป็นการเฉพาะ การส่งเสริมให้เกิดกาเรียนรู้ทักษะของนักศึกษาและนักเรียนเพื่อพร้อมในการทำงานผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล การส่งเสริมองค์ความรู้ผ่านการจัดอบรม ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนทางการเงินและสินเชื่อ เหล่านี้นับได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนจากฝั่งรัฐบาลเชิงนโยบาย

ในสภาพความเป็นจริง การปรับตัวของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งในแง่ของความอยู่รอดในเชิงธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนในการพัฒนาประเทศและนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือในฐานะที่เป็นแหล่งการจ้างงานให้กับกำลังแรงงานในประเทศ แน่นอนว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจ และการดำเนินนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ตอบสนองของโลกที่ปั่นป่วน ส่งผลกระทบต่องานในอนาคตและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีทั้งในเชิงปริมาณ คืองานบางงานจะหลายไปแล้วถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ การเกิดขึ้นของงานใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงาน เช่น ไม่จำเป็นต้องมาทำในที่ทำงานเพื่อลดต้นทุนในการดูแลสวัสดิการของพนักงาน ความพึงพอใจของแรงงานที่จะรับงานไปทำที่บ้านในลักษณะของ Click and Cloud

ในประเทศไทย พบว่ามีหลายภาคธุรกิจที่มีการปรับตัวให้เห็นแล้ว เช่น 1) ภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปิดสาขาธนาคาร มีการปรับลดขนาดพนักงานลง และเพิ่มบริการดิจิตัลมากขึ้น รูปแบบการบริหารจัดการพนักงานขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคาร เช่น ธนาคารบางแห่งเลือกที่จะปิดธนาคารสาขาและย้ายพนักงานมาอยู่ในตำแหน่งงานอื่นที่จำเป็น แต่ไม่รับพนักงานใหม่ การลดจำนวนพนักงานเกิดจากการเกษียณอายุของพนักงาน 2) ธุรกิจเกษตรและอาหาร คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของธุรกิจในเครือซีพี กรุ๊ป ได้ให้สัมภาษณ์โดยชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้หุ่นยนต์ เซ็นเซอร์และระบบอัตโนมัติในการผลิตภาคเกษตร (การเลี้ยงไก่ไข่) และภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นถึงความแม่นยำของระบบเซ็นเซอร์ที่จะลดความผิดพลาดของมนุษย์ ประสิทธิภาพและความประหยัดในการผลิต เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ 24 ชั่วโมง และความคุ้มทุนเนื่องจากทั้งโรงงานใช้แรงงานเพียง 7 คนเพื่อควบคุมเครื่องยนต์ 3) ธุรกิจยานยนต์ โดยบริษัท โตโยต้า ประเทศไทยได้เลิกจ้างพนักงานจำนวน 800 คนเนื่องจากได้นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต

จากตัวอย่างทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรมทำให้เห็นได้ว่า งานที่มีลักษณะทำซ้ำ เป็นงานที่มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิตัล และก็พบด้วยว่าการที่จะตัดสินใจใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นต้องมีความพร้อมในการลงทุนเนื่องจากต้องใช้ทุนในปริมาณที่มากและไม่ใช่ทุกบริษัทที่สามารถดำเนินการได้ทันที อีกทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้มีผลกระทบที่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตที่ต่างกัน เช่น ภาคการเงินและภาคการอาหาร การแทนที่ของเทคโนโลยีมีผลกระทบกับผู้หญิงมากกว่า ในขณะที่ภาคยานยนต์กระทบกับผู้ชายที่เป็นแรงงานหลักของภาค

คำถามที่สำคัญคือ การปรับตัวของแรงงานควรจะได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม และพิจารณาด้วยมุมมองของเพศภาวะด้วย รัฐความมีส่วนรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมให้แรงงานพัฒนาทักษะที่เหมาะสมโดยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่บนฐานของความเสมอภาคเท่าเทียม ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้จ้างงานให้มองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของผู้หญิง ตลอดจนดูแลธุรกิจที่ตัดสินใจที่จะปรับตัวโดยให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานที่นำไปสู่การเจริญเติบโตร่วมกันและยั่งยืน

[1] สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ใน http://www.haygroup.com/en/campaigns/the-six-global-megatrends-you-must-be-prepared-for/

 

ร่มเย็น โกไศยกานนท์

Share via
Copy link
Powered by Social Snap