แนวโน้มนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายในอนาคต

DSC01507

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายแดนเชียงของที่มาพร้อมกับพลวัตของการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เชียงของกลายเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

มีการเติบโตของการค้าสินค้าและบริการข้ามพรมแดน รวมทั้งมีการขยายตัวของการเคลื่อนย้ายทรัพยากรการผลิต แรงงาน และเงินทุนข้ามพรมแดน และแม้ว่าพลวัตเศรษฐกิจชายแดนดังกล่าว ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคม วัฒนธรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงของได้เช่นเดียวกัน

จากเหตุผลดังกล่าว ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงของอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน “หนึ่งเมืองสองแบบ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนคนชาวเชียงของ นัยสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่ การกำหนดพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างกันแต่สอดคล้องกันของเมืองเชียงของเก่าและเมืองเชียงของใหม่ นั่นคือเขตตัวเมืองชั้นในของเมืองเชียงของหรือเขตเมืองเก่า (Old Town) เน้นการเป็นฐานการผลิตทางเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวแบบเดิม

ขณะที่เขตเชียงของเมืองใหม่ (New Town) ครอบคลุมพื้นที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) และพื้นที่ที่เชื่อมต่อโดยรอบ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการบริการขนส่งที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่ายุทธศาสตร์นี้จะมีอิทธิพลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เชียงของทั้งเขตเมืองเก่าและเขตเมืองใหม่

ขอบคุณรูปภาพจาก banjong

Share via
Copy link
Powered by Social Snap