ดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อมเศรษฐสังคมชายแดน : การค้าการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
การขยายตัวของกระแสภูมิภาคาภิวัตน์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ผนวกกับปัจจัยแวดล้อมภายนอกประเทศ อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจของจีน (New Normal) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
ส่งผลให้ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยหดตัวลงอย่างมาก ในทางกลับกัน การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมีอัตราการเติบโต
สูงขึ้น การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการค้าสินค้าและบริการข้ามแดน การลงทุนชายแดน
และการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามแดน ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือติดตามและชี้วัดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจชายแดน ตลอดจนการสร้างคลังสะสมความรู้
ทางเศรษฐกิจชายแดน เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการจึงมีความสำคัญมากขึ้นตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจชายแดนที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในอนาคต
หนังสือเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมเศรษฐสังคมชายแดน” เป็นผลผลิตในรูปแบบหนังสือ โดยได้เรียบเรียงจากผลงานวิจัยเรื่อง “พลวัตทางสิ่งแวดล้อมเศรษฐสังคมชายแดน บริบทการค้าการลงทุนชายแดน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดเชียงราย”
ได้รับการสนับสนุนจากสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปีพ.ศ. 2557 เพื่อ
เผยแพร่องค์ความรู้ทางเศรษฐกิจชายแดนให้กับผู้ที่สนใจ ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือนี้จะเป็นประโชยน์ในการเสริมสร้างความรู้แก่ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยต่อไป