บริการจากระบบนิเวศ พื้นที่ชุ่มน้ำ
บริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) คือ ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ สามารถแบ่งบริการจากระบบนิเวศ นี้ออกเป็น 4 ประเภท [1] ได้แก่
- บริการและประโยชน์ที่ได้รับจากการให้และการเป็นแหล่งเสบียง (Provisioning Services) เช่น อาหาร น้ำสะอาด ไม้ ปลา สมุนไพร
- บริการและประโยชน์ที่ได้รับจากการควบคุมกลไกและการทำงานของระบบ (Regulating Services) เข่น การควบคุมและรักษาสมดุลของน้ำและบรรยากาศ ความสามารถในการกักเก็บและการกรองน้ำ ความสามารถในการป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ความสามารถในการบรรเทาเบาบางผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
- บริการและประโยชน์ที่ได้รับทางด้านสังคมวัฒนธรรม (Cultural Services) เช่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
- บริการและประโยชน์ที่ได้รับในฐานะที่เป็นปัจจัยสนับสนุนและเกื้อกูลต่อระบบชีวิตทั้งหมด (Supporting Services) เช่น การควบคุมการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน ความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งการผลิตขั้นปฐม
แอนดรู บาล์มฟอร์ด [2] ในบทความเรื่อง“Economic reasons for conserving wild nature” ในวารสาร Science ฉบับที่ 297: หน้าที่ 950-953 ทำการประเมินมูลค่าของบริการจากระบบนิเวศในหลายกรณีศึกษา พบว่า การเปลี่ยนรูปการใช้ประโยชน์จากที่ดินจากป่าโกงกางเป็นนากุ้งในประเทศไทย ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการเลี้ยงกุ้ง ในประเทศมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน การปรับเปลี่ยนสภาพป่าเพื่อการเกษตรสวนปาล์มน้ำมันนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบที่มีมูลค่าสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการปลูกปาล์มเสียอีก (ภาพประกอบที่ 1)
ภาพประกอบที่ 1 การคิดคำนวณผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินในรูปแบบต่างๆ คัดลอกจาก[2]
โรเบิร์ต คอสสแตนซ่า [3] ในบทความเรื่อง “Value of the world’s ecosystem services and natural capital” ในวารสาร Nature ก็ได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการให้บริการจากระบบนิเวศเช่นกัน การประเมินมูลค่าระบบนิเวศของโลกนี้พบว่า บริการจากระบบนิเวศมีมูลค่าสูงถึง $33,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ $18,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเสียอีก
ภาพประกอบที่ 2 ค่าเฉลี่ยบริการจากระบบนิเวศต่างๆ คัดลอกจาก[3]
สำหรับกรณีศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำนั้น การศึกษา The Economic Values of the World’s Wetlands ของ องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในปี 2004 [4] ได้ทำการประเมินมูลค่าบริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก พบว่า โลกได้รับประโยชน์จากบริการของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสูงถึงกว่าปีละ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยทวีปเอเชียมีมูลค่าบริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสูงกว่าทวีปอื่นๆ โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ดังแสดงในตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแบ่ง ตามทวีปต่างๆในโลก
สำหรับประเทศไทย ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศชุ่มน้ำและระบบนิเวศอื่นๆยังไม่ได้รับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและรอบด้านมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากระบบนิเวศมีลักษณะของการเป็นทรัพยากรร่วม (Common-pool Resources) และมูลค่าจากบริการจากระบบนิเวศหลายด้านไม่อยู่ในระบบตลาดที่มีกลไกทางราคารองรับ (Non-market) ทำให้การประเมินมูลค่าทรัพยากรเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุนี้เองพื้นที่ชุ่มน้ำ (และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น ป่าไม้) จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการระยะสั้นที่วัดค่าทางเศรษฐกิจโดยละเลยการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนซึ่งเป็นคุณค่าระยะยาวที่จะได้รับ การมุ่งเน้นแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยการวัดจากผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นนี้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เป็นการทำลายและลดทอนความสมดุลของระบบ อันจะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะ (Tragedy of the commons) ในที่สุด
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การประเมินผลประโยชน์และการจ่ายค่าบริการที่เกิดจากบริการของระบบนิเวศยังเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่ได้ตกผลึกอย่างสมบูรณ์ มีข้อจำกัดและข้อถกเถียงทางวิชาการมากมายถึงความถูกต้องของระเบียบวิธีและผลจากวิจัย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ (ถึงแม้จะยังมีข้อถกเถียงถึงความถูกต้องของระเบียบวิธีและผลจากวิจัย) นี้ ได้ขยายปริมลฑลแห่งความรู้ของการคิดคำนวณผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ชาญฉลาดหากมีการคิดคำนวณอย่างรอบคอบ และรอบด้าน อีกทั้งจะส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากยิ่งขึ้น (เนื่องจากเป็นกรอบแนวคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์และไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไป) และจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บนหลักการของผู้ได้รับประโยชน์เป็นผู้จ่าย ( Beneficiary–pays principle) เป็นการสร้างความตระหนักในคุณค่าและมูลค่าของระบบนิเวศ เสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูรักษาทรัพยากรอีกด้วย
เขียนโดย : อภิสม อินทรลาวัณย์
เอกสารอ้างอิง
- Millennium Ecosystem Assessment (2003). Ecosystem and Their Services. Ecosystems and Human Well-Being: A Framework for Assessment. Washington DC, Island Press.
- Balmford, A., A. Bruner, P. Cooper, R. Costanza, S. Farber, R. E. Green, M. Jenkins, P. Jefferiss, V. Jessamy and J. Madden (2002). “Economic reasons for conserving wild nature.” science 297(5583): 950-953.
- Costanza, R., R. d’Arge, R. d. Groot, S. Farber, M. Grasso, B. Hannon, K. Limburg, S. Naeem, R. V. O’Neill, J. Paruelo, R. G. Raskin, P. Sutton and M. v. d. Belt (1997). “The value of the world’s ecosystem services and natural capital.” Nature 387: 253-260.
- Brander, L. and K. Schuyt (2004). “The economic values of the world’s wetlands.”
ขอบคุณรูปภาพจาก WWF Global