การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติในประเทศไทย
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “Contribution of stateless people in Informal Economy to Thailand” โดย ศุภกร กันธิมา และ มิยูกิ ซาโต้ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, 2561.
สถานการณ์ของกลุ่มคนไร้สัญชาติภายในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขและหาทางออกได้อย่างลงตัว สืบเนื่องมาจากปัญหาหลายประการ จากการประเมินจำนวนของกลุ่มคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยโดยกระทรวงมหาดไทยในปีพ.ศ. 2560 พบว่ามีประชากรกลุ่มคนไร้สัญชาติอยู่ที่ประมาณ 488,105 คน ซึ่งใกล้เคียงกับการประเมินของ Institute of scientific information (ISI) พบว่ามีจำนวนคนไร้สัญชาติอยู่ที่ประมาณ 486,440 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.007 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย (สํานักงานสถิติแห่งชาติ, 2560) จากข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าจำนวนของกลุ่มคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากพอสมควร แต่กลุ่มคนดังกล่าวกลับถูกคนบางส่วนมองว่าเป็นภาระทางสังคมและทำให้สังคมนั้นเกิดความเสียหาย โดยมิได้พิจารณาความเป็นเหตุเป็นผลของความมีอยู่ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ เช่น กลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร พวกเขาต้องการอะไร และอะไรถึงทำให้พวกเขาทำเช่นนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นได้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อดำรงชีพอยู่เสมอ เพียงแต่กิจกรรมของพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ (Formal Economy) แต่ถูกจัดอยู่ในหมวดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Economy)[1] ประกอบด้วย เศรษฐกิจนอกระบบ และงานบ้านภายในครอบครัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกระบบมีทั้งกิจกรรมที่มีเอกสารหรือใบแสดงตัวยืนยันการกระทำของกลุ่มคนไร้สัญชาติ และไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆในกิจกรรม ขณะที่กิจกรรมจากงานภายในครอบครัว เป็นภาคส่วนของกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อดำรงชีพด้วยตนเอง อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นไม่ได้เป็นต้นทุนทางสังคมและมีความสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยได้ จึงเกิดน ประ็นอยู่แางเศรษฐกิจของประเทไประเด็นคำถามว่า หากกลุ่มคนไร้สัญชาติเป็นหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แล้วเหตุใดสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาได้รับนั้นถึงไม่เหมาะสมกับการกระทำดังกล่าวของพวกเขาเลย จากการสำรวจของกรมประมง (2561) พบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานในภาคส่วนของกลุ่มคนไร้สัญชาติและแรงงานอพยพเป็นจำนวนมากซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนนี้กว่า 400,000 คน (จากการประมาณการ) และคาดการว่าอนาคตนั้นจะมีจำนวนที่สูงมากยิ่งขึ้นอันเนื่องมาจากแรงงานไทยส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ประกอบอาชีพดังกล่าวแล้ว
[1] กิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการมักถูกจัดอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของธุรกิจผิดกฎหมาย, การหลีกเลี่ยงภาษี, การคอรัปชั่นทั้งในภาครัฐและเอกชน, เศรษฐกิจนอกระบบ และงานบ้านภายในครอบครัว (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สังศิต พิริยะรังสรรค์ และนวลน้อย ตรีรัตน์, 2543 อ้างถึงใน วงศ์พัฒนา ศรีประเสริฐ, 2557)
ปัญหาและอุปสรรคของการดำรงอยู่ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลุ่มคนไร้สัญชาติได้ประกอบในทุกภูมิภาคของประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ การเกษตร รับจ้างทั่วไป และประกอบธุรกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตามแม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ในทางกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการกระทำผิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่เพื่อการดำรงชีพของพวกเขาก็พร้อมที่จะรับความเสี่ยงดังกล่าวเช่นเดียวกัน นั่นจึงกลายเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ที่ศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลุ่มคนไร้สัญชาติได้กระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มคนไร้สัญชาติในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มคนไร้สัญชาติอยู่จำนวนมากอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย อีกทั้งจังหวัดเชียงรายนั้นยังเป็นเขตพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทยซึ่งติดกับเมียนมาและลาวจึงเป็นจังหวัดที่เหมาะสมกับการเป็นจังหวัดตัวอย่างในการประเมินสำรวจ การดำเนินการวิจัยในงานชิ้นนี้ประกอบด้วยการสำรวจและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับคนไร้สัญชาติที่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายคือบริเวณดอยแม่สลองหมู่ที่ 1 จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชนเผ่าของประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2562 และสามารถแสดงสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ปัญหาและสาเหตุของการดำรงอยู่ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ได้ดังนี้
กลุ่มคนไร้สัญชาติในวัยทำงานที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวน 6,062 คน (สำนักงานเขตอำเภอจังหวัดเชียงราย, 2562) คิดเป็นเพศชาย 2,844 คน และเพศหญิง 3,281 คน จากสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนไร้สัญชาติ พบว่า เกิดจากแรงงานเพศหญิง (ร้อยละ 60) มากกว่าเพศชาย (ร้อยละ 40) อาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงก็เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในพื้นที่ชุมชนเช่นเดียวกันผู้ชาย
จากการสำรวจการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ พบว่าอาชีพส่วนใหญ่ที่กลุ่มคนไร้สัญชาติ คืองานรับจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ง่ายต่อการเข้าถึงมากที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสารหรือสิทธิในการทำงานอย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 72 รองลงมาคือ ทำการเกษตร ซึ่งในส่วนนี้ได้ถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็นสองรูปแบบด้วยกันนั่นคือเพื่อขายและเพื่อยังชีพ[2] คิดเป็นร้อยละ 19 และการประกอบธุรกิจภายในชุมชน คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นการซื้อสินค้าจากชุมชนภายในเมืองเพื่อนำมาขายต่อ หรือแสดงถึงการจ่ายภาษีทางอ้อมให้กับประเทศรวมไปถึงธุรกิจที่พักอาศัย
[2] ในงานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลประมาณการในส่วนของเพื่อขายเท่านั้น แม้ว่าสินค้าทางการเกษตรของกลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นจะสามารถถูกนับในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการได้จากการนำสินค้าลงไปขายให้กับชุมชนภายในตัวเมือง แต่สมมติฐานของงานวิจัยนั้นต้องการนำในส่วนนี้มาคิดในภาคส่วนของ informal economy เช่นกันเดียวกันเนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบข้อจำกัดและอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการดำรงชีพของกลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นมีหลายประการ ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายด้วยคำถามว่า “การไม่มีสัญชาติส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเช่นไร” พบว่าข้อจำกัดและอุปสรรคที่สำคัญของการไม่ได้รับสัญชาติ (รูปที่ 3) ได้แก่
- การไม่มีสิทธิในการประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นข้อจำกัดที่สำคัญถึงร้อยละ 42 โดยให้เหตุผลว่า การไม่ได้รับสัญชาติทำให้พวกเขาไม่สามารถขยายขีดความสามารถในการทำงานและสร้างโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น บางส่วนของการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นความสำคัญดังนี้
หากพวกเราอยู่แค่แถวหมู่บ้านของพวกเรา เค้าก็ให้เราแอบทำกินกันเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่เราจะลงไปข้างล่าง เค้าก็จะจับเราทันที ดังนั้นพวกเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำอะไรมากกว่านี้หรอก
ถ้าพวกเรามีสัญชาติทำอะไรก็คงง่ายขึ้นเยอะ แล้วพวกเราก็จะตั้งใจทำงานมากกว่าเดิมด้วยให้สมกับที่พวกเขาให้สิทธิ์เรา
ถึงเราบางคนไปทำงานข้างล่างได้ไกลเช่นกรุงเทพแต่พอจำเป็นต้องเปลี่ยนงานก็ต้องกลับมาที่เชียงรายเพื่อยืนขอเปลี่ยนงานนั่นทำให้เราหลายคนเปลี่ยนงานที่ดีขึ้นจากเดิมได้ยากในบางครั้ง
สรุปได้ว่า การไม่ได้รับสัญชาติเป็นข้อจำกัดในการทำงาน กลุ่มคนไร้สัญชาตินี้มีความต้องการและความพร้อมในการพัฒนาตนเองเพื่อทำประโยชน์ต่อประเทศ ตลอดจนความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย
- การไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน เป็นข้อจำกัดสำคัญถึงร้อยละ 32 ปัจจุบันกลุ่มคนไร้สัญชาติไม่สามารถมีสิทธิถือครองที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ทางราชการ จึงทำให้พวกเขาไม่มีที่ดินในการทำการเกษตร จึงส่งผลต่อคุณภาพและผลิตภาพการผลิต (Productivity) จากการสำรวจ พบว่า รูปแบบการเพาะปลูกมักจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้ปุ๋ยบำรุงแปลงเกษตร เนื่องจากการไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินนั้น ทำให้คุณภาพและผลิตภาพของการผลิตไม่ได้อยู่ในจุดที่สูงที่สุด และถึงแม้พวกเขาจะมีหนทางในการเป็นเจ้าของที่ดินโดยการให้ชาวไทยที่รู้จักนั้นเป็นผู้ซื้อและเจ้าของตามเอกสาร แต่ปัญหาคือความเชื่อใจ ผลประโยชน์ซึ่งในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะสามารถตัดสินใจ
- การไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาล เป็นข้อจำกัดถึงร้อยละ 26 เนื่องจากกลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นไม่มีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่เป็นมาตราฐาน ทำให้ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพขั้นสูง นอกจากนี้ เมื่อพวกเขาต้องการการรักษาพยาบาล คนไร้สัญชาติบางส่วนเกิดความกลัว จากการสัมภาษณ์แสงคำกล่าวว่า “เมื่อก่อนลุงก็ทำงานได้ตามปกตินะ แต่พอขาข้างนี้มันล้มแล้วเจ็บ หลังจากนั้นก็ทำงานไม่ไหวอีกเลย จะให้ไปหาหมอ ลุงก็กลัวเค้าจะจับ เพราะลุงไม่มีเอกสารอะไรไปยืนยันตัวกับเขาเลย” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ขัดขวางการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขาไม่ให้เติบโตไปได้มากกว่าที่ควรจะเป็น
การสร้างมูลค่าจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ
การศึกษานี้ได้กำหนดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ณ ดอยแม่สลองหมู่ 1 จังหวัดเชียงราย พบว่ากลุ่มคนไร้สัญชาติดังกล่าวได้ทำการสร้างมูลค่าจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2 ส่วน ได้แก่ รายได้ที่ได้รับจากการทำงาน และมูลค่าของการบริโภคสินค้าภายในประเทศผ่านการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทางอ้อมให้กับประเทศไทย ผลจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าร้อยละ 48 มีรายได้ที่ได้รับจากการทำงานต่อเดือนมากกว่า 5,000 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาท รองลงมา มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 26 และเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 16,600 บาท (IMF DATA, 2015) จะเห็นได้ว่า ช่องว่างของการสร้างรายได้ของคนไร้สัญชาติในไทยและคนไทยไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะที่กลุ่มคนไร้สัญชาติจำเป็นต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการประกอบอาชีพ หรืออีกนัยหนึ่ง หากขจัดปัญหาของการเป็นคนไร้สัญชาติแล้ว กลุ่มคนดังกล่าว สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 58 ของกลุ่มคนไร้สัญชาติมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 6,000-10,000 บาทต่อเดือน รองลงมาคือ 11,000-15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 21 หรือกล่าวได้ว่า มูลค่าของการจ่ายภาษีทางอ้อมให้กับรัฐผ่านการบริโภคสินค้าภายในประเทศของกลุ่มคนไร้สัญชาติ หรือการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของคนไทยอยู่ที่ 21,157 บาทต่อเดือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558) หรืออาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนไร้สัญชาติได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไม่แตกต่างจากคนไทยเลย
สรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย
มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติในประเทศไทยในปีค.ศ. 2018 มีมูลค่าคิดเป็น 89.22 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.003 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (BOT, 2561) รวมทั้งมูลค่าจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ณ ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย (ข้อมูลจากการสำรวจ) ยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนไร้สัญชาติเป็นกลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไม่ต่างจากคนสัญชาติไทยเลย หรือกล่าวได้ว่า กลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาระทางสังคม แต่เป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาส หากแต่เพียงพวกเขาได้รับการส่งเสริมจากทางสังคมและภาครัฐจะกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอีกมากมายในอนาคต จากผลการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้สัญชาติเพิ่มเติมจากแนวทางปัจจุบันที่ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
- การสร้างความเข้าใจในคนไร้สัญชาติด้วยการจัดนิทรรศการวิถีชีวิตชนเผ่า ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรพื้นที่ภายในตัวเมืองให้สำหรับกลุ่มคนไร้สัญชาติได้เข้ามาแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มคนไร้สัญชาติไทย คนไทย และภาครัฐ โดยกลุ่มคนไร้สัญชาติสามารถนำเสนอให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของชีวิตตนเองที่คนทั่วไปไม่อาจจะรู้ได้ ซึ่งทำให้คนไทยหรือคนต่างชาติได้เข้าใจว่ากลุ่มคนไร้สัญชาตินั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาระทางสังคมเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมชนเผ่าจนสามารถสร้างเป็นอาชีพให้กับตนและการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ส่วนทางภาครัฐนั้นก็สามารถเก็บค่าใช้พื้นที่จากกลุ่มคนเหล่านี้ภายใต้การกำกับดูแลการท่องเที่ยวภายในจังหวัด อาจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการโปรโมทของกลุ่มคนไร้สัญชาติ จนท้ายที่สุดเมื่อผู้คนได้เห็นถึงความสามารถของกลุ่มคนไร้สัญชาติจนอาจจะเป็นการนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพวกเขาในการได้รับสัญชาติในท้ายที่สุด
- การเป็นพื้นที่ทดลองงานของภาครัฐ เช่น นโยบายการทดลองงานของภาครัฐ โดยทำการเลือกกลุ่มคนไร้สัญชาติเข้ามาในโครงการและบริษัทห้างร้านที่เข้าร่วมโครงการให้นำกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาฝึกงานในที่ทำงานของตน โดยผู้จ้างงานนั้นจะเป็นคนรับรองสถานะการทำงานให้กับพวกเขา แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆระหว่างการทำงานและกับการเรียนรู้ในเนื้องานที่มีระดับสูง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาจนท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาจบงานแล้วพวกเขาจะสามารถรับการประเมินจากสถานฝึกปฏิบัติงานว่ามีความสามารถระดับใด ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานโดยมีการรับรองจากนายจ้าง รวมถึงการสร้างวิทยากรมืออาชีพ (Train The Trainer) ที่สามารถนำความรู้ที่ได้ระหว่างการทำงานกลับไปสอนผู้คนภายในชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาร่วมกันในท้องถิ่นหรือเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆในการต่อยอดงานท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนท้ายที่สุดอาจจะนำมาซึ่งการได้รับสัญชาติ
ศุภกร กันธิมา
มิยูกิ ซาโต้
อภิสม อินทรลาวัณย์
เอกสารอ้างอิง
Bank of Thailand. (2561). สืบค้นเมื่อวันที่ 21/04/2562, จากเว็บไซต์ : https://www.bot.or.th/Thai/Segmentation/Business/Pages/GDP.aspx.
BLT Bangkok. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 21/04/2562, จากเว็บไซต์ : http://www.bltbangkok.com.
IMF DATA. (2558). สืบค้นเมื่อวันที่ 21/04/2562, จากเว็บไซต์ : https://www.prachachat.net/.
Organization for Economic Co-operation and Development. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่08/04/2562, จากเว็บไซต์ : http://www.oecd.org/countries/thailand/how-immigrants-contribute-to-thailand-s-economy-9789264287747-en.htm.
The International Labour Organization. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 08/04/2562, จากเว็บไซต์ : https://www.ilo.org/asia/publications/WCMS_098230/lang–en/index.htm.
กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2561). สืบค้นเมื่อวันที่ 21/04/2562, จากเว็บไซต์ : https://www.fisheries.go.th/strategy-stat/index.php
วงศ์พัฒนา ศรีประเสริฐ (2557 อ้างจาก ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สังศิต พิริยะรังสรรค์ และนวลน้อย ตรีรัตน์, 2543) มุมมองเศรษฐกิจไทย : ไม่เป็นทางการ. วารสารวิทยาการจัดการ, 1 (1), 17-38.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 7/04/2562, จากเว็บไซด์ : http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/pop/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 7/04/2562, จากเว็บไซด์ : http://www.nso.go.th