การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสุขภาพจาก มลภาวะหมอกควัน (PM10, PM2.5) ในจังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันปัญหามลภาวะทางอากาศถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาหมอกควัน (Smog) เป็นปัญหาที่คู่กับจังหวัดเชียงราย รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือตอนบน ซึ่งจะประสบปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ โดยจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและระบบทางเดินหายใจ หรืออาจนำไปสู่โรคมะเร็งในระยะยาว (ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา, 2555) ส่วนใหญ่สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในที่โล่งและไฟไหม้ป่า (กรมควบคุมมลพิษ, 2561)

นอกจากนี้ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนจึงได้รับผลกระทบมลภาวะหมอกควันข้ามแดน โดยปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ WHO (2018) กล่าวว่ามลภาวะหมอกควันเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อทุกคนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยมลภาวะหมอกควันในเมืองและพื้นที่ชนบทจะทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลกในปีพ.ศ.2559 และร้อยละ 91 ของผู้ประสบปัญหาผลกระทบมลภาวะหมอกควันอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งการเสียชีวิตนี้เกิดจากการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนหรือน้อยกว่า (PM2.5) เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง ทั้งนี้จากการศึกษาของ World Bank ในปีค.ศ.2016 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลภาวะหมอกควันเพิ่มขึ้นจากปีค.ศ.1990 จำนวน 31,173 คน เป็น 48,819 คนในปีค.ศ.2013 และทำให้เกิดความสูญเสียสวัสดิการโดยรวมในปีค.ศ.2013 ประมาณ 63,369 ล้านเหรียญสหรัฐ

หมอกควันปกคลุมทั่วทั้งจังหวัดเชียงรายเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สาเหตุหลักของสถานการณ์หมอกควันเกิดจากการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยการเผามากกว่าการไถกลบเพราะเป็นวิธีที่สะดวกและเป็นทางเลือกในการเตรียมที่ดินสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป นอกจากนี้เกษตรกรจะเชื่อว่าการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาดินและฆ่าแมลง (Nion, 2014) และการเผาพื้นที่ป่าเพื่อหาเห็ดเผาะและเก็บผักหวานที่เป็นแหล่งหารายได้ของประชาชน

ประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหามลภาวะหมอกควันหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของมลภาวะหมอกควันในปีพ.ศ.2562 นี้ เป็นระยะเวลายาวนานกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน จังหวัดเชียงรายได้ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในเดือนมีนาคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน สูงสุด 287 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงสุด 254 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพเมียนมา พบว่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน สูงสุด 394 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงสุด 357 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดเชียงรายเกิดจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 ปีที่ผ่าน ในปีพ.ศ.2562 อยู่ที่จำนวน 1,903 จุด และจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2561 ประมาณ 8 เท่า

 

Share via
Copy link
Powered by Social Snap