ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทยที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปมากนัก แต่ก็มีความโดดเด่น ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำพยายามที่จะสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทดำ หรือลักษณะทางวัฒนธรรมอื่นๆ ภายใต้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นและการอนุรักษ์ภาษาที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญหาย คนไทดำในชุมชนเองก็กำลังถูกท้าทายกับการสืบสานอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน โดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ บทความนี้ต้องการจะสำรวจว่าภาษาไทดำในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ การเก็บรวมรวมเชิงเอกสารและวิธีการทางชาติพันธุ์วรรณนาได้นำมาใช้เป็นวิธีการหลักของการศึกษาในบทความนี้ เพื่อที่จะพิจารณาว่าภาษาและวาทกรรมที่ใช้ในสถานการณ์การสื่อสารหนึ่งๆ มีลักษณะอย่างไร และอัตลักษณ์ไทดำถูกสื่อและสร้างอย่างไรจากคนไทดำในชุมชน
ข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนาและข้อมูลทางภาษาของบทความนี้เก็บรวบรวมจากชุมชนไทดำบ้านไผ่หูช้าง จังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าคนไทดำต่างรุ่นใช้ภาษาไทดำในการสื่อสารต่างกัน จากการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาพบว่าคนรุ่นสูงอายุพยายามที่จะดำรงรักษาอัตลักษณ์ไทดำอย่างเข้มข้นแต่ก็มีการปรับตัวในบางสถานการณ์ ในขณะที่คนรุ่นหนุ่มสาวและรุ่นเยาวชนกำลังต่อรองให้เกิดอัตลักษณ์ผสม บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าชุมชนไทดำกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน คนต่างรุ่นของไทดำกำลังต่อรองอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอยู่ ทั้งภาษาที่ใช้และลักษณะทางวัฒนธรรมอื่นๆ ข้อเสนอแนะจากบทความนี้ก็คือการธำรงรักษาและสืบสานอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำน่าจะต้องพิจารณาความแตกต่างทางวัฒนธรรมในชุมชน และควรมองถึงเป็นอัตลักษณ์ที่หลากหลายมากกว่าที่จะมองว่าเป็นอัตลักษณ์เดี่ยว