ธรรมาภิบาลกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจบนการเปลี่ยนผ่านสู่ความมั่งคั่ง
ธรรมาภิบาล (Good governance) ได้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤติการณ์การเงิน ในเอเชียเมื่อปีค.ศ. 1997 ขณะนั้นธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เสนอให้ประเทศในแถบเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆปฏิบัติตามกรอบธรรมาภิบาลระดับโลก (Global Governance) โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน (สมบูรณ์ ศิริประชัย, 2552) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แนวคิดธรรมาภิบาลได้ถูกนำมาใช้เป็นข้อกำหนดและหลักการของการบริหารงานของภาครัฐและภาคเอกชนของไทยที่พยายามประยุกต์และปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน ธรรมาภิบาลได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการมีคุณภาพของประเทศ ศักยภาพในการบริหารประเทศ และความน่าสนใจการดำเนินธุรกิจของประเทศ ปัจจุบันมีดัชนี้ชี้วัดสำคัญๆ ที่มักนำมาใช้ในการอ้างอิงระดับธรรมภิบาลของประเทศต่างๆ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Index: WGI) จัดทำโดยธนาคารโลก โดยทำการประเมินธรรมาภิบาลของภาครัฐใน 6 ด้าน ได้แก่ การมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชนและภาระรับผิดชอบ (Voice and Accountability) ความมีเสรีภาพทางการเมืองและการปราศจากความรุนแรง (Political Stability and Absence of Violence) ประสิทธิผลของรัฐบาล (Government Effectiveness) คุณภาพของมาตรการควบคุม (Regulatory Quality) นิติธรรม (Rule of Law) และการควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ (Control of Corruption) ซึ่งกำหนดระดับคะแนนตั้งแต่ -2.5 หมายถึง ระดับธรรมาภิบาลต่ำที่สุด จนถึง 2.5 หมายถึง ระดับธรรมาภิบาลสูงที่สุด จากข้อมูลชอง The World Bank Group ระหว่างปีค.ศ. 1998-2015 พบว่า ประเทศไทยมีระดับการมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชน ความมีเสรีภาพทางการเมือง หลักนิติธรรม และการควบคุมปัญหาทุจริตอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือมีความล้มเหลวในการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในด้านดังกล่าว ขณะที่ระดับประสิทธิผลของรัฐบาล และคุณภาพของมาตรการควบคุมของไทยอยู่ในระดับปานกลางและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นับว่าภาครัฐไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ
รูปที่ 1 ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลของไทยระหว่างปีค.ศ.1996-2015 (The World Bank Group, 2017)
ก. การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (World Bank, 2017)
ข. การเติบโตทางการลงทุนจากต่างประเทศในไทย (World Bank, 2017)
ค. การเติบโตทางการค้าของไทย (World Bank, 2017)
รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิผลของรัฐบาล คุณภาพของมาตรการควบคุม และระดับเศรษฐกิจของไทย
หากพิจารณาประสิทธิผลของรัฐบาลและคุณภาพของมาตรการควบคุมของรัฐบาลไทยร่วมกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP growth) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI, % of GDP) และการค้าระหว่างประเทศ (Trade, % of GDP) (รูปที่ 2) พบว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ มีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับประสิทธิผลของรัฐบาล และคุณภาพของมาตรการควบคุมของรัฐบาลไทย ขณะที่การเติบโตทางการค้ามีทิศทางสวนทางกัน ซึ่งกรณีนี้อาจจะมาจากผลของแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาจากวิกฤตทางการเงินสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภาวะราคาน้ำมันโลกตกต่ำที่ส่งผลให้รายได้หลักของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลง รวมถึงไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ประเทศพัฒนาน้อย (GSP) เป็นต้น
นอกจากนี้ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ก็เป็นอีกดัชนีหนึ่งที่ชี้วัดคุณภาพของการบริหารประเทศที่จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ในปีค.ศ.2016 ประเทศไทยมีคะแนนจากการจัดอันดับอยู่ที่ 35 คะแนน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) อยู่ในอันดับที่ 101 จากการจัดอันดับทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งมีการจัดอันดับอยู่ที่ 38 คะแนน (รูปที่ 3) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับสูง
รูปที่ 3 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทย ระหว่างปีค.ศ. 2005-2016
ที่มา: Transparency International (2017)
หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (รูปที่ 4) พบว่า ในปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศในไทย มีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับการลดลงของการคอร์รัปชั่น ขณะที่การเติบโตทางการค้ามีทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งความสัมพันธ์นี้คล้ายกับดัชนีธรรมาภิบาลโลก เหตุผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมภิบาลและ/หรือคอร์รัปชั่นกับการค้าระหว่างประเทศสวนทางกันนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า (1) การค้าถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีจำป็นต่อการพัฒนาประเทศ และไทยยังต้องพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศอยู่ แม้ว่าระดับธรรมภิบาลเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย (2) การที่ระดับธรรมาภิบาลสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดในการจัดระเบียบพิธีปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น อาจส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่ลดลงได้ (3) สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศของไทยส่วนใหญ่ผูกขาดกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นสำคัญ และอาจมีการแทรกเซงระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ส่งผลให้ทิศทางของธรรมภิบาลและการค้าระหว่างประเทศของไทยตรงข้ามกัน
ก. การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (World Bank, 2017)
ข. การเติบโตทางการลงทุนจากต่างประเทศในไทย (World Bank, 2017)
ค. การเติบโตทางการค้าของไทย (World Bank, 2017)
รูปที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชั่นและระดับเศรษฐกิจของไทย
ในความเป็นจริง ปัญหาอุปสรรคของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมักมีสาเหตุจากปัจจัยด้านสถาบัน (Institutional factors) ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ตลอดจนประเทศคู่ค้า ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้ว่ารัฐบาลจะมุ่งเน้นและพยายามที่จะนำแนวคิด Thailand 4.0 มาเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ก็ควรที่จะมีการปรับปรุงธรรมภิบาลให้ดีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจและการเมืองโลกมีความผันผวนสูง
โดยสรุป ธรรมาภิบาลกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจบนการเปลี่ยนผ่านสู่ความมั่งคั่ง ไม่เพียงแค่เป็นกลไกการพัฒนาให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารประเทศ ความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณ ประสิทธิภาพการดำเนินนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ถึงการยกระดับความเชื่อมั่นนักลงทุน สร้างบรรยากาศการลงทุน ซึ่งการลงทุนถือว่าเป็นปัจจัยด้านโครงสร้างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการยกระดับสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้ …
ณัฐพรพรรณ อุตมา, วราวุฒิ เรือนคำ, สิทธิชาติ สมตา, พรพินันท์ ยี่รงค์
เอกสารอ้างอิง
The Heritage Foundation (2017) Economic Freedom Index. Available at http://www.heritage.org/index/.
The World Bank Group (2017) Worldwide Governance Indicator. Available at http://info.worldbank.org/governance/wgi/index.aspx#home.
Transparency International (2017) Corruption Perceptions Index. Available at http://www.transparency.org/research/cpi/overview.
World Bank (2017) World Development Indicators. Available at http://data.worldbank.org/data-catalog/world-development-indicators.
ไทยพับลิก้า (2017) ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ปี 2559. http://thaipublica.org/2017/01/corruption-perceptions-index-2016-thailand/.
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2559) รายงานศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิจัย กรอบแนวคิดและกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านหลักนิติธรรม/นิติรัฐในประเทศไทย. เสนอต่อสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประทศไทย (องค์กรมหาชน).
สมบูรณ์ ศิริประชัย (2552) ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ : นัยต่อประเทศไทย. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.2552) หน้า 1-112.
ขอบคุณรูปภาพจาก harcontt.com