ไทย-จีน: ท่าเรือ และสวนกล้วย

เมื่อวันที่ 29 พฤษถาคม – 2 มิถุนายน พ.ศ.2560 คณะสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว R3A มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เดินทางยังเมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน การเดินทางครั้งนี้ใช้เส้นทาง R3A ซึ่งได้เริ่มต้นการเดินทางผ่านด่านชายแดนเชียงของเข้าสู่สปป.ลาว และเดินทางต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น-บ่อหาน (สปป.ลาว – จีน)  ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงรุ้งเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้

การเดินทางในเส้นทาง R3A นั้น นับตั้งแต่ผ่านเมืองห้วยทรายไปตลอดข้างทางเราพบเห็นสวนกล้วยมากที่สุด รองลงมาคือสวนยางพารา จากการก้าวรุกของกลุ่มทุนจีนบนเส้นทาง R3A นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ได้เข้ามาลงทุนและเช่าที่ดินเพื่อดำเนินด้านการค้า การลงทุน ตามหัวเมืองสำคัญบนเส้นทางนี้ โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านภาคเกษตรกรรมในการปลูกกล้วยหอม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและได้รับความนิยมบริโภคเป็นอย่างมากสำหรับประชากรชาวจีน เมื่อเราได้เดินทางผ่านชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน และมุ่งหน้าไปยังเมืองเชียงรุ้งนั้น ตลอดเส้นทางการเดินทางในจีนพบเห็นว่าข้างทางมีการปลูกกล้วยหอมจำนวนมาก เนื่องจากการปลูกกล้วยในประเทศจีนสามารถเพาะปลูกกล้วยหอมได้มีเพียงเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาหรือในเขตภาคใต้ของจีน โดยบริเวณด่านชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น-บ่อหาน ผู้สำรวจได้สังเกตเห็นถึงรถบรรทุกขนสินค้ากล้วยหอมในผลิตภัณฑ์แบบกล่อง ประมาณ 10 คัน ที่กำลังจะเดินทางนำเข้าไปยังจีน

พี่ปราก_170606_0023

ถ่ายโดย วราวุฒิ  เรือนคำ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560

นอกจากนี้คณะสำรวจได้เดินทางไปยังหรือท่าเรือจิ่งหง (Jing Hong Port) บรรยากาศบริเวณท่าเรือค่อนข้างเงียบ เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือจิ่งหงได้ปรับเปลี่ยนสถานะจากการเป็นท่าเรือแห่งการค้าและการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงมาเป็นเพียงท่าเรือที่ใช้ในการล่องเรือระยะสั้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะปัจจุบันรัฐบาลกลางของจีนได้มีการพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนติดชายแดน สปป.ลาว ห่างจาก อ.เชียงแสน 263 กิโลเมตร เป็นท่าเรือแห่งการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่ได้ไปสำรวจท่าเรือกวนเหล่ย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเส้นทางในการเดินทางไปยังท่าเรือกำลังปรับปรุงซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง

10199

ถ่ายโดย พรพินันท์  ยี่รงค์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560

ขณะเดียวกันท่าเรือจิ่งหงก่อนปี พ.ศ.2554 เป็นท่าเรือท่องเที่ยวเส้นทางแม่น้ำโขงมีการล่องเรือท่องเที่ยวจากจีนสู่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แต่หลังจากเหตุการณ์ฆาตกรรมลูกเรือสัญชาติจีน 13 ศพ ในลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทางรัฐบาลสั่งห้ามการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการล่องเรือในเส้นทางแม่น้ำโขงหลังช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหากต้องการล่องเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลและมีขั้นตอนที่มากขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ทำให้การค้าและการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงหยุดชะงักและส่งผลต่อเศรษฐกิจในขณะนั้น ปัจจุบันท่าเรือจิ่งหงได้ปรับเปลี่ยนเป็นเพียงท่าเรือที่ให้สำหรับนักท่องเที่ยวล่องเรือรับประทานอาหารยามค่ำคืนและขนส่งสินค้าปริมาณน้อยระหว่างท่าเรือจิ่งหงกับท่าเรือก่วนเหล่ยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีคณะนักท่องเที่ยวหรือทัวร์จากประเทศจีนซึ่งเดินทางมาทางเรือแม่น้ำโขงจากมณฑลยูนนานโดยมีต้นทางมาจากท่าเรือเมืองก่วนเหล่ยและมาขึ้นฝั่งไทยที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จำนวนประมาณ 180 คน และได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ใน จ.เชียงราย เช่น ดอยตุง วัดร่องขุ่น บ้านดำ ตลาดชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ฯลฯ ทำให้บรรยากาศตามสถานที่ต่างๆ และสถาบันบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรมหลายแห่งคึกคัก และมีความควาดหวังว่าในอนาคตเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงจะกลับมาอีกครั้ง…

สิทธิชาติ  สมตา

เอกสารอ้างอิง

ประชาชาติธุรกิจ. (2559). สิบสองปันนา เปิดใช้ท่าเรือกวนเหล่ย ปี′60 ขนผัก-ผลไม้บิ๊กลอตบุกอาเซียน. ที่มา:           http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478073785 สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน      2560

ประชาชาติธุรกิจ. (2560). จีนจัดทัวร์น้ำโขงจากยูนนานเยือนไทยครั้งแรกสร้างบรรยากาศท่องเที่ยวเชียงราย.       ที่มา: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1493698815 สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน 2560

สำนักข่าวชายขอบ. (2558). รัฐบาลลาวเตือนบริษัทจีนใช้สารเคมีเกินขนาดในสวนกล้วย ขู่จะสั่งปิดกิจการหากยัง   ละเมิดกฎหมายลาว เผยเร่งส่งออกตอบสนองตลาดโลก. ที่มา: http://transbordernews.in.th/home/?p=10002 สืบค้นวันที่ 20 มกราคม 2559

 

Share via
Copy link
Powered by Social Snap