ประสิทธิภาพการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย

ประสิทธิภาพการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเหตุ: บทสรุปนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิจัย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารในชื่อเรื่อง Unlocking the efficiency of foreign direct investment in Thailand’s borderland

การปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ยังช่วยสนับสนุนการดำเนินยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เรียกว่า ‘ประเทศไทย 4.0’  โดยบทความนี้ได้ใช้แนวทางการวิเคราะห์พรมแดนแบบสุ่มเพื่อประเมินประสิทธิภาพการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 22 จังหวัดชายแดนของประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551-2561 รวมทั้งศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพื้นที่ชายแดนของไทย

ผลการศึกษาพบว่า มีการใช้ศักยภาพของพื้นที่ชายแดนไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตและบริการเพียงร้อยละ 25.7 หรือประสิทธิภาพการลงทุนจากต่างประเทศ (Efficiency of foreign direct investment) อยู่ในระดับต่ำ จังหวัดชายแดนที่มีระดับประสิทธิภาพการลงทุนจากต่างชาติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดชายแดนไทยทั้งหมด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส มุกดาหาร เชียงราย เลย สตูล หนองคาย สงขลา สุรินทร์ และตาก โดยพื้นที่ชายแดนกึ่งหนึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า ขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน ความอุดมสมบูรณ์ของแรงงาน มาตรการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และช่องทางการตลาดชายแดนที่หลากหลายล้วนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังพื้นที่ชายแดนของไทย มากไปกว่านั้นการมีระเบียงเศรษฐกิจ (Economic corridor) เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และตอนใต้ รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาไม่พบข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถช่วยเพิ่มการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแต่อย่างใด

จากผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของบทความนี้ได้นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสามประการ ประการแรก บรรยากาศการลงทุนในพื้นที่ชายแดนของไทยควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานการลงทุนระดับ “Glocal” ที่บูรณาการบริบทโลกเข้ากับบริบทของท้องถิ่น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในรูปแบบการแสวงหาตลาด (Market seeking) การแสวงหาทรัพยากร (Resource seeking) และการแสวงหาประสิทธิภาพ (Efficiency seeking)

ประการที่สอง การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับพื้นที่ชายแดนของไทย ควรดำเนินการแบบหลากหลายมิติและหลายระดับการพัฒนา แม้ว่าประสิทธิภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่ชายแดนขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการลงทุนในพื้นที่ชายแดน แนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป (Coherence) และต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว (Resilience) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของการลงทุนในพื้นที่ชายแดน

ประการสุดท้าย การปรับปรุงกลไกการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนของไทย อาทิ การกำหนดรูปแบบเชิงกลยุทธ์บนพื้นฐานของปัจจัยที่สำคัญต่อการกำหนดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เช่น การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมชายแดนนั้นๆ และบริบทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ชายแดนเป็นสำคัญ

คำสำคัญ: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ; ประสิทธิภาพการลงทุน; พื้นที่ชายแดน

 

ณัฐพรพรรณ อุตมา
มัลลิกา จันต๊ะคาด

Share via
Copy link
Powered by Social Snap