โอกาสของสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงรายในการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน
ภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคม โดยพล.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานเมื่อปี 2557 โดยมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินและและการซ่อมบำรุงนั้น (ไทยรัฐ, 2557) โดยการลงนามคำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Hub) (ผู้จัดการ, 2557)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (2557) ประมาณการรายได้จากอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในปี 2556 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 139,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) โดยกระทรวงคมนาคมได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยมีอากาศยานที่หมุนเวียนในการซ่อมบำรุงประมาณปีละ 200 ลำ โดยค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงต่อลำต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท
ทว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการซ่อมบำรุงเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของจำนวนอากาศยานดังกล่าว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องส่งไปซ่อมในต่างประเทศ รวมแล้วในแต่ละปีงานซ่อมบำรุงอากาศยานมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวตามทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศประมาณร้อยละ 6 ต่อปี หรือเท่ากับว่าอุตสาหกรรมกรซ่อมบำรุงอากาศยานจะมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาทในปี 2568 (กรุงเทพธุรกิจ, 2558)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2558) ได้ให้คำจำกัดความของ “ศูนย์กลางทางการบิน” ตามคำจำกัดความขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค หรือ Regional Hub หมายถึง “ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการในภูมิภาคของรัฐภาคี รัฐใดรัฐหนึ่ง หรือ เป็นศูนย์กลางที่ให้บริการในภูมิภาคซึ่งประกอบไปด้วยรัฐภาคีมากกว่าหนึ่งรัฐภาคี”
โดยกระทรวงคมนาคมได้มีมติเห็นชอบให้ภายในนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานเป็นศูนย์รับซ่อมครบวงจร โดยประกอบด้วยศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ที่รับซ่อมทั้งเครื่องบินและรับซ่อมงานบำรุงอะไหล่ชิ้นส่วน โรงจอดเครื่องบิน (Hangar) สำหรับรอซ่อมบำรุง และศูนย์ให้บริการทดสอบการบินหลังจากซ่อมบำรุง (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, 2557) ดังนั้นเมื่อดูส่วนประกอบภายในนิคมฯและเปรียบเทียบตามคำนิยามในขั้นต้นแล้วนั้นสามารถสรุปทิศทางในการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของไทยได้มากยิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นไปในลักษณะของศูนย์ให้บริการและซ่อมแบบครบวงจร
ขอบคุณรูปภาพจาก thainews