เพราะด้อยค่าจึงถูกทอดทิ้ง? คุณค่าของผู้สูงอายุที่ถูกมองข้าม

สูงอายุ2

เขียนโดย กิตติภูมิ อนันตกุล

ในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่าสังคมผู้สูงอายุกันอยู่เสมอทั้งจากทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จุดมุ่งหมายในการนำเสนอของสื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเจตนาที่ดี คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม และชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้คนในสังคมสามารถรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ในมุมของนักสังคมศาสตร์บางกลุ่มกลับมองว่า การนำเสนอข้อมูลด้านลบในเรื่องผู้สูงอายุ เป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้กับคนในสังคม ซึ่งทำให้เกิดการเหมารวมว่าผู้สูงอายุทั้งหมดนั้นมีลักษณะเป็นคนอ่อนแอ ป่วยไข้ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้และเป็นภาระกับลูกหลาน

ทำให้ผู้สูงอายุถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคมหรือที่นักสังคมศาสตร์เรียกว่า “วยาคติ” (Ageism) ปรากฎการณ์นี้พบเห็นในงานศึกษาของหลายประเทศ เช่น ในเกาหลีและฮ่องกง ซึ่งงานศึกษาได้สรุปว่า คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มไม่ให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุ ไม่สนใจปัญหา ละเลย ตลอดจนทำร้ายผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจ (Sung and Kim, 2003)

ในประเทศไทยได้มีงานศึกษาในลักษณะนี้เช่นกัน จากผลสำรวจของนิด้าโพลแห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์พ.ศ. 2556 โดยเป็นการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในเรื่องทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.75 มีทัศนคติเชิงบวกและคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมีคุณค่า มีเพียงร้อยละ 30.25 เท่านั้น ที่มีทัศนคติในเชิงลบต่อผู้สูงอายุ

แม้ผลการศึกษาจะออกมาในลักษณะเช่นนี้ แต่ตัวผู้เขียนกลับมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผลการศึกษานั้นแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง การสำรวจความคิดเห็นไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามปฏิบัติต่อผู้สูงอายุโดยแท้จริง ประการที่สองคือ เรายังพบเห็นข่าวการกระทำรุนแรง และการทอดทิ้งผู้สูงอายุอยู่เสมอในสื่อโทรทัศน์ นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากที่ผลการศึกษานั้นอาจดูขัดแย้งกับความเป็นจริง หากจะตอบคำถามอย่างชัดเจนว่าโดยแท้จริงแล้วคนในสังคมปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างไร ควรมีการศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น

ss

ที่มา : http://www.mchra.com/

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขแนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวมากขึ้นโดยตัวเลขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็น ร้อยละ 7.4 ในปี 2547 และร้อยละ 8.7 ในปี 2557 ในด้านการถูกกระทำรุนแรงก็ยังพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มถูกกระทำรุนแรงจากผู้อื่นมากขึ้น โดยการกระทำรุนแรงที่พบเห็นมากที่สุดคือการกระทำรุนแรงทางจิตใจ เช่น การใช้คำพูดไม่ให้เกียรติ แสดงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียใจหรือหมดกำลังใจ อีกทั้งยังพบเห็นการกระทำรุนแรงในลักษณะอื่นอีกไม่ว่าจะเป็น การเอาเปรียบทรัพย์สินตลอดจนถึงการถูกทุบตี

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวมากขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็น ร้อยละ 7.4 ในปี 2547 และร้อยละ 8.7 ในปี 2557

สุวิณี วิวัฒน์วานิช (2552) นับว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการที่คนในสังคมมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าผู้สูงอายุจะได้รับการปฏิบัติที่ดีเสมอไป ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและถูกกระทำรุนแรงนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้เขียนมองว่าปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ไปจนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุถูกเห็นค่าน้อยลง โดยเฉพาะคุณค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผู้สูงอายุ แต่ความคิดที่ว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ไร้ผลิตภาพ (Unproductive) อีกทั้งยังเป็นภาระต่อสังคม

โดยปกติแล้วการเสื่อมถอยของร่างกายและสติปัญญาของผู้สูงอายุ ส่งผลให้การเป็นผู้ผลิต (Producer) ในระบบเศรษฐกิจนั้นเป็นไปได้ยาก จึงไม่แปลกที่ผู้สูงอายุจะถูกมองว่า เป็นผู้ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่หากพิจารณาจากตัวเลขการทำงานเป็นที่น่าแปลกใจว่า จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร ในปีพ.ศ. 2556 ผู้สูงอายุ 3.45 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 38.3 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด (9 ล้านคน) ยังคงทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ และไม่ใช่เพียงแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าอื่นๆแฝงอยู่ อาทิ เงินออมที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับตลาดเงิน และคุณค่าในลักษณะของทุนมนุษย์ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลังได้ ดังนั้นการมองว่าผู้สูงอายุด้อยคุณค่านั้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.45 ล้านคน คิดเป็น 38.3% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศ

ปัจจุบันมีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุหรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากมาย งานศึกษาส่วนใหญ่เน้นการศึกษาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยศึกษาผ่านปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเช่น การบริโภค หรือการผลิตเป็นต้น ซึ่งเป็นการมองในภาพรวมเป็นส่วนมาก แต่หากมีงานศึกษาที่ครอบคลุมปัจจัยทางด้านทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ ไปจนถึงการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้นก็จะเป็นการดีไม่น้อย เพราะจะทำให้คนในสังคมเข้าใจและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

สุชาดา ทวีสิทธิ์, 2553, คุณค่าผู้สูงอายุในสายตาสังคมไทย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2553.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”, 2556, ภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุไทย, ผลสำรวจความคิดเห็น, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2556

สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557, รายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557, กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จิราพร เกศพิชญวัฒนา และ สุวิณี วิวัฒน์วานิช. 2552. ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย: การทบทวน องค์ความรู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน. รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้สูงอายุไทย.

Sung, Kyu – taik and Han Sung Kim. Elderly respect among young adult: exploration of behavioral forms in Korea. Ageing International 28(3): 279 – 294.

Share via
Copy link
Powered by Social Snap