VACANA
School of Liberal Arts
Mae Fah Luang University

ISSN: 2287-0903

 

ลักษณะภาษาของบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ไทยรายวัน

ก๋ง แซ่เฮ้อ แซ่เฮ้อ

Abstract


การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งทำการศึกษาลักษณะทางภาษาของบทบรรณาธิการที่ใช้ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย  วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือ เพื่อศึกษาลักษณะภาษาในบทบรรณาธิการเชิงโครงสร้างประโยคความซ้อน (คุณานุประโยค) และเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรูปภาษาที่พบกับลักษณะของบทบรรณาธิการโดยคัดเลือกบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ฉบับรายวัน 10 ฉบับจำนวน 20,000 คำ โดยไม่จำกัดช่วงเวลาการตีพิมพ์ และทำการเปรียบเทียบลักษณะทางภาษาที่พบกับทำเนียบภาษาทั่วไป 20,000 คำ คือ จากบทบรรณาธิการอีก 5,000 คำภาษาในหนังสือนวนิยาย 5,000 คำ ภาษาในข่าวกีฬา 5,000 คำ และภาษาที่ใช้ในบทละคร 5,000 คำ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการปรากฏของตัวบ่งชี้คุณานุประโยค “ที่” “ซึ่ง” และ “อัน” กับ ตัวบ่งชี้นามวลีแปลง “การ-” ต่อจำนวนคำ 1,000 คำ

ผลการศึกษาพบว่า ความถี่ในการปรากฏของตัวบ่งชี้คุณานุประโยค “ที่” “ซึ่ง” “อัน” ในบทบรรณาธิการปรากฏอย่างเด่นชัดมากกว่าในทำเนียบภาษาทั่วไป (31.90>12.40)ต่อข้อความยาว 1,000 คำซึ่งแสดงให้เห็นว่าในการเขียนบทบรรณาธิการนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ประโยคความซ้อนในการร้อยเรียงข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบว่าตัวบ่งชี้นามวลีแปลง  “การ-” มีการปรากฏที่เด่นชัดกว่าทำเนียบภาษาทั่วไป(59.5>26.7) ต่อข้อความยาว 1,000 คำ การปรากฏที่โดดเด่นนี้แสดงให้เห็นว่าในบทบรรณาธิการนั้นมีการใช้คำที่แสดงถึงความเป็นวัตถุวิสัยในการแสดงข้อเขียนเพื่อโน้มน้าวผู้อ่านด้วยข้อความอันเป็นจริงหรือน่าเชื่อถือ

ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้รูปแบบประโยคความซ้อน เช่น คุณานุประโยค และนามวลีแปลง เช่น การใช้ตัวบ่งชี้ “การ-” เป็นสิ่งที่ทำให้ข้อเขียนของผู้เขียนบทบรรณาธิการมีข้อมูลที่มากขึ้น หรือมีหลายข้อความในประโยคความซ้อนหนึ่งประโยค รวมถึงข้อเขียนนั้น ๆ ยังมีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้เพราะในบทบรรณาธิการนั้นมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการแสดงข้อเขียน ซึ่งส่งผลให้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจรูปแบบประโยคความซ้อนให้รอบคอบเพื่อทำความเข้าใจถึงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่ออย่างครบถ้วน โดยเฉพาะข้อเขียนที่มีการเน้นย้ำถึงการกระทำที่เกิดขึ้นเพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่าน


Keywords


ประโยคความซ้อน/ คุณานุประโยค/ นามวลีแปลง

Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


User
Notifications
Journal Content

Browse
Font Size