ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อการเติบโตของเศรษฐกิจชายแดน

ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อการเติบโตของเศรษฐกิจชายแดน

บทสรุปนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย’ ซึ่งจะนำเสนอและตีพิมพ์ในโครงการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย ครั้งที่ 10

พื้นที่ชายแดนเปรียบเสมือนประตูที่เชื่อมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นในภูมิภาค จึงทำให้เป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพต่อการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน ทำให้เกิดความสำคัญของพื้นที่ชายแดนต่อการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มต้นในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และฉบับที่ 12 ที่เน้นความเชื่อมโยงด้านของการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาคอื่นของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาย่อมก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่ได้รับการลงทุนในภาพรวมระดับประเทศ แต่ในระดับของพื้นที่ที่ได้รับการลงทุน อาจยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่แสดงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติต่อเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน

ดังนั้นงานศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 23 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตราด ตาก นครพนม นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง เลย ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สระแก้ว สุรินทร์ หนองคาย และอุบลราชธานี ในระหว่างปี 2007-2018 โดยอาศัยแบบจำลอง Panel ARDL เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวและระยะสั้น

จากการศึกษาพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยตัวประมาณค่า Dynamic Fixed effect (DFE) ที่มีความเหมาะสมกับแบบจำลองจากการทดสอบสมมติฐานโดย Hausman Test ขณะเดียวกัน ตัวแปรควบคุม (control variable) ซึ่งถูกนำมาใช้ในแบบจำลองอย่าง มูลค่าการส่งออก (export) กลับส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นการลงทุนจากโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีต่อผลลัพธ์ดังกล่าว คือ การออกนโยบายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นอากรขาเข้า ควรที่จะพิจารณาถึงการกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนให้กับชาวต่างชาติ อาทิ การกำหนดสัดส่วนการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้จังหวัดชายแดนได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นพื้นที่ลงทุนที่ต่างชาติเข้าไปใช้ประโยชน์เพียงแค่การประกอบธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าและบริการเพียงเท่านั้น

คำสำคัญ: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ; แบบจำลองพาแนลเออาร์ดีแอล; พื้นที่ชายแดน

พรพินันท์ ยี่รงค์

Share via
Copy link
Powered by Social Snap