งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหมายเชิงมโนทัศน์ของคำว่า “โกง” ให้แก่เยาวชน ด้วยการบรรยายให้ความรู้และการแสดงบทบาทสมมุติ โดยนำผลการวิจัยก่อนหน้าในเรื่องความหมายเชิงมโนทัศน์ของคำว่า “โกง” มาใช้ประโยชน์และใช้แนวความคิดเรื่องความตระหนักรู้เป็นแนวทางในการวิจัย งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 32 คน และวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตการแสดงบทบาทสมมุติ และแบบสอบถาม
ผลการวิจัยพบว่า ระดับคะแนนความตระหนักรู้ภายหลังจากทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากความตระหนักรู้ก่อนทำกิจกรรมในทุกประเด็น โดยนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “โกง” ว่าเป็นการไม่กระทำตามข้อตกลงโดยเจตนา เพื่อประโยชน์ตน และเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ที่ควรได้รับ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 53% อันดับที่สองคือ พฤติกรรมอื่น ๆ ที่อยู่ในวงความหมายเดียวกับ “โกง” เพิ่มขึ้น 31% อันดับที่สาม คือการโกงเป็นการทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน เพิ่มขึ้น 7% และอันดับสุดท้ายคือ ความตระหนักรู้ว่าการโกงเป็นสิ่งไม่ดีและไม่ควรทำ เพิ่มขึ้น 4.5% การวิจัยนี้ได้พบประเด็นที่น่าสนใจคือ นักเรียนส่วนหนึ่งยังคงมีความลังเลในการตัดสินใจว่าการโกงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ทั้งที่ตระหนักรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี