การถอดบทเรียน “ระเบียงเศรษฐกิจ R3 เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดน”

มัลลิกา จันต๊ะคาด, สิทธิชาติ สมตา, พรพินันท์ ยี่รงค์

บทคัดย่อ

รายงานการศึกษาการถอดบทเรียนระเบียงเศรษฐกิจ R3 เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดน นอกจากการสำรวจเส้นทาง R3A และ R3B ได้เชื่อมต่อไปถึงวงกลมเศรษฐกิจล้านช้าง-ล้านนาตะวันออก ซึ่งกำลังจะมีการเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อเสนอแนะแนวทางให้รัฐบาลไทยสามารถเข้าไปสร้างความร่วมมือในระดับจังหวัด หรือผู้ประกอบการไทยเห็นถึงโอกาสในการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ต่างๆตามเส้นทางเศรษฐกิจ จากการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว พบว่าเส้นทาง R3B มีความสะดวกสบายในการขนส่งสินค้า หรือการท่องเที่ยวมากกว่าเส้นทาง R3A และวงกลมเศรษฐกิจล้านช้าง-ล้านนาตะวันออก แต่มีจำนวนของจุดพักรถ หรือสถานีบริการน้ำมันที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นเพราะเส้นทาง R3B ที่ทำการสำรวจมีระยะทางที่สั้นกว่า นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์หอการค้าของพื้นที่ต่างๆทั้งในสปป.ลาว พบว่าแขวงหลวงน้ำทาเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญไปสู่ชายแดนจีนที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น-บ่อหาน เป็นทางผ่านของสินค้าระหว่างประเทศไทยกับจีน และสถานีแรกของโครงรถไฟจีน-ลาว ส่วนแขวงอุดมไซเปรียบศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ที่เป็นสถานีใหญ่ในการเชื่อมต่อระหว่างประเทศทั้งไทย จีน ลาว และเวียดนาม ขณะที่แขวงหลวงพระบางเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวทุกประเภท ซึ่งทุกแขวงมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากสปป.ลาวยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ส่วนโอกาสด้านการลงทุนที่สำคัญ คือ เกษตรกรรม มากกว่านี้ จากการสัมภาษณ์หอการค้าของพื้นที่ต่างๆทั้งในเมียนมา พบว่าเศรษฐกิจของท่าขี้เหล็กซบเซาอย่างมากกิจกรรมการค้าชายแดนที่ลดลง ตลอดจนการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปจับจ่ายซื้อของ ในขณะที่เชียงตุงเผชิญกับการปิดเมืองทางผ่านที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองย่างกุ้ง เป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เรื้อรัง ทั้งนี้ โอกาสด้านการลงทุนของเมียนมาคือการเข้าไปร่วมลงทุนกับท้องถิ่นในด้านของเหมืองแร่ ส่วนการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่เข้าแสวงบุญ ในอนาคตเชียงตุงจะถูกผลักดันให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าขนาดใหญ่

สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ ที่นี่

Share via
Copy link
Powered by Social Snap